xs
xsm
sm
md
lg

พิลึก! “หญิงอ้อ” นำคำรับรองศาลดูไบ ค้านยึดทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
อดีตเมียแม้วมอบทนายแถลงร้องค้านปิดคดียึดทรัพย์ ยก 16 ประเด็นสู้ ยันการซื้อขายหุ้นทุกขั้นตอนทำถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกล่าวหาคำให้การ “แก้วสรร” ไม่เป็นความจริง พิลึกยกคำรับรองศาลดูไบสู้ศาลไทย ขณะที่อัยการยื่นปิดคดี ยันละเอียดขั้นตอนมหาโกง เชื่อคนในครอบครัวไม่มีการซื้อขายหุ้นกันจริง
การวิเคราะห์จากรายการเคาะข่าวริมโขง

วันนี้ (9 ก.พ.)เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมพร พงษ์สุวรรณ ทนายความคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้คัดค้านที่ 1 ได้ยื่นคำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นี้ เวลา 13.30 น. โดยนายสมพรกล่าวว่า ได้ยื่นแถลงปิดคดีทั้งหมด 16 ประเด็น เป็นการหักล้างข้อกล่าวหาของผู้ร้องและประเด็นนำสืบต่างๆ โดยมั่นใจในพยานหลักฐานที่ได้นำสืบในชั้นไต่สวนของศาลฎีกามีน้ำหนักเพียงพอให้ศาลวินิจฉัย ทั้งประเด็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ยึดทรัพย์คุณหญิงพจมาน จำนวนกว่า 1 พันล้านบาทเศษ ซึ่งประกอบด้วย เงินสด เงินฝาก และพันธบัตรนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีมาก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯถูกต้องตามกฎหมาย

ตามคำแถลงปิดคดีของคุณหญิงพจมานสรุปว่า ประเด็นที่อัยการสูงสุดผู้ร้อง กล่าวหาว่า คุณหญิงพจมานผู้คัดค้านที่ 1 และ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ยังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ผ่านบุตร ญาติ พี่น้องนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ได้นำนายพานทองแท้ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ให้การยืนยันชัดเจนว่าหุ้นชินคอร์ปของผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาโดยสุจริตมาตั้งแต่ปี 2526 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยการซื้อจากการเพิ่มทุน กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 มีหุ้นอยู่ 69,300,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาทและได้ขายให้กับนายพานทองแท้ และนายบรรณพจน์ โดยได้ทำการโอนขายอย่างถูกกฎหมาย มีเจตนาในการซื้อขายหุ้นกันจริง และมีการชำระค่าหุ้นกันจริง จึงได้โอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้รับโอนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ส่วนคำเบิกความของนายแก้วสรร อติโพธิ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้นเป็นพยานที่ไม่ความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟ้องได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้นายพานทองแท้และนายบรรณพจน์ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 จึงไม่มีพฤติการณ์คงไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ป ตามที่ อสส. และ คตส.กล่าวหา และเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อพยานที่ได้จากการไต่สวนของศาลฎีกาฯ

อัด"แก้วสรร"ให้การไม่เป็นความจริง

ประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระเงินจากนายพานทองแท้ เกินกว่ามูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินชำระค่าหุ้น และนายพานทองแท้ได้คืนเงินปันผลที่นายพานทองแท้ได้รับจากชินคอร์ปฯ นั้น ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพยานของศาลฎีการับฟังได้ว่า นายพานทองแท้ได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่เป็นหนี้ผู้คัดค้าน จำนวน 5,056,348,840 ล้านบาทตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 4 ฉบับ คือ หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินค่าซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ 424,750,000 บาท หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินค่าซื้อหุ้นชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) 37,249,340 บาท หนี้ค่าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 4,500,000,000 บาท หนี้ค่าซื้อหุ้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 94,459,000 ล้านบาท ส่วนคำให้การของนายแก้วสรร พยานฝ่ายผู้ร้องให้การเกี่ยวกับการชำระหนี้ข้างต้นโดยไม่มีพยานหลักฐาน การที่ผู้ร้องกล่าวหาประเด็นนี้ จึงไม่เป็นความจริงและขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนอย่างชัดเจน

