ทนายความลูกแม้ว “พานทองแท้-พินทองทา” เข้ายื่นคำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน แจง 15 ประเด็น เนื้อหา 130 หน้า สู้ข้อกล่าวหา อ้างเงิน 40,000 ล้านบาท ได้รับมอบก่อน “ทักษิณ” เป็นนายกฯ ยันเป็นเจ้าของกรรมสิทธิทรัพย์สินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยวันที่ 26 ก.พ.นี้ทั้งสามจะเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง
วันนี้(10 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายกิตติพร อรุณรัตน์ ทนายความของ นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภริยา เดินทางไปยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีในส่วนของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ในฐานผู้คัดค้านที่ 2 – 3 ในคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้าน 22 ราย เป็นเงินจำนวน 76,000 ล้านบาท ที่ได้มาจากการออกนโยบายเอื้อประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง จำนวน 5 กรณี และการให้บุตรและคนใกล้ชิดถือครองหุ้นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น แทนตัวเอง ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 วาระ
โดยนายกิตติพร เปิดเผยว่า ในส่วนคำแถลงการณ์ปิดคดีของ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา นั้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 130 หน้า แยกการชี้แจงออกเป็น 15 ประเด็น ที่จะยืนยันว่าทรัพย์สมบัติของ นายพานทองแท้ จำนวน 17,150 ล้านบาท และของ น.ส.พินทองทา จำนวน 23,529 ล้านบาท รวมกว่า 40,000 ล้านบาทนั้นได้รับมอบจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงความเป็นเจ้าของกรรสิทธิ์ในทรัพย์ที่ได้รับผลประโยชน์เอง นอกจากนี้ยังชี้แจงในประเด็นเรื่องการไต่สวนว่าชอบหรือไม่ ในฐานะทนายความมีความเชื่อมั่นว่าตั้งแต่ในชั้นไต่สวนแล้วว่าสามารถชี้แจงให้ศาลทราบได้ ทั้งนี้ในวันที่ 26 ก.พ. นี้ จะได้รู้กันแล้วว่าศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาอย่างไร ที่ผ่านมาได้มีการปรึกษาหารือทางคดีกับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา มาโดยตลอด และเข้าใจว่าในวันฟังคำพิพากษา คุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา จะเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง
คำแถลงปิดคดีของนายพานทองแท้ ความยาว 66 หน้าสรุปว่า นายพานทองแท้ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 458,550,220 หุ้น ที่แท้จริง และมีกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นแทน (นอมินี) พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้คัดคัดค้านที่ 1 ที่อย่างใด ดังนั้นหุ้นบริษัทจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งมีสิทธิ์ใช้และจำหน่าย และได้รับดอกผลตามกฎหมายได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ขายหุ้นบริษัททั้งหมดให้กับบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งอยู่ในกลุ่มทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ เงินที่ได้รับมาจำนวน 17,150,292,534 บาท จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 2 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจากการไต่สวนข้อเท็จจริงในศาลก็เป็นที่ยุติแล้วว่าการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป เป็นการซื้อขายที่แท้จริง ปรากฏตามคำเบิกความของนายสมบูรณ์ คุปติมนัส (พยานของผู้คัดค้าน) ที่เบิกความเมื่อวันที่ 13 ส.ค.52 แต่ในส่วนพยานของอัยการสูงสุด ผู้ร้อง รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบที่มาเบิกความต่อศาล ก็ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯที่แท้จริง พยานผู้ร้องต่างเบิกความลักษณะคาดเดาทั้งสิ้น ในลักษณะปรักปรำ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 2 เพื่อต้องการให้เงินที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ได้มาจากการขายหุ้นตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่สนใจว่าเงินนั้นเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 หรือไม่ ทั้งที่การซื้อขายหุ้นก็เป็นไปตามเจตนาของผู้ซื้อและผู้ขาย ดังนั้นข้อเท็จจริงต้องฟังว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯที่แท้จริงไม่ได้ถือหุ้นแทน
