xs
xsm
sm
md
lg

คุณหญิงพจมาน เป็นคุณหญิงเมื่อไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อาชญากรย่อมทิ้งร่องรอยของอาชญากรรม “ นี่คือ หลักการของผู้ที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรม ในการทำงานสืบเสาะ ค้นหาพยาน หลักฐาน เบาะแส ของการกระทำความผิด แม้ว่า ในบางครั้งจะดูยากยิ่งนัก เหมือนงมเข็มในความมืดมิด แต่ขอให้คลำหาร่องรอยให้เจอ แม้เพียงน้อยนิด ก็เหมือนแสงที่ปลายอุโมงค์ ที่สว่างพอจะคลำทางไปค้นหาความจริง

คดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท งวดเข้ามาทุกขณะ ทั้งฝ่ายอัยการสูงสุด ที่เป็นผู้ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมือง ให้ยึดทรัพย์สิน คือ เงิน 76,000 ล้านบาท ของนช. ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร และครอบครัว ที่ได้มากจาการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ และฝ่ายผู้คัดค้านคือ นช. ทักษิณ และครอบครัว ต่างก็ยื่นแถลงการณ์ปิดคดีให้กับศาลไปเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่รอฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

ในคำแถลงปิดคดีของคุณหญิงพจมาน ตอนหนึ่ง ระบุว่า ประเด็นที่อัยการสูงสุดผู้ร้อง กล่าวหาว่า คุณหญิงพจมานผู้คัดค้านที่ 1 และ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ยังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ผ่านบุตร ญาติ พี่น้อง นั้น หุ้นชินคอร์ปของผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาโดยสุจริตมาตั้งแต่ปี 2526 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยการซื้อจากการเพิ่มทุน กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 มีหุ้นอยู่ 69,300,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาทและได้ขายให้กับนายพานทองแท้ และนายบรรณพจน์ โดยได้ทำการโอนขายอย่างถูกกฎหมาย มีเจตนาในการซื้อขายหุ้นกันจริง และมีการชำระค่าหุ้นกันจริง จึงได้โอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้รับโอนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)แล้ว

ส่วนคำเบิกความของนายแก้วสรร อติโพธิ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้นเป็นพยานที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายหุ้นชินคอร์ปให้นายพานทองแท้และนายบรรณพจน์ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 จึงไม่มีพฤติการณ์คงไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปตามที่ อสส. และ คตส. กล่าวหา และเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อพยานที่ได้จากการไต่สวนของศาลฎีกาฯ

ในขณะที่ คำแถลงปิดคดีของอัยการสูงสุด ระบุว่า หุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสใช้ชื่อบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นแทนมีจำนวนทั้งหมด 1,419,490,150 หุ้น ใช้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนในชื่อของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5(เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542) และการโอนหุ้นให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5(เมื่อวันที่ ื1 กันายน 2543) ไม่ได้ชำระเงินกันจริงเพียงแต่ทำหลักฐานตั๋วสัญญาใช้เงินระบุลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 และวันที่ 1 กันยายน 2543 ให้ไว้กับผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร รวมจำนวน 5 ฉบับ เป็นเงินเพียง 1,124,335,225 บาท

อีกทั้งตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับระบุลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 ระบุว่า นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 102,135,225 บาท ให้แก่"คุณหญิงพจมาน ชินวัตร "ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ทั้งที่ในวันที่ 16 มีนาคม 2542 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จตุตถจุลจอมเกล้า ที่จะใช้คำนำนามว่า "คุณหญิง" ได้ โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จตุตถจุลจอมเกล้าในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม 2542 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2542

ดังนั้น คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 1 จะใช้คำนำนามว่าคุณหญิง ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2542

ข้ออ้างว่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมสูญหายจึงจัดทำขึ้นใหม่นั้นก็ไม่มีการแจ้งความเอกสารหายแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว เป็นการจัดทำเป็นหลักฐานขึ้นในภายหลังเท่านั้นไม่ได้จัดทำขึ้นตามความจริง


ย้อนเวลากลับไปวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 วันนั้น ศาลอาญาพิพากษา จำคุกนายบรรพจน์ คุณหญิงพจมาน และนางกาญจนภา หงส์เหิน ข้อหาเลี่ยงภาษี และ ให้การเท็จ โดยไม่รอลงอาญา

พฤติการณ์ในคดีนั้น คุณหญิงพจมานจะยกหุ้นชินคอร์ป หรือชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อปี 2540 ให้นายบรรณพจน์ ซึ่งนายบรรณพจน์ ต้องเสียภาษี 270 ล้านบาท เพราะถือว่า เป็นเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่ต้องการเสียภาษี จึงใช้วิธีทำเป็นว่า มีการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยกเว้นภาษีเงินได้จากการลงทุนให้

คตส. จับได้ว่า เป็นการซื้อขายเท็จ เพื่ออำพรางการให้ เพราะมีหลักฐานว่า เช็คค่าซื้อหุ้น ที่จ่ายให้โบรกเกอร์ เป็นเช็คของคุณหญิงพจมาน แทนที่จะเป็นเช็คของนายบรรณพจน์ที่เป็นผู้ซื้อ และเมื่อโบรกเกอร์จ่ายเงินค่าขายหุ้นมาให้เป็นเช็ค ก็นำเงินเข้าบัญชีคุณหญิงพจมาน โดยหักค่าคอมมิชชั่นให้โบกรเกอร์ 7 ล้านบาท

คุณหญิงพจมานยอมเสียค่านายหน้าซื้อขายหุ้น 7 ล้านบาท เพื่อประหยัดเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐ 270 ล้านบาท

คุณหญิงพจมาน และครอบครัว มีทรัพย์สินมูลค่าแสนล้าน มีธุรกิจที่ต้องดูแลจัดการ มีธุรกรรมซื้อขาย ฝากถอน โอนย้าย ถ่ายเท มากมาย เป็นธรรมดาที่จะต้องมีความผิดพลาด เล็กๆน้อยๆ เช่น ติ๊กผิด กาผิด ลืมแจ้ง ตั๋วหาย กระทั่งตัวเองเป็นคุณหญิงเมื่อไรก็ยังจำผิด คลาดเคลื่อนไปเกือบ 2 เดือน

น่าเสียดาย ที่ทนายความของคุณหญิงพจมาน ไม่แถลงเรื่อง เป็นคุณหญิงวันไหน ไว้ในคำแถลงปิดคดีด้วย เพราะอยากรู้จริงๆว่า จะแถลงว่าอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น