xs
xsm
sm
md
lg

ภาษีโอ๊คเอมพุ่ง1.4หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แฉศาลยึด 4.6 หมื่นล้าน ยังไม่รวมเงินโอ๊คเอมที่สรรพพากรอายัดไว้เพื่อชำระภาษี "กรณ์" เผยยอดล่าสุดบวกค่าปรับเงินเพิ่ม 1.4 หมื่นล้าน


วานนี้ (26 ก.พ.) เวลา 12.00 น.ที่กระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้อายัดทรัพย์สินของนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้สั่งอายัดไว้แล้ว 3.6 หมื่นล้านบาท ในบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB ซึ่งเป็นการอายัดซ้ำกับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในวงเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังได้อายัดหุ้นของ บริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) SC เพิ่มจำนวน 1,000 ล้านบาท และรวมถึงได้อายัดทรัพย์สินในบัญชีของธนาคารต่างๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากก้อน 7.6 หมื่นล้านบาท

"การอายัดเงินเพิ่มเติมในทุกบัญชีของนายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทาครั้งนี้ เกิดจากการจำลองสถานการณ์แล้วพบว่าหากศาลตัดสินให้ยึดทรัพย์บางส่วนจากทั้งหมด 7.6 หมื่นล้านบาท แล้วเป็นส่วนที่ไม่ตรงกับการสั่งอายัดของกรมสรรพากรจะทำให้สรรพากรเสียหายจากการไม่ได้รับชำระภาษีจากการซื้อขายหุ้นแอมเพิลริช จึงต้องเตรียมการด้วยการหาบัญชีอื่นๆ รวมถึงหุ้นที่ทั้งสองคนถือไว้ด้วย เป็นการล้อมคอกก่อนวัวหาย"นายกรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ทั้งก้อน ซึ่งจะมีผลให้กรมสรรพากรต้องไปหาเงินจากส่วนอื่นเพื่อนำมาชำระภาษีแผนนี้ก็รองรับไว้ทั้งหมด ดังนั้นจากนี้นายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา จึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายทรัพย์สินใดๆ ได้ จนกว่าจะนำเงินมาชำระภาษีที่ค้างไว้กับกรมสรรพากรทั้งหมด 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมเบี้ยปรับเงินเพิ่มเดือนละ 1.5% ของมูลค่าภาษีค้างชำระซึ่งเพิ่มขึ้นทุกเดือนตั้งแต่ค้างชำระภาษีไว้ หากรวมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ณ ปัจจุบัน ประมาณ 2,000 สรรพากรจะต้องยึดเงินรวม 14,000 ล้านบาท

"การไม่สามารถเคลื่อนย้ายทรัพย์สินใดๆ ของนายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา เป็นการสมควรแก่เหตุ เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีระบุว่าการประเมินภาษีซื้อขายหุ้นแอมเพิลริชของกรมสรรพากรถูกต้องแล้วและทั้งสองคนต้องชำระภาษี แต่เมื่อทั้งสองเลือกจะสู้ผ่านการอุทธรณ์ในศาลภาษี เขาก็ต้องเสียสิทธิที่จะนำเงินไปใช้ เพราะกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งอายัดทรัพย์ทั้งหมดเพื่อความรอบคอบและไม่สร้างความเสียหายแก่รัฐทีหลังหากจะต้องมีทั้งค่าปรับเงินเพิ่มตามที่ศาลภาษีจะตัดสิน"นายกรณ์กล่าว

ทั้งนี้ หากบัญชีที่มีในประเทศไทยไม่เพียงพอกับการชำระภาษี กรมสรรพากรก็มีอำนาจจะสั่งอายัดบัญชีในต่างประเทศ แต่เรื่องนี้ไม่เคยดำเนินการมาก่อน ทั้งนี้หากผลการตัดสินของศาลภาษีอากรออกมาให้ยกฟ้อง การถอนอายัดทรัพย์ต่างๆ ก็พร้อมดำเนินการได้ทันทีเช่นกัน