ผู้ค้านที่ 2 ขอเรียนต่อศาลฎีกาฯ ถึงประเด็นความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ว่า ผู้คัดค้านที่2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณผู้ถูกกล่าวหาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้กรรมสิทธิ์หุ้นบริษัทชินคอร์ปฯมาจากการซื้อหุ้นจำนวน 30,920,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท คิดเป็นเงินรวม 309,200,000 บาท จากผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นบิดาเมื่อวันที่ 1 ก.ย.43 โดยผู้คัดค้านที่ 2 ชำระเงินค่าซื้อหุ้นตามตั๋วสัญญาให้ผู้ถูกกล่าวหาครบถ้วนแล้ว โดยวันเดียวกันผู้คัดค้านที่ 2 ได้ซื้อหุ้นชินคอร์ปฯจำนวน 42,475,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท เป็นเงินจำนวน 424,750,000 บาท จากคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา และชำระค่าหุ้นโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามราคาหุ้นครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 29 ส.ค. 44 บริษัทชินคอร์ปฯได้เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ 10 บาท ต่อหุ้น เป็นหุ้นละ 1 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้จำนวนหุ้นที่ผู้คัดค้านถือครองในบริษัทชินคอร์ปฯเพิ่มขึ้นจากจำนวน 73,395,022 หุ้น เป็นจำนวน 733,950,220 หุ้น โดยมูลค่าของหุ้นมีจำนวนเท่าเดิม โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 45 ผู้คัดค้านที่ 2 แบ่งขายหุ้นให้ น.ส.พินทองทา ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นน้องสาวจำนวน 367,000,000 หุ้นในราคาหุ้นละ 1 บาท ซึ่งมีการชำระค่าหุ้นเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน โดยวันที่ 3 มิ.ย.46 ผู้คัดค้านที่2 ได้ขายหุ้นให้กับผู้คัดค้านที่ 3 เพิ่มอีกจำนวน 73,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท ซึ่งได้ชำระค่าหุ้นเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์เช่นกัน
ประเด็นการได้มาซึ่งหุ้นบริษํทแอมเพิล ริช อินเวสเมนท์ จำกัดนั้น ว่า เดิมพ.ต.ท.ทักษิณ จัดตั้งบริษัทที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น ไอล์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน 32,920,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท เพื่อนำไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แนสแดก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาทางการเงินโดยไม่ได้ประกอบกิจการใด แต่เพื่อเตรียมให้บริษัทชินคอร์ปเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดแนสแดก เท่านั้น โดยเมื่อวันที่ 1ธ.ค. 43 พ.ต.ท.ทักษิณ ขายหุ้นบริษัทแอมเพิล ริชฯ ให้กับผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 1 หุ้น ราคา 5 เหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นของขวัญวันเกิด ของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเกิดวันที่ 2 ธ.ค. ประกอบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการลงสมัครเลือกตั้งเป็นข้าราชการการเมือง โดยผู้คัดค้านที่ 2 ได้ชำระค่าหุ้นแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทแอมเพิล ริชฯอีกต่อไป ต่อมาปี 2548 บริษัทแอมเพิล ริชฯ ได้จำหน่ายหุ้นเพิ่มอีก 4 หุ้น จากเดิม มีเพียงแค่ 1 หุ้น โดยผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อไว้จำนวน 3 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อไว้จำนวน 1 หุ้น โดยมีการชำระค่าหุ้นไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ซึ่งการได้มาของหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯที่บริษัทแอมเพิล ริช ฯ ถือครองนั้นผู้คัดค้านที่ 2 