"กรณ์" แจง 3 แนวทางจัดการเงิน 7.6 หมื่นล้าน หลังศาลมีคำพิพากษา ในวันพรุ่งนี้ หากมีคำสั่งยึดทรัพย์ ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน แบงก์ต้องโอนเงินส่วนที่ยึดทั้งหมดเข้ามาไว้ในเงินคงคลัง เพื่อเข้าสู่ระบบงบประมาณ โดยจะรวมไว้ในส่วนของเงินรายได้ภาครัฐเช่นเดียวกับการจัดเก็บรายได้อื่นๆ แต่หากไม่ยึดก็ต้องอายัดต่อ เพื่อนำไปชำระภาษีสรรพากร
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 (พรุ่งนี้) ศาลฏีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีคำตัดสินให้ยึดทรัพย์ของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ก็จะต้องโอนเงินส่วนที่ยึดทรัพย์ทั้งหมดเข้ามาไว้ในเงินคงคลัง เข้าสู่ระบบงบประมาณ โดยจะรวมไว้ในส่วนของเงินรายได้ภาครัฐเช่นเดียวกับการจัดเก็บรายได้อื่นๆ รวมถึงค่าปรับต่างๆ สำหรับแนวทางการนำเงินดังกล่าวออกมาใช้จ่าย ก็ต้องเป็นไปตามระบบงบประมาณปกติที่ต้องนำเสนอการใช้จ่ายผ่านขั้นตอนของรัฐสภา
"หากมีการยึดทรัพย์เกิดขึ้นจริง และจะต้องโอนเงินจำนวนมากออกจากสถาบันการเงิน ก็จะไม่มีปัญหากับสภาพคล่องของระบบ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า สภาพคล่องในระบบการเงินในขณะนี้ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง 1.7 ล้านล้านบาท"
นายกรณ์ กล่าวว่า แต่หากกรณีที่ศาลตัดสินไม่ยึดทรัพย์ หรือยึดเพียงบางส่วน ทางกรมสรรพากรยังสามารถรักษาสิทธิในการอายัดทรัพย์สินมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ที่อยู่ภายใต้คดีเลี่ยงภาษีซื้อ-ขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ได้ต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว แต่หากศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ทั้งหมด กรมสรรพากรก็จะต้องหาแนวทางเพื่อพิจารณาทรัพย์ในส่วนที่มาทดแทนเงินค้างชำระภาษีจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทดังกล่าว
ส่วนผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า คงไม่เกิดผลกระทบมากนัก เพราะนักลงทุนได้ประเมินความเสี่ยงคำพิพากษาไว้แล้ว ไม่ว่าจะออกมาในแนวทางใดก็ตาม ประกอบกับ เชื่อว่าคำตัดสินของศาลน่าจะออกมาหลังจากช่วงที่ตลาดหุ้นได้ปิดทำการซื้อขายไปแล้ว และจากนั้นก็จะมีวันหยุดต่อเนื่อง 3 วันด้วย
ทั้งนี้ รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตุว่า ถ้าจะมีผลกระทบก็น่าจะเป็นประเด็น ความไม่สงบทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนั้นมากกว่า พร้อมฝากเตือนนักลงทุนว่า ควรจะมองปัจจัยพื้นฐานในแง่ของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมากกว่าสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่ง ณ ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี และมีผลทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดี ดังนั้น นักลงทุนน่าจะนำข้อมูลในส่วนนี้มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า
"การลงทุนควรอ้างอิงพื้นฐานความเป็นจริง ตามข้อมูลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตอนนี้แนวโน้มเศรษฐกิจดี ผลประกอบการส่วนใหญ่ก็น่าจะดี เพราะฉะนั้นน่าจะเอาข้อมูลนี้มาเป็นหลักในการพิจารณาลงทุนมากกว่า" รมว.คลัง กล่าวสรุปทิ้งท้าย