"สรรพากร" ใจชื้น! ศาลสั่งยึดเงินปล้นชาติ 4.6 หมื่นล้าน ยังมีเงินเหลืออีก 3 หมื่นล้าน เพื่อเอาไปชำระภาษีค้างจ่าย "กรณ์" แจงยอดโกงภาษีไม่ใช่ 1.2 หมื่นล้าน "โอ๊ค-เอม" ต้องจ่ายเพิ่ม 1.4 หมื่นล้าน เพราะมีเบี้ยปรับด้วย เผยขั้นตอนต่อไป ต้องบังคับคดีเพื่อนำเงินจากธนาคารโยกเข้าคลังหลวง หากไม่อุทธรณ์ภายใน 30 วัน พบเบาะแสเงินฉาวยังมีซุกบัญชีในต่างประเทศ อดีต คตส.ชี้ สรรพากรอายัดเพิ่มได้ทันที
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท วานนี้ ส่งผลให้ยังมีเงินที่อายัดไว้ 7.6 หมื่นล้านบาท คงเหลืออีก 3 หมื่นล้านบาท เพียงพอที่จะนำไปจ่ายภาษี 1.4 หมื่นล้านบาท ของนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งค้างจ่ายภาษีกับกรมสรพากรจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมเบี้ยปรับเดือนละ 1.5% ของมูลค่าภาษีค้างชำระซึ่งเพิ่มขึ้นทุกเดือนตั้งแต่ค้างชำระภาษีไว้ หากรวมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ณ ปัจจุบัน ประมาณ 2,000 สรรพากรจะต้องยึดเงินรวม 1.4 หมื่นล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี ระบุว่า การประเมินภาษีนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ที่ซื้อขายหุ้นแอมเพิลริช ของกรมสรรพากร ถูกต้องแล้ว และทั้งสองคนต้องชำระภาษี แต่เมื่อทั้งสองเลือกจะสู้ผ่านการอุทธรณ์ในศาลภาษี เงินจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท ก็ต้องเสียสิทธิที่จะนำเงินไปใช้ เพราะกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งอายัดทรัพย์ทั้งหมดเพื่อความรอบคอบและไม่สร้างความเสียหายแก่รัฐทีหลัง หากจะต้องมีทั้งค่าปรับเงินเพิ่มตามที่ศาลภาษีจะตัดสิน ทั้งนี้ หากบัญชีที่มีในประเทศไทยไม่เพียงพอกับการชำระภาษี กรมสรรพากรก็มีอำนาจจะสั่งอายัดบัญชีในต่างประเทศ แต่เรื่องนี้ไม่เคยดำเนินการมาก่อน
ด้านนายสัก กอแสงเรือง อดีตโฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส. ) เปิดเผยว่าภายหลังผลการพิพากษาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสร็จสิ้น โดยระบุถึง เงินที่ไม่ถูกยึด จำนวน 30,247 ล้านบาทว่า อาจถูกกรมสรรพากรอายัดได้อีก เนื่องจากที่ตนเองเข้าใจว่า ยังมีภาษีค้างชำระในส่วนของบุตรสาว และบุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ โดยยอดคงค้างน่าจะประมาณ 13,000 - 14,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เห็นว่าการดำเนินการอายัดเงินของกรมสรรพากร ในส่วนภาษีที่คงค้างอยู่นั้น สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องเลย
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้และค่าปรับ จำนวน 11,809 ล้านบาทจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา จากกรณีที่บุคคลทั้งสอง ซื้อหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป จากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด จำนวน 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2549 ขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีราคาหุ้นละ 49.25 บาท ทำให้บุคคลทั้งสองได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นเป็นเงิน 15,883 ล้านบาท ก่อนที่จะขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของสิงคโปร์ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท พร้อมกับหุ้นชินคอร์ปทั้งหมดของตระกูลชินวัตร
หลังจากนั้น คตส.ก็ได้เข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว เห็นว่า นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท แอมเพิลริช ซื้อหุ้นที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ผลต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาตลาดหุ้นละ 48.26 บาท ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538
ดังนั้น นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ต้องนำเงินได้จากประโยชน์ที่ได้จากการซื้อหุ้นได้ในราคา ต่ำกว่าราคาตลาดจำนวน 15,883.9 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และชำระภาษีอากรประจำปีภาษี 2549 ซึ่ง คตส.ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรติดตามการเสียภาษีเงินได้ปีภาษี 2549 ของบุคคลทั้งสองดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550
แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2550 บุคคลทั้งสองไม่ได้นำเงินได้ดังกล่าวมารวมชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 ของนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 จำนวน 6,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท จากนายพานทองแท้ เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904.7 ล้านบาท น.ส.พินทองทาเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904.5 ล้านบาท หรือรวมประมาณ 11,809 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง
สำหรับระยะเวลาที่เม็ดเงินจากการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท จะตกเป็นของหลวงนั้น ต้องรอว่าจะมีการอุทธรณ์ภายใน 30 วันหรือไม่ แต่คดีนี้คาดจะไม่มีการอุทธรณ์เพราะต้องมีหลักฐานใหม่ถึงจะอุทธรณ์ได้ ส่วนการนำเงินไปใช้นั้นต้องขึ้นกับพ.ร.บ.งบประมาณ เพราะการใช้เงินใดๆ ของรัฐบาลไม่สามารถใช้เกินกว่าที่ พ.ร.บ.งบประมาณอนุมัติไว้ได้