คลังล็อกเงิน “โอ๊ค-เอม” 1.2 หมื่นล. “สรรพากร” ส่งหนังสือแจ้ง “ธ.ไทยพาณิชย์” วันนี้ ย้ำทั้ง 2 คนยังจ่ายภาษีสรรพากรไม่ครบ ไม่เกี่ยวคดียึดทรัพย์ เพราะเป็นคดีภาษี สามารถอายัดได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด แต่หากเพิกเฉยไม่ดำเนินการอาจถูกตำหนิจากสังคมอย่างรุนแรง และยังเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่
วันนี้ (25 ก.พ.) นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการอายัดเงินในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ของนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังค้างจ่ายภาษีจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่าตนได้รายงานให้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบการดำเนินการของกรมสรรพากรที่อายัดเงินในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว
โดยเงินจำนวน 1.2 หมื่นล้าน เป็นเงินก้อนเดียวกับที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อายัดไว้ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองจะมีการตัดสินยึดหทรัพย์หรือไม่ในวันพรุ่งนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2553)
“การขอให้อายัดเงินของทั้ง 2 คน ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว และยังมีผลบังคับภายใต้กฎหมายภาษีของกรมสรรพากรอยู่ต่อไป แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งไม่ยึดทรัพย์ดังกล่าว จนกว่าทั้งสองคนจะจ่ายชำระภาษีที่ค้างไว้กับกรมสรรพากรครบ 1.2 หมื่นล้านบาท”
ทั้งนี้ ในส่วนเม็ดเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น สามารถอายัดต่อไปได้จนกว่าคดีทางภาษีจะสิ้นสุด เนื่องจากเป็นคดีทางภาษีที่แตกต่างจากคดียึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการเอื้อผลประโยชน์ อย่างที่เป็นอยู่ เนื่องจากขณะนี้คดีทางภาษีระหว่างสรรพากรกับบุตรของอดีตนายกฯ ยังมีข้อพิพาทกันอยู่ เนื่องจากเป็นคดีทางภาษี ที่แตกต่างจากคดียึดทรัพย์ ที่เกี่ยวข้องกับการเอื้อผลประโยชน์อย่างที่เป็นอยู่ เนื่องจากขณะนี้คดีทางภาษีระหว่างสรรพากรกับบุตรของอดีตนายกฯ ยังมีข้อพิพาทกันอยู่
นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวยอมรับว่า วันนี้กรมสรรพากรได้ส่งหนังสือย้ำไปยังธนาคารไทยพาณิชย์อีกครั้งเพื่อให้อายัดเงินของทั้ง 2 คนเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาเป็นเช่นไร ซึ่งในวันพรุ่งนี้ หากศาลมีคำสั่งไม่ยึดทรัพย์ ก็จะนำเงินจำนวนดังกล่าว นำมาจ่ายภาษีที่ค้างไว้ให้กับกรมสรรพากรให้ครบถ้วน
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีความผิดพลาดในกรณีที่ศาลไม่อายัดเงินดังกล่าว และผู้ฝากเงินถอนออกไปโดยที่ไม่ได้จ่ายเงินภาษีที่ค้างไว้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังจะถูกตำหนิจากสังคมอย่างรุนแรงว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้และค่าปรับ จำนวน 11,809 ล้านบาทจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา จากกรณีที่บุคคลทั้งสอง ซื้อหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป จากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด จำนวน 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2549 ขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีราคาหุ้นละ 49.25 บาท ทำให้บุคคลทั้งสองได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นเป็นเงิน 15,883 ล้านบาท ก่อนที่จะขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของสิงคโปร์ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท พร้อมกับหุ้นชินคอร์ปทั้งหมดของตระกูลชินวัตร
หลังจากนั้น คตส.ก็ได้เข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว เห็นว่า นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท แอมเพิลริช ซื้อหุ้นที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ผลต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาตลาดหุ้นละ 48.26 บาท ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538
ดังนั้น นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ต้องนำเงินได้จากประโยชน์ที่ได้จากการซื้อหุ้นได้ในราคา ต่ำกว่าราคาตลาดจำนวน 15,883.9 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และชำระภาษีอากรประจำปีภาษี 2549 ซึ่ง คตส.ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรติดตามการเสียภาษีเงินได้ปีภาษี 2549 ของบุคคลทั้งสองดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550
แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2550 บุคคลทั้งสองไม่ได้นำเงินได้ดังกล่าวมารวมชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 ของนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 จำนวน 6,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท จากนายพานทองแท้ เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904.7 ล้านบาท น.ส.พินทองทาเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904.5 ล้านบาท หรือรวมประมาณ 11,809 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง