สมาคมผู้ค้า-ส่งออกไข่ไก่ ยันปรับขึ้นราคาไข่ตามราคาน้ำมันปาล์ม ค้านแนวคิดรัฐบาลขายไข่แบบชั่งกิโล เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โวยแค่ปรับขึ้นแค่ 20 สตางค์ แต่ทำไมรัฐบาลต้องมีปัญหาทุกครั้ง ลั่นคนกินไข่แค่เดือนละ 120 บาท ถูกกว่าจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือเดือนละ 700-800 บาท
นายเสน่ห์ กรรณสูตร อุปนายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกไขไก่ เปิดเผยถึงแนวคิดของรัฐบาลในการออกมาตรการแก้ปัญหาไข่ไก่ โดยใช้วิธีการชั่งกิโลขาย โดยยืนยันว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว เนื่องจากการขายไข่แบบชั่งกิโลน้ำหนักแต่ละฟองไม่เท่ากัน เมื่อแม่ค้าที่ซื้อไปนำไปขายต่อน้ำหนักก็ไม่เท่ากัน การทอนเงินก็จะมีปัญหา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา และนำไปสู่ปัญหาของรัฐบาลในการออกมาตรการนี้
นายเสน่ห์กล่าวเสริมว่า การขึ้นราคาขายไข่ของผู้ค้าทั่วประเทศเพียงแค่ฟองละ 20 สตางค์ กลับมีปัญหาขึ้นมาทุกครั้ง เพราะจากการสำรวจพบว่า ต่อ 1 คน บริโภคไข่ต่อเดือนเพียงแค่ 120 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทยเดือนละ 700-800 บาท แต่รัฐบาลไม่เคยไปตำหนิกลุ่มคนดังกล่าว แต่ถ้าเมื่อใดรัฐบาลปล่อยให้ราคาไข่ลอยตัวตามราคาตลาด ก็จะทำให้พืชผลทางการเกษตร และสินค้าระดับรากหญ้าดีขึ้นไปด้วย
อุปนายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกไขไก่กล่าวอีกว่า แนวโน้มราคาไข่ไก่จะมีการปรับขึ้นราคาอีกแน่นอนตามราคาน้ำมันปาล์มที่ขึ้นในขณะนี้ แต่ราคาจะไม่เกินอีกอย่างน้อยฟองละ 20 สตางค์ หรือ 4.80 บาท ซึ่งรัฐบาลและประชาชนต้องยอมรับในการปรับขึ้นราคา เพราะไก่ที่จะออกไข่ในปัจจุบันมีน้อย
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการแต่ละรายลงทุนไปมากกว่าการเลี้ยงแบบเก่าที่มีแค่โรงเรือนก็สามารถเลี้ยงได้เลย แต่หากการเลี้ยงในสมัยนี้จะต้องมีการลงทุนนอกจากโรงเรือนแล้ว จะต้องมีการบำรุงรักษา และดูแลสุขภาพไก่ให้ทนต่อโรคและสภาพอากาศ
โดยก่อนหน้านี้ นายสันติ วิโรจน์บริสุทธิ์ อายุ 45 ปี เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ส.สิริฟาร์ม อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย กล่าวว่า จากแนวนโยบาย ประชาวิวัฒน์ 9 ข้อ เป็นของขวัญ 9 ชิ้นรับศักราชใหม่ของรัฐบาล ที่เตรียมถูกผลักดันเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเร่งด่วน ในวันพรุ่งนี้ ในส่วนของมาตรการ การปรับเปลี่ยนการซื้อขายไข่ไก่ จากการคัดไข่ขายเป็นเบอร์ จาก เบอร์ 0-5 ให้เปลี่ยนมาเป็นการชั่งไข่ขายเป็นกิโลกรัมแทน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรนั้น ตนเห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่ถูกต้อง เพราะในขบวนการผลิตไข่ไก่อย่างแท้จริงของเกษตรกร ที่มีต้นทุนการผลิตที่สามารถลดลงได้จากจุดนี้ด้วย โดยไม่ใช่การออกมาตรการสั่งการแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับที่ผ่านมา จึงเห็นด้วยต่อมาตรการดังกล่าวนี้หากถูกนำออกมาใช้
นายสันติกล่าวอีกว่า เพราะอย่างน้อยจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการคัดไข่ไก่ ที่มีต้นทุนอยู่ที่ฟองละ 4-5 สตางค์ และจะส่งผลให้ราคาไข่ไก่ลดลงได้ทันที หากมีการนำมาบังคับใช้ แต่ก็คาดว่ายังคงมีผู้ที่นิยมบริโภคไข่ไก่แบบคัดเบอร์อยู่อีกส่วนหนึ่ง เช่น ตามสถานประกอบการต่างๆ ที่จะนำไข่ไก่ไปแปรรูป และต้องใช้ไข่ขนาดตามเบอร์มาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ เช่น ผู้ประกอบการโรงแรม หรือตามโรงเรียน และร้านขายอาหารที่ยังต้องใช้ไข่ไก่เบอร์เดียวกันในแต่ละจาน
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคสามารถที่จะเลือกซื้อได้ว่าแบบไหนจึงจะคุ้มค่ากว่ากัน ซึ่งการชั่งน้ำหนักนั้นก็ถือว่ายุติธรรมดีต่อเกษตรกร และผู้บริโภค โดยหากผู้ซื้อต้องการบริโภคไข่ไก่ขนาดเบอร์ใหญ่ ผู้ซื้อก็จะได้จำนวนไข่ไก่น้อยลง แต่ยังได้น้ำหนักตามเดิม และไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรอีกด้วย ส่วนผลที่จะตามมาว่าจะกระทบต่อแรงงาน ที่เคยทำหน้าที่ในขบวนการคัดแยกไข่หรือไม่นั้น คาดว่าไม่จะกระทบ เพราะเป็นเพียงส่วนน้อย และยังคงต้องใช้ระบบเดิมอยู่ควบคู่กันไป