xs
xsm
sm
md
lg

"หญิงอ้อ"อ้างวินมาร์ค เศรษฐีดูไบเป็นเจ้าของ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“หญิงอ้อ” อดีตเมียแม้วมอบทนาย แถลงร้องค้านปิดคดียึดทรัพย์ ยก 16 ประเด็นสู้ ยันการซื้อขายหุ้นทุกขั้นตอนทำถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกล่าวหาคำให้การ"แก้วสรร"ไม่เป็นความจริง พิลึก! โบ้ยมีเศรษฐีดูไบเป็นเจ้าของ “วินมาร์ค” ขณะที่อัยการ ยื่นปิดคดี ยันละเอียดขั้นตอนมหาโกง เชื่อคนในครอบครัวไม่ทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นกันจริง

วานนี้(9 ก.พ.)เวลา 13.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมพร พงษ์สุวรรณ ทนายความคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้คัดค้านที่ 1 ได้ยื่นคำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกาฯนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ. เวลา 13.30 น. โดยนายสมพรกล่าวว่า ได้ยื่นแถลงปิดคดีทั้งหมด 16 ประเด็น เป็นการหักล้างข้อกล่าวหาของผู้ร้องและประเด็นนำสืบต่างๆ โดยมั่นใจในพยานหลักฐานที่ได้นำสืบในชั้นไต่สวนของศาลฎีกามีน้ำหนักเพียงพอให้ศาลวินิจฉัย ทั้งประเด็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ยึดทรัพย์คุณหญิงพจมาน จำนวนกว่า 1 พันล้านบาทเศษ ซึ่งประกอบด้วย เงินสด เงินฝาก และพันธบัตรนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีมาก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯถูกต้องตามกฎหมาย

ตามคำแถลงปิดคดีของคุณหญิงพจมาน สรุปว่า ประเด็นที่อัยการสูงสุดผู้ร้อง กล่าวหาว่า คุณหญิงพจมานผู้คัดค้านที่ 1 และ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ยังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ผ่านบุตร ญาติ พี่น้อง นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ได้นำนายพานทองแท้ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ให้การยืนยันชัดเจนว่าหุ้นชินคอร์ปของผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาโดยสุจริตมาตั้งแต่ปี 2526 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยการซื้อจากการเพิ่มทุน กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 มีหุ้นอยู่ 69,300,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาทและได้ขายให้แก่นายพานทองแท้ และนายบรรณพจน์ โดยได้ทำการโอนขายอย่างถูกกฎหมาย มีเจตนาในการซื้อขายหุ้นกันจริง และมีการชำระค่าหุ้นกันจริง จึงได้โอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้รับโอนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)แล้ว ส่วนคำเบิกความของนายแก้วสรร อติโพธิ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้นเป็นพยานที่ไม่ความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟ้องได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้นายพานทองแท้และนายบรรณพจน์ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 จึงไม่มีพฤติการณ์คงไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปฯ ตามที่ อสส. และ คตส. กล่าวหา และเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อพยานที่ได้จากการไต่สวนของศาลฎีกาฯ

**อัด"แก้วสรร"ให้การไม่เป็นความจริง

ประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระเงินจากนายพานทองแท้ เกินกว่ามูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินชำระค่าหุ้น และนายพานทองแท้ได้คืนเงินปันผลที่นายพานทองแท้ได้รับจากชินคอร์ปฯ นั้น ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพยานของศาลฎีการับฟังได้ว่า นายพานทองแท้ ได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่เป็นหนี้ผู้คัดค้าน จำนวน 5,056,348,840 ล้านบาทตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 4 ฉบับ คือ หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินค่าซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ 424,750,000 บาท หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินค่าซื้อหุ้นชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) 37,249,340 บาท หนี้ค่าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 4,500,000,000 บาท หนี้ค่าซื้อหุ้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 94,459,000 ล้านบาท ส่วนคำให้การของนายแก้วสรร พยานฝ่ายผู้ร้องให้การเกี่ยวกับการชำระหนี้ข้างต้นโดยไม่มีพยานหลักฐาน การที่ผู้ร้องกล่าวหาประเด็นนี้ จึงไม่เป็นความจริงและขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนอย่างชัดเจน

**ซื้อขายหุ้นให้ลูกโอ๊คในฐานะทายาท

ประเด็นที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ 1 ขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้และนายบรรณพจน์ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงราคาหุ้นละ 15 เท่า นั้น ผู้คัดค้านขอชี้แจงว่า การขายหุ้นระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับนายพานทองแท้ เป็นการซื้อขายกันในฐานะทายาท ซึ่งเป็นบุตรคนโตที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ให้สืบทอดธุรกิจที่ได้สร้างมาด้วยนำพักน้ำแรงของครอบครัว เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาเข้าทำงานการเมืองอย่างเต็มที่ จึงได้ขายหุ้นให้นายพานทองแท้ ในราคาทุน และสอนให้ลูกรู้คุณค่าของทรัพย์สินว่าการทำธุรกิจไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ โดยการซื้อขายระหว่างแม่กับลูก ไม่ได้พิจารณาว่าหุ้นจะมีราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาตลาด สรุปแม้นายพานทองแท้จะได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นก็เป็นเรื่องของความเป็นแม่กับลูก ที่เอื้ออาทรมากกว่าบุคคลทั่วไป รวมทั้งกรณีที่ขายหุ้นให้กับนายบรรณพจน์ ที่ได้ร่วมก่อตั้ง บ.ชินคอร์ปฯ และช่วยเหลือเกื้อกูลมาตั้งแต่เด็ก ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดหักล้างพยานผู้คัดค้านที่ 1 ข้อกล่าวหาผู้ร้องจึงเป็นเพียงการคาดเดาลอยๆ

**พิลึกอ้างคำรับรองศาลดูไบต่อสู้

ในประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่าเงินปันผลที่ น.ส.พินทองทา ได้รับจาก บ.ชินคอร์ปฯ แล้วส่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 485,829,800 โดยทำเป็นจ่ายค่าซื้อหุ้น บ.อสังหาริมทรัพย์ 5 บริษัท จาก บ.วินมาร์ค จำกัด โดยใช้ชื่อ น.ส.พิน ทองทา เป็นผู้ถือหุ้นแทนผู้คัดค้านที่ 1 นั้น มีพยานเอกสารของนายมาห์มู๊ด โมฮัมหมัด อัล อันซารี ซึ่งเป็นคำชี้แจงโดยรับรองจากศาลดูไบ ยืนยันว่า นายมาห์มู๊ด เป็นเจ้าของ บ.วินมาร์คที่แท้จริงเพียงผู้เดียว และได้ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทของครอบครัวชินวัตรที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในปี 2543 และได้รับการโอนหุ้นมาจากธนาคาร UBS AG สาขาสิงคโปร์ในปี 2544 บ.วินมาร์คจึงไม่ได้เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกร้องและผู้คัดค้านที่ 1 และ น.ส.พินทองทา ไม่เคยส่งเงินปันผลคืนให้กับผู้คัดค้านที่ 1 โดย น.ส.พินทองทา เบิกความว่า นำไปฝากในบัญชีและนำไปใช้สอย

ประเด็นที่ว่าผู้มีชื่อทั้งปวงไม่ได้รับเช็คค่าเงินปันผลหุ้นชินคอร์ปฯ ด้วยตัวเองแต่กลับนำเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 มาโดยตลอด นั้น บุตรชาย บุตรสาว น้องสะใภ้ และพี่ชายบุญธรรม ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้น ได้เบิกความประกับเอกสารยืนยันว่าเป็นผู้รับเงินปันผลทุกครั้ง ไม่เคยส่งคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ข้อกล่าวหาของผู้ร้องจึงคลาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นการคาดเดาลอยๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 10 ก.พ.ทนายความของ นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา จะเข้ายื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาเช่นกัน ส่วนนายบรรณพจน์ ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา

**อัยการยันหลักฐานร่ำรวยผิดปกติ

ต่อมาเวลา 14.000 น.วันเดียวกันนายวิโรจน์ ศรีดุษฏี อัยการจังหวัดประจำกรมสำนักงานคดีพิเศษ หนึ่งในคดีทำงานอัยการได้เดินทางมายื่นคำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท เช่นกันทั้งนี้คำแถลงการณ์มีความหน้า 121 หน้า ทั้งนี้นายวิโรจน์ไม่ยอมให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานรายละเอียดคำแถลงการณ์ปิดคดีของคณะทำงานอัยการว่า คดีนี้อัยการร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ได้มาจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่าง ประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน สืบเนื่องจาก ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี2วาระลงวันที่ 9 ก.พ. 44 และวันที่ 9 มี.ค. 48 ได้ปกปิดการถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัดมหาชน จำนวน 1,419,490,150 หุ้น เป็นเงินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มากจากการขัดกันระหว่าง ประโยชน์ส่วนบุคลและประโยชน์ส่วนรวม เป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติคิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและ คู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงโดยปกปิดและอำพรางหุ้นไว้ ในชื่อนายพานทองแท้ชินวัตร น.ส.พิณทองทาชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน

ในประเด็นข้อกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 35 และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ พ.ศ.2543 ข้อ 27 กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาและ ผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์ว่า ทรัพย์สินที่อัยการสูงสุดร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือ มิได้เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ

ในส่วนประเด็นข้อเท็จจริงแยกได้ 2 ประเด็นคือ การปกปิดอำพรางหุ้น ชินคอร์ปฯ กับ หุ้นบริษัทอื่นๆ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ปกปิดอำพรางการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ซึ่งบริษัทชินคอร์ปฯ เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมจากรัฐ เมื่อคตส. ตรวจสอบการถือครองหุ้น พบว่าบริษัทชินคอร์ป ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมจากรัฐตามสัญญา ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 ก.ย. 43 และบริษัทชินคอร์ปฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 42.90 ในบริษัทเอไอเอส

**เชื่อคนในครอบครัวไม่ซื้อขายหุ้นกันจริง

นอกจากนั้น บริษัทเอไอเอส ยังเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 90 ในบริษัทดิจิตอลโฟน และบริษัทชินคอร์ปฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรียังคงไว้ซึ่งหุ้น บริษัทชินคอร์ปฯ กล่าวคือวันที่ 10 เม.ย. 41 ก่อนเป็นนากรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถือหุ้นจำนวน 32,920,000 หุ้น ขณะที่ นางพจมาน ชินวัตร(ภรรยาขณะนั้น) ถือหุ้น 34,650,000 หุ้น โดยเมื่อปี 42 มีการเพิ่มทุน ทำให้วันที่12 เม.ย. 42 พ.ต.ท.ทักษิณ มีหุ้นเพิ่มเป็นจำนวน 65,840,000 หุ้น ขณะที่ นางพจมาน มีหุ้น 69,300,000 หุ้น รวมหุ้นทั้งสองคิดเป็นจำนวน 48.75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ต่อมาทั้งสองมีการโอนหุ้นดังนี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 42 พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นจำนวน 32,920,000 หุ้น ให้แก่บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด , 1 ก.ย. 43 พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นให้แก่ นายพานทองแท้จำนวน30,920,000 หุ้น และ โอนหุ้นให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2,000,000 หุ้น , 1ก.ย. 43 คุณหญิงพจมาน โอนหุ้นให้พานทองแท้ 42,475,000 หุ้น และ โอนหุ้นให้ นายบรรณพจน์ จำนวน 26,825,000 หุ้น และเมื่อ รวมกับที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทำให้ นายบรรณพจน์ มีหุ้นทั้งสิ้น 33,634,150 หุ้น

สรุปได้ว่า ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจน์มาน ภรรยา มี ถือหุ้นแทน ดังนี้ 1.นายพานทองแท้ จำนวน 458,550,000 หุ้น , 2.น.ส.พิณทองทา จำนวน 604,600,000 หุ้น , 3.นายบรรณพจน์ จำนวน 336,340,150 หุ้น และ 4. น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 20,000,000 หุ้น รวมทั้งสิ้น 1,419,490,150 หุ้น

โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของนายบรรณพจน์รวมถึงการโอนหุ้นให้แก่นายพานทองแท้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายบรรณพจน์ นั้นเชื่อว่า ไม่มีการซื้อขายกันจริง แต่เป็นการทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่ามีการซื้อขายเท่านั้น และตั๋วสัญญาใช้เงินเชื่อว่าเป็นการจัดทำขึ้นภายหลัง หุ้นดังกล่าวยังคงเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจน์มาน

**ยัน แอมเพิลริชฯวินมาร์คของ ทักษิณ

ดังนั้น หลักฐานจากการไต่สวนหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวนกว่า ร้อยละ 48 ที่จำหน่ายได้ ยังเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจน์มานที่มีผู้มีชื่อดังกล่าวถือหุ้นไว้แทน การที่ พ.ตท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี 2 วาระ นั้นยังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 1,419,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้น และ พ.ต.ท.ทักษิณไม่แสดงรายการหุ้นดังกล่าวแก่ ปปช. ต่อมาวันที่ 23 ม.ค. 49 พ.ต.ท.ทักษิณได้ขายหุ้นให้แก่ กลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศ สิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และ บริษัทแอสแพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ซื้อจำนวน 69,722,880,932.05 บาท และตั้งแต่ปี 46-48 บริษัทชินคอร์ปฯ ได้จ่ายเงินปันผลเป็นเงิน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับจากหุ้นทั้งหมดจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ทรัพย์ดังกล่าวเป็นการได้มาโดยไม่สมควร
กำลังโหลดความคิดเห็น