xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯ หนุนประชาวิวัฒน์ลดความเหลื่อมล้ำ คาดแนวโน้ม ศก.เจอโจทย์หิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธนวรรธน์” ออกโรงหนุน “ประชาวิวัฒน์” มั่นใจของขวัญ 9 มาตรการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ “อัทธ์” คาดส่งออกปีนี้ขยายตัว 6.7-12% ชะลอลงจากปี 53 คาดบาทแข็งค่าขึ้นอีก 1.5-3.4% ต้นทุนสินค้าปรับสูงขึ้นจากแนวโน้ม ดบ.ที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.5% การขาดแคลนวัตถุดิบจากผลกระทบของน้ำท่วม และแนวโน้มราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง 9 มาตรการประชาวิวัฒน์แก้ปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชนของรัฐบาล โดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการกระจายรายได้ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่นอกระบบสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น ส่วนการเข้าถึงระบบประกันสังคมที่เหมาะสมกับคนในสังคมเมือง แต่สำหรับคนในต่างจังหวัดอาจยังไม่ได้ประโยชน์มากนัก

สำหรับการลดต้นทุนอาหารสัตว์ด้วยการทดลองจำหน่ายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม น่าจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนได้กว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการด้านพลังงาน ซึ่งผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับการตรึงราคาแก๊สหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน และภาคขนส่งนั้น มองว่า ในระยะแรกภาครัฐจะต้องเข้ามาตรึงราคาไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน แต่ในระยะยาวจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายกังวล ว่า มาตรการดังกล่าวจะกระทบต่องบประมาณรายจ่ายของประเทศนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า รัฐบาลจะใข้งบประมาณจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบกับงบประมาณของประเทศ

นอกจากนี้ ผลดีของมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีแรก ขยายตัวได้กว่าร้อยละ 3-4 ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวขึ้นได้ถึงร้อยละ 5

ด้าน นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 6.7-12 ชะลอลงจากปี 2553 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออกในปีนี้ เป็นผลมาจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4-4.5 ถึงแม้ว่าจะชะลอลงจากปีก่อน แต่การส่งออกไทยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกในตลาดเอเชีย ซึ่งยังมีทิศทางขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง และเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยในปีนี้จะชะลอตัวลงมากในตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีทิศทางสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค โดยมีการคาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะอยู่ระหว่าง 24.3-30.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าขึ้นอีกร้อยละ 1.5-3.4 รวมทั้งต้นทุนสินค้าที่จะปรับสูงขึ้นจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.5 การขาดแคลนวัตถุดิบจากผลกระทบของน้ำท่วม และแนวโน้มราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน
กำลังโหลดความคิดเห็น