ซื้อขายขายหุ้นให้ลูกโอ๊ในฐานะทายาท

ประเด็นที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ 1 ขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้และนายบรรณพจน์ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงราคาหุ้นละ 15 เท่า นั้น ผู้คัดค้านขอชี้แจงว่า การขายหุ้นระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับนายพานทองแท้ เป็นการซื้อขายกันในฐานะทายาท ซึ่งเป็นบุตรคนโตที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ให้สืบทอดธุรกิจที่ได้สร้างมาด้วยนำพักน้ำแรงของครอบครัว เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาเข้าทำงานการเมืองอย่างเต็มที่ จึงได้ขายหุ้นให้นายพานทองแท้ ในราคาทุน และสอนให้ลูกรู้คุณค่าของทรัพย์สินว่าการทำธุรกิจไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ โดยการซื้อขายระหว่างแม่กับลูก ไม่ได้พิจารณาว่าหุ้นจะมีราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาตลาด สรุปแม้นายพานทองแท้จะได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นก็เป็นเรื่องของความเป็นแม่กับลูก ที่เอื้ออาทรมากกว่าบุคคลทั่วไป รวมทั้งกรณีที่ขายหุ้นให้กับนายบรรณพจน์ ที่ได้ร่วมก่อตั้ง บ.ชินคอร์ปฯ และช่วยเหลือเกื้อกูลมาตั้งแต่เด็ก ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดหักล้างพยานผู้คัดค้านที่ 1 ข้อกล่าวหาผู้ร้องจึงเป็นเพียงการคาดเดาลอยๆ

ประเด็นที่กล่าวหาว่าผู้มีชื่อทั้งปวงยกเว้นนายบรรณพจน์ ไม่เคยรู้เห็นร่วมประชุมเจรจาขายหุ้นให้กลุ่มกองทุนเทมาเส็ก นั้น ในชั้นไต่สวนของศาลฎีกาฯ ผู้คัดค้านที่ 1 ได้นำพยาน เข้าเบิกความยืนยันอย่างชัดเจนว่า การประชุมผู้ถือหุ้นของ บ.ชินคอร์ปฯ นายพานทองแท้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น.ส.พินทองทา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นชินคอร์ปฯ รับรู้และให้ผู้รับมอบอำนาจเข้าร่วมประชุมแทนทุกครั้ง และเป็นแนวทางปฎิบัติมาตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ถือหุ้นชินคอร์ปฯมาตั้งแต่ปี 2526-2543 เพราะบ.ชินคอร์ปฯ มีผู้บริหารมืออาชีพและผู้ชำนาญการพิเศษบริหารอยู่แล้ว ส่วนการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก นั้นผู้คัดค้านที่ 1 ได้นำพยานเบิกความไว้อย่างชัดเจนถึงมูลเหตุในการขายหุ้น โดยมอบหมายให้นายบรรณพจน์ เป็นตัวแทนในการขายหุ้น ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นชินคอร์ปฯ ทุกคนได้รับรู้และตกลงในเงื่อนไขการขายหุ้นร่วมกัน ข้อกล่าวหาของผู้ร้องจึงขัดต่อข้อเท็จจริงและพยานในการไต่สวนของศาลฎีกาอย่างสิ้นเชิง

ยกเหตุไม่ยุ่งยากพานทองแท้ถือหุ้นคนเดียว

ประเด็นกล่าวหาที่ว่าหุ้นในชื่อ น.ส.พินทองทา ซื้อจากนายพานทองแท้ กลับนำเช็คของผู้คัดค้านที่ 1 ไปชำระให้นายพานทองแท้ และโอนเงินดังกล่าวกลับเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ยืนยันว่า เงินที่ น.ส.พินทองทา นำไปซื้อหุ้น เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ให้ น.ส.พินทองทา เนื่องในวันเกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2545 จำนวน 370,000,000 ล้านบาท ซึ่ง น.ส.พินทองทา เบิกความต่อศาลยืนยันว่าประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้ไปลงทุนใน บ.ชินคอร์ป นายพานทองแท้ จึงตกลงแบ่งขายหุ้นชินคอร์ปฯ จำนวน 367,000,000 หุ้น คิดเป็นเงิน 367,000,000 บาทเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2545 และได้จดแจ้งการโอนหุ้นต่อบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้แจ้งการได้มาซึ่งหุ้น และการจำหน่ายไป ต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กรณีจึงรับฟังได้อย่างชัดเจนว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของ น.ส.พินทองทา และนายพานทองแท้ นำไปชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินกับผู้คัดค้านที่ 1 มิใช้เป็นการคืนเงินให้ผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่มีมูลหนี้ตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด และหากจะถือหุ้นแทนบิดามารดาจริง นายพานทองแท้ ถือเพียงคนเดียวก็ได้ไม่ต้องยุ่งยาก