ได้ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯจากบริษัทแอมเพิล ริช ฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.49 โดยซื้อในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการ จึงซื้อได้ในราคาหุ้นละ 1 บาทจำนวน 164,600,000 หุ้น และได้ชำระค่าหุ้นให้บริษัทแอมเพิล ริชฯ แล้ว โดยกรมสรรพากรได้เรียกเก็บภาษีเงินได้กับผู้คัดค้านที่ 2 จากเงินส่วนต่างของราคาหุ้นที่ซื้อมา ดังนั้นผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ที่ซื้อมาจากบริษัทแอมเพิล ริชฯ นอกจากนี้เงินปันผลที่บริษัทแอมเพิล ริช ฯ ได้รับจากการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯรวม 6 ครั้ง ระหว่างปี 2546-2548 รวมเป็นเงิน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ฝากไว้ที่ธนาคารยูบีเอส เอจี สิงคโปร์ เพื่อให้ดูแลดอกเบี้ยเงินฝาก โดยผู้คัดค้านที่ 2 คอยรับผลประโยชน์ แต่ไม่ได้เข้าไปจัดการร่วมด้วยแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯให้กับบริษัทซีดาร์ฯและแอสเพนฯ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 49 นั้น เหตุผลในการขายให้กับกลุ่มกองทุนเทมาเส็กฯดังกล่าว เนื่องจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ลุงของผู้คัดค้านที่ 2 อยากจะวางมือจากการทำธุรกิจเหมือนพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ที่ได้วางมือไปนานแล้ว ประกอบกับมีกลุ่มทุนจากเมืองนอกสนใจมาลงทุนต่อ และได้ติดต่อซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯจากนายบรรณพจน์ จึงได้สอบถามมายังผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ว่าสนใจหรือไม่ ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ต้องการเงินสดไปลงทุนทำธุรกิจอื่น จึงได้ตัดสินใจขายหุ้นไปพร้อมกับของนายบรรณพจน์ โดยผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้แจ้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ทราบเรื่องดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 ไม่ได้คัดค้าน เมื่อตกลงกันได้แล้วกับฝ่ายผู้ซื้อผู้คัดค้านที่ 2 ได้มอบหมายให้นางกาญจนภา หงษ์เหิน เป็นตัวแทนในการดำเนินการขายหุ้นให้กับกลุ่มกองทุนเทมาเส็ก ราคาหุ้นละ 49.25 บาท โดยการขายหุ้นกระทำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผ่านบริษัทตัวแทน(โบรกเกอร์)ซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งได้มีการชำระค่าหุ้นให้กับผู้คัดค้านที่ 2 หลังจากวันที่มีการซื้อขายวันที่ 23 ม.ค.49 อีก 3 วัน โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ได้นำเงินขายหุ้นเข้าฝากกับธนาคารไทยพาณิชย์สำนักรัชโยธิน เมื่อวันที่ 26 ม.ค.49 ครั้งแรกจำนวน 8,000 ล้านบาท และครั้งที่ 2 จำนวน 14,400,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,400,000,000 บาท
ส่วนประเด็นที่หุ้นบริษัทชินคอร์ปฯมีมูลค่าสูงขึ้นนั้น เนื่องจากบริษัทชินคอร์ปฯเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน ลักษณะโฮลดิ้ง Company โดยได้รับผลตอบแทนอย่างมากจากการลงทุนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งมีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทำให้หุ้นบริษัทเอไอเอสมีมูลค่าสูงและเป็นผลโดยตรง จึงทำให้หุ้นบริษัทชินคอร์ปฯมีมูลค่าสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ประกอบกับหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯและเอไอเอส เป็นหุ้นที่มี Maket Cap ขนาดใหญ่ เคยอยู่ใน 5 หรือ 10 อันดับแรกของตลาดหลักทรัพย์ จึงมีความเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการที่หุ้นบริษัทชินคอร์ปฯมีมูลค่าสูง ที่เกิดจากการลงในกับบริษัทในเครือ และเมื่อนักลงทุนเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่มูลค่าหุ้นชินคอร์ปฯสูงขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่เงินที่รับจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯนั้น เมื่อมีการซื้อขายหุ้นแล้วผู้คัดค้านที่2มีสิทธิ์นำเงินไปใช้จ่ายส่วนตัวและลงทุนในธุรกิจต่างๆโดยไม่มีข้อห้าม เพราะเป็นเงินที่ได้มาสุจริต โดยผู้คัดค้านที่ 2 นำเงินจำนวน 1.1 พันล้านบาท ไปให้บริษัท ประไหมสุหรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กู้ยืม โดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารเมื่อวันที่ 24เม.