xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เตือน “แม้ว” อาจซวยสองเด้ง!! ปูดมีทรัพย์ 4-5 หมื่นล้าน ไม่เป็นผลดีคดียึดทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ”  แจง  “นช.แม้ว” รวยไม่ผิด แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่สมัยเป็นนายกฯ ใช้อำนาจเอื้อหุ้นชินฯ หรือไม่ เผย พบพิรุธยักย้ายถ่ายเทหุ้น 4-5 ต่อ เตือน ตะแบงทรัพย์ 4-5 หมื่นล้าน ติดตัวก่อนเล่นการเมืองไม่เป็นผลดีต่อคดียึดทรัพย์ อาจถูกสอบย้อนหลัง ยอดตรงกับที่แจ้ง ป.ป.ช.หรือไม่  ย้ำ ศาลถ้าหากตัดสินยึด แตะแค่ส่วนงอกเงยจากหุ้นชินฯ ไม่ได้ริบสมบัติ “แม้ว” ทั้งกระบิ



วานนี้ (23 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการคุยนอกทำเนียบ ทางช่อง 11 โดยมี นายวีระ ธีรภัทร เป็นผู้ดำเนินรายการ ถึงคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นายคำนูณกล่าวในรายการว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 209 บัญญัติไว้ว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฏหมายบัญญัติ ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์กรณีดังกล่าวต่อไป ให้รัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง และให้รัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นหรือในห้างหุ้นส่วนดังกล่าวต้องให้นิติบุคคลจัดการทรัพย์สิน ทั้งนี้ ตามที่กฏหมายบัญญัติ

“พูดแบบภาษาชาวบ้าน รัฐธรรมนูญไม่ได้กีดกันคนมีสตางค์เข้ามาทำงานการเมือง อันที่จริงรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ต้องการคนมีสตางค์เข้ามาทำงานการเมือง เพียงแต่ว่าเมื่อคุณจะเข้ามา ถ้าคุณประสงค์จะรับผลประโยชน์จากหุ้นที่คุณถืออยู่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด เขาให้คุณเอาไปพักไว้ที่นิติบุคคลที่ดูแลทรัพย์สินของบุคคลอื่น” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ที่สำคัญตอนนั้นมีกฏหมายว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของบุคคลอื่นอยู่แล้ว ปี 2543 เหตุที่เกิดขึ้นกับคดีนี้ เกิดขึ้นตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และคาดว่าจะชนะ ดังนั้น ต้องเตรียมตัวเพื่อจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่กรณีนี้ไม่ได้เลือกเตรียมตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 คือ ถ้าเลือกปฏิบัติตามมาตราดังกล่าวก็สามารถเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็แจ้งประธาน ป.ป.ช. จากนั้นก็โอนทรัพย์สินไปที่นิติบุคคลอย่างที่กฏหมายกำหนด

“ท่านเลือกที่จะโอนให้บุตรชายคนโต ท่านเลือกที่จะโอนให้บริษัทที่จดทะเบียนในเกาะฟอกเงิน แล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ต่อเนื่องถึงสิงหาคม ปี 2543 อันนี้คือมูลของยึดทรัพย์” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวอีกว่า คดีนี้ช็อตแรกต้องดูว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร โดยผู้กล่าวหา ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้โอนหุ้นจริง ซึ่งประเด็นนี้ถ้าศาลเห็นว่า โอนจริงคดีนี้ก็จบไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป แต่ถ้าอีกมุมศาลเห็นว่าไม่ได้โอนจริง ก็จะเกี่ยวข้องกับอีก 4-5 กรณีที่เกิดขึ้น คือ การโอนหุ้นให้นายพานทองแท้ ชินวัตร การโอนหุ้นให้ น.ส.พินทองทา ชินวัตร การโอนหุ้นใน นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และการโอนหุ้นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนี้ ยังมีการโอนหุ้นไปยังบริษัทแอมเพิลริช บริษัทวินมาร์ค ดังนั้น ทั้ง 5 หรือ 6 กรณีเหล่านี้ ศาลจะต้องวินิจฉัยในพยานหลักฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ให้หุ้นไปนั้นมีการโอนจริงหรือไม่