พิลึกอ้างคำรับรองศาลดูไบต่อสู้

ในประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่าเงินปันผลที่ น.ส.พินทองทา ได้รับจาก บ.ชินคอร์ปฯ แล้วส่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 485,829,800 โดยทำเป็นจ่ายค่าซื้อหุ้น บ.อสังหาริมทรัพย์ 5 บริษัท จาก บ.วินมาร์ค จำกัด โดยใช้ชื่อ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ถือหุ้นแทนผู้คัดค้านที่ 1 นั้น มีพยานเอกสารของนายมาห์มู๊ด โมฮัมหมัด อัล อันซารี ซึ่งเป็นคำชี้แจงโดยรับรองจากศาลดูไบ ยืนยันว่า นายมาห์มู๊ด เป็นเจ้าของ บ.วินมาร์คที่แท้จริงเพียงผู้เดียว และได้ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทของครอบครัวชินวัตรที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในปี 2543 และได้รับการโอนหุ้นมาจากธนาคาร UBS AG สาขาสิงคโปร์ในปี 2544 บ.วินมาร์คจึงไม่ได้เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกร้องและผู้คัดค้านที่ 1 และ น.ส.พินทองทา ไม่เคยส่งเงินปันผลคืนให้กับผู้คัดค้านที่ 1 โดย น.ส.พินทองทา เบิกความว่า นำไปฝากในบัญชีและนำไปใช้สอย

ประเด็นที่ว่าผู้มีชื่อทั้งปวงไม่ได้รับเช็คค่าเงินปันผลหุ้นชินคอร์ป ด้วยตัวเองแต่กลับนำเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 มาโดยตลอด นั้น บุตรชาย บุตรสาว น้องสะใภ้ และพี่ชายบุญธรรม ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้น ได้เบิกความประกับเอกสารยืนยันว่าเป็นผู้รับเงินปันผลทุกครั้ง ไม่เคยส่งคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ข้อกล่าวหาของผู้ร้องจึงคลาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นการคาดเดาลอยๆ

ให้ “บรรณพจน์” ยืมเงินซื้อหุ้น

ประเด็นที่ว่าพฤติการณ์ถือหุ้นชินคอร์ป โดยใช้ชื่อนายบรรณพจน์ จำนวน 38,090,050 หุ้น ถือแทน ได้จากการใช้สิทธิเพิ่มทุนเมื่อปี 2542 โดยใช้เงินผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าหุ้นโดยนายบรรณพจน์ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แต่ไม่เคยมีการชำระเงิน นั้น นายบรรณพจน์ ให้การว่า นายบรรณพจน์ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเอง แต่ไม่มีเงินเพียงพอ จึงได้ขอยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ 1 และได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 จำนวน 102,135,225 บาท ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ตั๋วสัญญาใช้เงินที่นายบรรณพจน์ ออกเพื่อชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านที่ 1จากหนี้รวม 450,385,225 บาท

ประเด็นที่กล่าวหาว่าหุ้นในชื่อนายบรรณพจน์ ได้รับเงินปันผล 1,746,831258 บาท และส่งคืนผู้คัดค้านที่ 1 จนครบ 450,385,225 บาท เก็บเงินปันผลที่เหลือ 1,296,446,033 บาท ไว้ในบัญชีนายบรรณพจน์ ตลอดมานั้น ขอชี้แจงว่า หุ้นชินคอร์ปฯ เป็นของนายบรรณพจน์ ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือให้ถือแทน ส่วนเงิน 450,385,225 บาท นั้น นายบรรณพจน์ชำระตามตั๋วสัญญาใช้เงินและหนี้ค่าซื้อหุ้น ซึ่งเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริง

ประเด็นที่กล่าวหาว่า ในวันที่ 23 มกราคม 2549 ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ได้รวมหุ้นทั้งหมดขายให้เทมาเส็กในนามของนายบรรณพจน์ได้เงิน 17,709,802,575 แล้วเงินปันผลที่เหลือทั้งหมดกับเงินค่าหุ้นมาฝากไว้ในบัญชีนายบรรณพจน์ ก่อนทยอยโอนไปยังผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ปราศจากความเป็นจริงไม่ขายรับฟังได้ เพราะการขายหุ้นชินฯ นายบรรณพจน์ เป็นผู้รวบรวมตกลงซื้อขาย ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเงินที่ได้จากการขายหุ้นได้นำฝากเข้าบัญชีผู้มีกรรมสิทธิ์ในหุ้นทุกคน เมื่อนายบรรณพจน์ได้เงินแล้วจึงบริหารจัดการ โดยเฉลี่ยความเสี่ยงในการฝากเงิน และเบ่งลงทุนในกิจการส่วนตัว ไม่มีเงินส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 1

โบ้ย “แก้วสรร” เป็นปฏิปักษ์ไม่เป็นธรรม

ประเด็นกล่าวหาของนายแก้วสรร ที่ว่า คตส.ไม่คิดเรื่องยึดทรัพย์ แต่เมื่อตรวจสอบเรื่องหุ้นชินคอร์ป ได้พยานหลักฐานจากนางกาญจนาภา เป็นเอกสารใบรับฝากหุ้นชินคอร์ปฯ ของแอมเพิลริช เอาไปให้ธนาคายูเอสบี ดูแลออกใบรับฝากหุ้น ปรากฎผู้มีอำนาจลงนามคือ ที-ชินวัตร นั้น คำให้การของนายแก้วสรร แสดงให้เห็นทัศนคติความเป็นปฎิปักษ์ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ครอบครัวและญาติ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการดำเนินคดีร่ำรวยผิดปกติของ คตส.ที่ไม่ใช้หลักยุติธรรม แต่ใช้การคาดเดา เพราะเอกสารดังกล่าวนางกาญจนาภา เจตนาส่งให้ คตส.เพื่อชี้ให้เห็นว่า บ.แอมเพิลริช ที่ผู้ถูกกล่าวหาตั้งขึ้นและมีอำนาจลงนามต่อธนาคารยูบีเอส ในปี 2542 ซึ่งปรากฎจากการไต่สวนของศาลฎีกาแล้วว่า ผู้ถูกล่าวหาได้โอนขายหุ้นแอมเพิลริช ให้กับบุตรชาย 1 หุ้น ราคา 1 เหรียญ ซึ่งเป็นหุ้นทั้งหมดในวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีสิทธิใน บ.แอมเพิลริช เป็นการใช้ทฤษฎีวัวของนายแก้วสรรที่ก่อตั้งขึ้นมาเอง

ยกเป็นทรัพย์สินก่อนแม้วเล่นการเมือง

ในประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ท้ายคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกตินั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ขอเรียนว่า เป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อปี 2544-2550 ในฐานะคู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ และเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฎิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่

ประเด็นกล่าวหาว่าแม้ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ถือว่าการกระทำของคู่สมรสเป็นการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ได้รู้เห็นโดยตลอดจึงเป็นทรัพย์เกี่ยวข้อง ขอให้ยึดเงินจากการขายหุ้นจำนวน 70,864,879,416 บาท และเงินปันผลจำนวน 7,011,716,983 บาท นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 กราบเรียนว่า หุ้นชินคอร์ปนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาและถือครองมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2543 จึงได้โอนขายให้แก่นายพานทองแท้และนายบรรณพจน์ จำนวน 69,300,000 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 10 บาท ไม่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้การไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่เคยเห็นด้วยกับการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหา นอกจากนี้พยานในชั้นไต่สวนของศาลฎีการับฟังเป็นที่ยุติว่า หุ้นชินคอร์ปฯ มีราคาขึ้นลงสอดคล้องกับ ดัชนี ตลท. ตามสภาวเศรษฐกิจตามปกติ ที่ผู้ร้องอ้างว่าหุ้นชินคอร์ปฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา จึงขัดต่อพยานหลักฐาน