ย.50 ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินการกู้ยืมมอบให้กับผู้คัดค้านที่ 2 นอกจากการกู้ยืมแล้วผู้คัดค้านที่ 2 ยังได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทดังกล่าวอีกจำนวน 800 ล้านบาท และนำเงินชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทเวิร์ธซัพพลายส์ จำกัด จำนวน 1,000 ล้านบาท และนำเงินไปซื้อที่ดินต.หมูศรี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน 27,227,200บาท พร้อมทั้งนำเงินจำนวน 30 ล้านบาท ไปชำระเป็นค่าที่ปรึกษากฎหมายให้กับบริษัทไว้ท์แอนด์เคส ประเทศไทย จำกัด การนำเงินไปใช้ลงทุนหรือซื้อทรัพย์สินต่างๆนั้นเป็นการตัดสินใจของผู้คัดค้านที่ 2 อย่างแท้จริง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เพราะผู้คัดค้านที่ 2 ได้ชำระค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ซื้อมาให้กับทั้ง 2 ซึ่งเป้ฯบิดามารดาครบถ้วนแล้ว ขณะที่การนำเงินไปลงทุนในบริษัทต่างๆ และซื้อขายที่ดินรวมถึงค่าทนายความ เป็นการกระทำโดยเปิดเผยถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ไม่ได้ปกปิดหรือซ่อนเร้นทำนิติกรรม ธุรกรรม ไม่ใช่การโอนยักย้ายแปรสภาพหรือซุกซ่อนทรัพย์สินเพื่อให้พ้นอำนาจของกฎหมาย ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) กล่าวอ้างเพื่ออายัดเงินของผู้คัดค้านที่ 2 ดังนั้นสำนวนการสอบสวนของ คตส.จึงไม่เป้นความจริง เพราะหลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ขายหุ้นชินคอร์ปฯให้ผู้คัดค้านที่ 2 แล้ว ทั้งสองไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ขณะที่การบริหารจัดการหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯที่ผู้คัดค้านที่ 2 ถืออยู่ ได้มอบหมายให้นางกาญจนภา ดูแลและจัดการทรัพย์สินต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การลงทุนให้ โดยผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทำธุรกรรมทั้งหมดตกอยู่กับผู้คัดค้านที่ 2
ดังนั้นผู้คัดค้านที่ 2 จึงขอเรียนต่อศาลฎีกาฯ ว่าเงินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ที่อัยการสูงสุดร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น มีเงินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 2 รวมอยู่ด้วยจำนวน 17,150,292,534 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับมาจากการขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรหรือสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา แต่อย่างใด จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องของอัยการสูงสุด ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 และขอให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์และหลักทรัพย์จำนวน 17,150,292,534 บาท ของผู้คัดค้านที่ 2 พร้อมดอกผลของยอดเงินดังกล่าว และเพิกถอนการอายัดที่ดิน 4 แปลง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ด้วย
ขณะที่คำแถลงปิดคดีของ น.ส.พินทองทา ผู้คัดค้านที่ 3 ในคดีดังกล่าว บรรยายสรุปไว้ 64 หน้า ได้มีการชี้แจงการได้มาของหุ้น และการเข้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ตั้งแต่ปี 2545 ว่ากระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกับคำแถลงปิดคดีของ นายพานทองแท้ คัดค้านที่ 2 โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ถือครองหุ้นดังกล่าวอยู่นั้น ไม่เคยมีหน่วยงานราชการใดมีความสงสัย หรือตั้งข้อกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 3 ถือหุ้นดังกล่าวแทน พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กระทั่งเมื่อปี 2550 กลับมีการตั้ง คตส. ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อตรวจสอบกล่าวหาว่า หุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ขายไปนั้นเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน แต่ใช้ชื่อบุตร และญาติพี่น้อง ถือครองหุ้นแทน ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงมีการกล่าวหาดังกล่าว และกรณีนี้ควรมีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไร ซึ่ง คตส. และอัยการสูงสุด ผู้ร้อง ไม่มีมูลเหตุเพียงพอที่จะกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 3 ถือหุ้นแทน เมื่อไม่มีมาตรฐานในการตรวจสอบ เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพียงพอที่จะมาใช้กล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นแท้จริงหรือไม่ จึงควรยกคำร้องของอัยการสูงสุด
ขณะที่การได้รับผลประโยชน์จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ น.ส.พินทองทา ระบุว่า หลังจากได้รับเงินขายหุ้นชินคอร์ปฯ จำนวน 604,600,000 หุ้น ได้นำเงินจำนวน 900 ล้านบาทไปให้บริษัท ประไหมสุหรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กู้ยืม โดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 24 เม.ย.50 โดยบริษัทดังกล่าวได้ออกตั๋วสัญญากู้ยืมให้ ผู้คัดค้านที่ 3 และนอกจากเงินกู้ยืมแล้ว ผู้คัดค้านที่ 3 ยังนำเงิน 1,000 ล้านบาท ชำระเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 9 พ.ค.50 ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทเวิร์ธซัพพลายส์ จำกัด และชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทเอสซี ออฟฟิส พลาซ่า จำกัด จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งชำระเป็นเช็ค ธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 5 มิ.ย.50 และแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับของ ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 14 มิ.ย.50 รวมทั้งนำเงินอีก 2,000 ล้านบาท ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท เอสซีเค เอสเทต จำกัด ที่ชำระเป็นแคชเชียร์เช็ค ธนาคารนครหลวงไทย ลงวันที่ 14 มิ.ย.50 ชำระหุ้นเพิ่มทุนบริษัท โอเอไอ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด จำนวน 430 ล้านบาท ชำระเป็นแคชเชียร์เช็ค ธนาคารนครหลวงไทย ลงวันที่ 14 มิ.ย.50 ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนบริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 2,300 ล้านบาท เป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 5 มิ.ย.50 และแคชเชียร์เช็ค ธนาคารนครหลวงไทย ลงวันที่ 14 มิ.ย.50 นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 3 ยังนำเงิน 200 ล้านบาท ไปบริจาคให้กับมูลนิธิไทยคม เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาสในชนบท และสนับสนุนกิจกรรมตามโครงการพระราชดำริ
ผู้คัดค้านที่ 3 ยืนยันว่าการที่นายพานทองแท้ ผู้คัดค้านที่ 2 ขายหุ้น ชินคอร์ปฯ ให้กับผู้คดค้านที่ 3 นั้น เป็นการตัดสินใจโดยอิสระ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่ได้บังคับผู้คัดค้านที่ 2 ให้ต้องขายแต่อย่างใด ขณะที่การบริหารจัดการหุ้นดังกล่าวนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มอบหมายให้ นางกาญจนภา ดูแลและจัดการทรัพย์สินต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การลงทุนให้ โดยผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทำธุรกรรมทั้งหมดตกอยู่กับผู้คัดค้านที่ 3 และการที่ผู้คัดค้านที่ 3 ฝากเงินที่ได้จากการขายหุ้นไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ หลายแห่ง หลายสาขา เนื่องจากต้องการบริหารผลตอบแทน เรื่องดอกเบี้ย และเป็นการบริหารความเสี่ยงที่จะไม่ฝากเงินไว้กับธนาคารใดทั้งหมดไว้แห่งเดียว ผู้คัดค้านที่ 3 จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องของอัยการสูงสุด ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 และขอให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์และหลักทรัพย์จำนวน 23,529,837,028.60 บาท ของผู้คัดค้านที่ 3 พร้อมดอกผลของยอดเงินดังกล่าว