“ต้องพิจารณาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องการถือหุ้นอยู่เลย หรือว่าจริงๆแล้วมีนอมินีเกี่ยวข้องอยู่กับการบริหาร หรือประหนึ่งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯอยู่ แล้วจากนั้นช่วงเวลา 6 ปี ก็มีการดำเนินนโยบายรัฐบาล 5-6 ประการด้วยกัน ซึ่งผู้กล่าวหาระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เอื้อประโยชน์ให้แก่หุ้นชินคอร์ปสูงขึ้น ต่อจากนั้น ศาลก็ต้องพิจารณาว่า หากผิดจะยึดทรัพย์อย่างไร” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวอีกว่า คดีนี้ศาลต้องอธิบายไปทีละกรณีว่าเอื้อประโยชน์หรือไม่ และถ้าเอื้อทำอย่างไร แต่ว่าถ้าในชั้นต้น หากเห็นว่าซุกหุ้นมันก็ถือว่าผิดกฏหมายอยู่แล้ว แล้วในที่สุดก็กลับมาดูประเด็นร่ำรวยผิดปกติหรือร่ำรวยโดยใช้อำนาจรัฐ ซึ่งสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดว่ารวยมาก่อนเล่นการเมือง โดยประเด็นนี้พูดกันถึงว่ามี 4-5 หมื่นล้านบาท ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรณีนี้อยากเตือนว่าระวังจะเข้าตัว พ.ต.ท.ทักษิณเอง เพราะหากบอกว่ามี 4-5 หมื่นล้านบาท แต่แจ้งต่อ ป.ป.ช.ไปไม่ตรงกัน

นายคำนูณกล่าวต่อถึงประเด็น พ.ต.ท.ทักษิณ รวยมาก่อนว่า การรวยมาก่อนไม่ได้เป็นความผิด แต่ถ้าหากมีการยึดก็ริบในส่วนที่งอกเงยมาจากหุ้นชินคอร์ปที่มีผู้กล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณซุกไว้ในชื่อคนอื่น แล้วใช้อำนาจของรัฐทำให้หุ้นตัวเองสูงขึ้น

นายคำนูณกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่มีการโจมตีโทษว่าปัญหาทุกอย่างมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ซึ่งตรงจุดนี้ตนอยากให้มองว่า การทำปฏิวัติไม่ใช่เรื่องสนุก และเป็นเรื่องที่เสี่ยงที่จะทำ ซึ่งจะโทษเหตุการณ์นั้นอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมองย้อนกลับไปว่าตอนสมัยนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารประเทศด้วยความมิชอบหรือไม่ ยิ่งตอนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เรียกร้องให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่ลืมไปแล้วหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตายเพราะน้ำมือ พ.ต.ท.ทักษิณ

“ในปี 2551 คุณทักษิณตอนกลับมาประเทศสู้คดีครั้งแรก ก็เกิดจากความสมัครใจ โดยคดีไหนที่คุณทักษิณ ชนะก็จะบอกว่าศาลยุติธรรม ส่วนคดีไหนที่ดูเหมือนจะพ่ายแพ้ก็จะพูดอีกอย่างหนึ่ง” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวปิดท้ายถึงการชุมนุมเสื้อแดงว่า ขณะนี้ยังไม่ได้แถลงวันชุมนุมใหญ่ โดยจะแถลงวันพรุ่งนี้ ซึ่งก็คิดว่าคงเกิดขึ้นหลังวันที่ 26 ก.พ. แต่ว่าตนเชื่อว่า นชป.มีบทเรียนมาแล้วจากครั้งนั้น
 นายคำนูณ สิทธิสมาน
 นายวีระ ธีรภัทร
กำลังโหลดความคิดเห็น