การที่ผู้ร้องขอให้ยึดเงินจากการขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็ก จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับหุ้นดังกล่าวไม่ใช้หุ้นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 กรณีจึงไม่สามารถยึดเงินดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นได้กฎหมาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ยกคำร้องและมีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ทนายความของนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา จะเข้ายื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาเช่นกัน ส่วนนายบรรณพจน์ ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อัยการแถลงปิดคดีหนา 121 หน้า

ต่อมาเวลา 14.000 น.วันเดียวกันนายวิโรจน์ ศรีดุษฎี อัยการจังหวัดประจำกรมสำนักงานคดีพิเศษ หนึ่งในคดีทำงานอัยการได้เดินทางมายื่นคำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท เช่นกัน ทั้งนี้คำแถลงการณ์มีความหน้า 121 หน้า ทั้งนี้ นายวิโรจน์ไม่ยอมให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

ยันหลักฐาน “ทักษิณ” ร่ำรวยผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานรายละเอียดคำแถลงการณ์ปิดคดีของคณะทำงานอัยการว่า คดีนี้อัยการร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ได้มาจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่าง ประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน สืบเนื่องจาก ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี2วาระลงวันที่ 9 ก.พ. 44 และวันที่ 9 มี.ค. 48 ได้ปกปิดการถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัดมหาชน จำนวน 1,419,490,150 หุ้น เป็นเงินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มากจากการขัดกันระหว่าง ประโยชน์ส่วนบุคลและประโยชน์ส่วนรวม เป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติคิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและ คู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงโดยปกปิดและอำพรางหุ้นไว้ ในชื่อนายพานทองแท้ชินวัตร น.ส.พิณทองทาชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน

ในประเด็นข้อกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 35 และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ พ.ศ.2543 ข้อ 27 กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาและ ผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์ว่า ทรัพย์สินที่อัยการสูงสุดร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือ มิได้เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ

ในส่วนประเด็นข้อเท็จจริงแยกได้ 2 ประเด็น คือ การปกปิดอำพรางหุ้น ชินคอร์ปฯ กับ หุ้นบริษัทอื่นๆ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ปกปิดอำพรางการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ซึ่งบริษัทชินคอร์ปฯ เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมจากรัฐ เมื่อคตส. ตรวจสอบการถือครองหุ้น พบว่าบริษัทชินคอร์ป ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมจากรัฐตามสัญญา ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 ก.ย. 43 และบริษัทชินคอร์ปฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 42.90 ในบริษัทเอไอเอส

เชื่อคนในครอบครัวไม่มีการซื้อขายหุ้นกันจริง

นอกจากนั้น บริษัท เอไอเอส ยังเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 90 ในบริษัทดิจิตอลโฟน และบริษัทชินคอร์ปฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรียังคงไว้ซึ่งหุ้น บริษัทชินคอร์ปฯ กล่าวคือวันที่ 10 เม.ย. 41 ก่อนเป็นนากรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถือหุ้นจำนวน 32,920,000 หุ้น ขณะที่ นางพจมาน ชินวัตร(ภรรยาขณะนั้น) ถือหุ้น 34,650,000 หุ้น โดยเมื่อปี 42 มีการเพิ่มทุน ทำให้วันที่12 เม.ย. 42 พ.ต.ท.ทักษิณ มีหุ้นเพิ่มเป็นจำนวน 65,840,000 หุ้น ขณะที่ นางพจมาน มีหุ้น 69,300,000 หุ้น รวมหุ้นทั้งสองคิดเป็นจำนวน 48.75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ต่อมาทั้งสองมีการโอนหุ้นดังนี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 42 พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นจำนวน 32,920,000 หุ้น ให้แก่บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด , 1 ก.ย. 43 พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นให้แก่ นายพานทองแท้จำนวน30,920,000 หุ้น และ โอนหุ้นให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2,000,000 หุ้น , 1ก.ย. 43 คุณหญิงพจมาน โอนหุ้นให้พานทองแท้ 42,475,000 หุ้น และ โอนหุ้นให้ นายบรรณพจน์ จำนวน 26,825,000 หุ้น และเมื่อ รวมกับที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทำให้ นายบรรณพจน์ มีหุ้นทั้งสิ้น 33,634,150 หุ้น