สำหรับระยะเวลาที่เม็ดเงินจากการยึดทรัพย์จะตกเป็นของหลวงนั้น ต้องรอว่าจะมีการอุทธรณ์ภายใน 30 วันหรือไม่ แต่คดีนี้คาดจะไม่มีการอุทธรณ์เพราะต้องมีหลักฐานใหม่ถึงจะอุทธรณ์ได้ ส่วนการนำเงินไปใช้นั้นต้องขึ้นกับพ.ร.บ.งบประมาณ เพราะการใช้เงินใดๆ ของรัฐบาลไม่สามารถใช้เกินกว่าที่พ.ร.บ.งบประมาณอนุมัติไว้ได้

นายกรณ์เชื่อผลการตัดสินครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลและเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังเดินหน้าตามแนวนโยบายของรัฐบาล แต่หากจะกระทบกับนักลงทุนบ้างก็ในแง่เดียวคือคำพิพากษาออกมาในแง่ลบต่อบางกลุ่มที่จะสร้างความรุนแรง แต่แนวโน้มสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลควบคุมได้ทั้งหมด และตนก็เชื่อมั่นเป็นอย่างมาก

รายงานข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า ธนาคารต้องรอคำสั่งศาลที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนให้ฝ่ายกฎหมายตีความคำสั่ง คาดว่าการโอนเงินเข้าคลัง อาจต้องใช้เวลาอีกหลายวัน เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพระบุว่า หากมีคำสั่งยึดทรัพย์กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาบังคับคดี คัดสำนวนแล้วส่งมาที่ธนาคารให้ส่งเงินเข้าแผ่นดิน

รายการทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประกาศของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังจากอัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ อัยการสูงสุดระบุไว้ในคำร้องนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสแพน โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ รวมค่าซื้อหุ้น เงินปันผลและดอกเบี้ย เป็นเงิน 76,621,603,061 บาท ซึ่งอยู่ในชื่อบุคคลของครอบครัวชินวัตร บริษัทต่างๆ มูลนิธิฯ

****ไอซีทีบี้สัญญาสัมปทาน

นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ไอซีทีจะนำผลพิพากษาของศาลไปประกอบการตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส จำนวน 7 ครั้ง ตามที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้ไอซีทีมาตรวจสอบดูว่าสัญญาสัมปทานมือถือ มีอะไรที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นบ้างภายใน 90 วัน โดยไอซีทีจะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งให้เหตุผลในการแก้ไขสัญญาแต่ละครั้งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ให้ความเห็นว่าการแก้ไขสัญญาครั้งใดดำเนินการโดยมิชอบ และจะต้องกลับไปปฏิบัติตามสัญญาเดิมที่ทำระหว่างกันก่อนมีการแก้ไข

"จากการรับฟังคำพิพากษาของศาลฏีกา กรณีการแก้ไขเรื่องส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือ พรีเพด เป็น 20 % จนกว่าจะหมดอายุสัญญาสัมปทาน จากเดิมที่เอไอเอสต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในระบบพรีเพดให้ทีโอที 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นการดำเนินการไม่ถูกต้อง กรณีนี้หาก ครม.เห็นว่าการแก้ไขมิชอบ เอไอเอสต้องกลับไปปฎิบัติตามสัญญาสัมปทานเดิม"

กรณีที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์ครั้งนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทีโอทีเป็นหลักเนื่องจากมีกรณีเรื่องการแก้ไขสัญญา และมติ ครม.ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณให้ทีโอทีรับภาระภาษีสรรพสามิต โทรศัพท์เคลื่อนที่แทนเอไอเอส ส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีโดยตรงคือเรื่องการแก้ไขสัญญาไทยคมซึ่งไอซีทีจะนำคำพิพากษาของศาลฎีกามาประกอบการตรวจสอบสัญญาดาวเทียมซึ่งไอซีทีเตรียมจะดำเนินการตรวจสอบอยู่เช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น