ต่อมา วันที่ 24 ส.ค. 44 บริษัทชินคอร์ป จดทะเบียนลดมูลค่าหุ้นลงจากหุ้นละ 10 บาท เหลือหุ้นละ 1 บาท ทำให้ผู้ถือหุ้นแทนดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า เป็นดังนี้ นายพานทองแท้ ที่ถือหุ้นแทนจำนวน 733,950,000 หุ้น ต่อมาวันที่ 9 ก.ย.45 และ 17 พ.ค. 46 นายพานทองแท้ โอนหุ้นให้แก่ น.ส.พิณทองทา ถือหุ้นแทน จำนวน 440,000,000 หุ้น คงเหลือหุ้นในนามของนายพานทองแท้ จำนวน 293,950,000 หุ้น, นายบรรณพจน์ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น , นางสาวยิ่งลักษณ์ ถือหุ้นแทน 20,000,000 หุ้น บริษัทแอมเพิลริชฯ ถือหุ้นจำนวน 329,200,000 หุ้น ต่อมา20 ม.ค.49 บริษัท แอมเพิลริช โอนหุ้นให้ น.ส.พิณทองทา ถือหุ้นแท่นจำนวน 164,600,000 หุ้น และ โอนหุ้นให้ นายพานทองแท้ ถือหุ้นแทนอีก จำนวน 164,600,000 หุ้น

สรุปได้ว่า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจน์มาน ภรรยา มี ถือหุ้นแทน ดังนี้ 1.นายพานทองแท้ จำนวน 458,550,000 หุ้น 2.น.ส.พิณทองทา จำนวน 604,600,000 หุ้น 3.นายบรรณพจน์ จำนวน 336,340,150 หุ้น และ 4. น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 20,000,000 หุ้น รวมทั้งสิ้น 1,419,490,150 หุ้น

โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของนายบรรณพจน์รวมถึงการโอนหุ้นให้แก่นายพานทองแท้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายบรรณพจน์ นั้นเชื่อว่า ไม่มีการซื้อขายกันจริง แต่เป็นการทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่ามีการซื้อขายเท่านั้น และตั๋วสัญญาใช้เงินเชื่อว่าเป็นการจัดทำขึ้นภายหลัง หุ้นดังกล่าวยังคงเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจน์มาน

ยัน แอมเพิลริช-วินมาร์คของ “ทักษิณ”

บริษัท แอมเพิลริชฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว ได้ระบุว่า ได้ขายหุ้นของบริษัทให้แก่นายพานทองแท้ ในราคา 1,000,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 43 มีเพียงหนังสือของนายพานทองแท้ โดยลำพังเท่านั้น ที่แจ้งต่อ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 6 ปี จึงมีการมาแจ้ง แต่เมื่อ ก.ล.ต.ตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงเพียงว่า นายพานทองแท้ ที่ยอมรับว่า ได้ซื้อและเข้าถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ที่สนับสนุนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โอนหุ้นให้แก่ นายพานทองแท้จริง สอดคล้องกันกับการตรวจสอบของ ดีเอสไอ. และ ก.ล.ต. ที่มีหลักฐานว่า บริษัทวินมาร์ค จำกัด เป็นนิติบุคคลอำพราง การถือหุ้น หรือนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจน์มาน เมื่อหุ้นชินคอร์ปฯ ที่ถือโดยบริษัท แอมเพิลริช และ หุ้นชินคอร์ปที่ถือโดยบริษัท วินมาร์ค มาฝากรวมกันที่ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากทม. เมื่อวันที่ 21 ส.ค.44 จึงทำให้หุ้นมีมูลค่า เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว แสดงว่า ในเดือน ส.ค.44 พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นเจ้าของบริษัท แอมเพิลริชฯ อยู่ ที่อ้างว่า ได้โอนขายให้แก่ นายพานทองแท้เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.43 นั้นฟังไม่ขึ้น ซึ่งการชำระเงินค่าซื้อขายหุ้นเป็นการจ่ายเงินผ่านบัญชีของคุณหญิงพจน์มานทั้งสิ้น

ดังนั้น หลักฐานจากการไต่สวนหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวนกว่า ร้อยละ 48 ที่จำหน่ายได้ ยังเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจน์มานที่มีผู้มีชื่อดังกล่าวถือหุ้นไว้แทน การที่ พ.ตท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี 2 วาระ นั้นยังคงถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้น และ พ.ต.ท.ทักษิณไม่แสดงรายการหุ้นดังกล่าวแก่ ป.ป.ช. ต่อมาวันที่ 23 ม.ค.49 พ.ต.ท.ทักษิณได้ขายหุ้นให้แก่ กลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศ สิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และ บริษัท แอสแพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ซื้อจำนวน 69,722,880,932.05 บาท และตั้งแต่ปี 46-48 บริษัทชินคอร์ปได้จ่ายเงินปันผลเป็นเงิน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับจากหุ้นทั้งหมดจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ทรัพย์ดังกล่าวเป็นการได้มาโดยไม่สมควร

นอกจากนี้ จากพยานหลักฐานยังฟังได้ว่า บริษัท วินมาร์ค และบริษัท แอมเพิลริช เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยให้บุตรและเครือญาติถือหุ้นแทน โดยการซื้อขายกันนั้นเป็นราคาต้นทุนที่ซื้อขายต่ำกว่าราคาตลาดเป็นอันมาก และการซื้อขายจะไม่มีการชำระเงินจากผู้ซื้ออย่างแท้จริง แต่จะใช้วิธียืมเงินผู้ขายหรือ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยเงินปันผลทั้งหมดต้องส่งคืนให้กับ พ.ต.ททักษิณ และคุณหญิงพจน์มาน ทั้งหมด

“ทักษิณ” เอื้อประโยชน์บริษัทในเครือ

ระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ยังได้เอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัทในเครือ 5 กรณีคือ 1. การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษี สรรพสามิต 2.การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ 27 มี.ค. 33 (ครั้งที่6) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 44 ปรับลดอัตราส่วนแบ่ง รายได้จากให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงิน 3. การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฉบับลงวันที่ 27มี.ค.33 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 45 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับและ กรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัท เอไอเอส 4.ละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการ ดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัท ชินแซทฯ

5.กรณีอนุมัติให้รัฐบาลพม่า กู้เงินจำนวน 4,000,000,000 บาท จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทฯ

โดยมีมาตรการเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ป ทั้ง 5 ประการล้วนแต่มีลักษณะไม่สมเหตุผล บิดเบือนหลีกเลี่ยงขั้นตอนการตรวจสอบของกฎหมาย สร้างความเสียหายต่อส่วนรวมอย่างร้านแรง จนทำให้วินิจฉัยได้ว่า เป็นประโยชน์โดยมิชอบที่ฝ่ายบริหาร ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดูแลรับผิดชอบ จงใจเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนโดยเฉพาะ ในส่วนผู้คัดค้านทั้ง 22 คน การไต่สวนของศาล กรณีทรัพย์สินตามที่ คตส.สั่งอายัดไว้จำนวน 73,667,987,902.60 บาท พร้อมดอกผล ซึ่งได้รับแจ้งยืนยันสามารถอายัดเงินและทรัพย์สินไว้ได้บางส่วนรวมเป็นเงิน 66,762,927,024.25 บาทนั้น ผู้คัดค้านที่ 1-6, 9-16, 18 และ 20-22 ต่างเบิกความประกอบการไต่สวนว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้รับจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ตามที่ คตส.มีมติเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และให้ร้องขอศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินคดีนี้จริง จึงขอศาลมีคำสั่งให้ผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว ส่งเงินหรือทรัพย์สินที่ คตส.อายัดไว้แก่กระทรวงการคลัง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอศาลโปรดพิจารณามีคำสั่งยกคำคัดค้านของพ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านที่ 1-6 , 9-16, 18 และ 20-22 และสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลอันเป็นทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้มาจากการกระทำ ที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม และได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจรติ พ.ศ.2542 มาตรา 81 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 33, 35 ในส่วนผู้คัดค้านที่ 7, 8, 11 และ 19 คตส.ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัติแล้ว ซึ่งผู้ร้องได้แถลงให้ศาลทราบแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คำแถลงปิดคดีของฝ่ายพนักงานอัยการมีจำนวน 121 หน้า โดยมีนายเสกสรร บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร, นายวินัย ดำรงมงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ, นายนันศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย, นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และนายวิโรจน์ ศรีดุษฎี อัยการจังหวัดประจำกรมสำนักงานคดีพิเศษเป็นผู้เรียบเรียง
กำลังโหลดความคิดเห็น