มหากาพย์ "ยึดทรัพย์" ตอน 4 "อัยการตอกตะปูปิดฝาโลง"
ภายหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ให้ญาติและพวกพ้องขึ้นเบิกความคัดค้านการยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทแล้ว ดูเหมือนว่า หนทางแห่งการชนะคดีจะริบหรี่ลงทุกวัน แม้ตัวเขาให้เหล่าญาติต่อสู้ตามขั้นตอนในชั้นศาลแล้ว ขณะเดียวกัน ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่คอยสร้างความกดดันให้กับประเทศชาติด้วย
วันนี้ จะไปดูการปิดแถลงคดีของอัยการ ที่เชื่อมั่นว่า คดีนี้ จะไม่กลายเป็นมวยล้มค่อนข้างแน่นอน เพราะผลงานของอัยการที่ผ่านมาทั้งคดีกล้ายาง คดีหวยบนดิน ก็ทำให้คนไทยเคลือบแคลงสงสัยกันมาค่อนข้างประเทศแล้ว คดีนี้ จึงถือเป็นการ"กู้หน้า"อัยการ อันเป็นทนายของแผ่นดิน ที่จะต้องทวงคืนทุกบาททุกสตางค์กลับมาให้ตกเป็นของแผ่นดินสืบไป
บ่ายวันที่ 9 ก.พ. 53 อัยการ สำนักงานคดีพิเศษ หอบคำแถลงปิดคดี 121 หน้าขึ้นแถลงปิดคดีต่อศาล เสมือนหนึ่งเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงเป็นครั้งสุดท้าย ใจความคำแถลงปิดคดีสรุปได้ว่า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี 2 วาระลงวันที่ 9 ก.พ. 44 และวันที่ 9 มี.ค. 48 ได้ปกปิดการถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัดมหาชน จำนวน 1,419,490,150 หุ้น เป็นเงินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มากจากการขัดกันระหว่าง ประโยชน์ส่วนบุคลและประโยชน์ส่วนรวม เป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติคิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและ คู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงโดยปกปิดและอำพรางหุ้นไว้ ในชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พิณทองทา ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน
ในส่วนประเด็นข้อเท็จจริงแยกได้ 2 ประเด็น คือ การปกปิดอำพรางหุ้น ชินคอร์ปฯ กับ หุ้นบริษัทอื่นๆ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ปกปิดอำพรางการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ซึ่งบริษัทชินคอร์ปฯ เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมจากรัฐ เมื่อ คตส. ตรวจสอบการถือครองหุ้น พบว่าบริษัทชินคอร์ป ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมจากรัฐตามสัญญา ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 ก.ย. 43 และบริษัทชินคอร์ปฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 42.90 ในบริษัทเอไอเอส
นอกจากนั้น บริษัท เอไอเอส ยังเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 90 ในบริษัทดิจิตอลโฟน และบริษัทชินคอร์ปฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรียังคงไว้ซึ่งหุ้น บริษัทชินคอร์ปฯ กล่าวคือวันที่ 10 เม.ย. 41 ก่อนเป็นนากรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถือหุ้นจำนวน 32,920,000 หุ้น ขณะที่ นางพจมาน ชินวัตร(ภรรยาขณะนั้น) ถือหุ้น 34,650,000 หุ้น โดยเมื่อปี 42 มีการเพิ่มทุน ทำให้วันที่12 เม.ย. 42 พ.ต.ท.ทักษิณ มีหุ้นเพิ่มเป็นจำนวน 65,840,000 หุ้น ขณะที่ นางพจมาน มีหุ้น 69,300,000 หุ้น รวมหุ้นทั้งสองคิดเป็นจำนวน 48.75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ต่อมาทั้งสองมีการโอนหุ้นดังนี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 42 พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นจำนวน 32,920,000 หุ้น ให้แก่บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด , 1 ก.ย. 43 พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นให้แก่ นายพานทองแท้จำนวน30,920,000 หุ้น และ โอนหุ้นให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2,000,000 หุ้น , 1ก.ย. 43 คุณหญิงพจมาน โอนหุ้นให้พานทองแท้ 42,475,000 หุ้น และ โอนหุ้นให้ นายบรรณพจน์ จำนวน 26,825,000 หุ้น และเมื่อ รวมกับที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทำให้ นายบรรณพจน์ มีหุ้นทั้งสิ้น 33,634,150 หุ้น
ต่อมา วันที่ 24 ส.ค. 44 บริษัทชินคอร์ป จดทะเบียนลดมูลค่าหุ้นลงจากหุ้นละ 10 บาท เหลือหุ้นละ 1 บาท ทำให้ผู้ถือหุ้นแทนดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า เป็นดังนี้ นายพานทองแท้ ที่ถือหุ้นแทนจำนวน 733,950,000 หุ้น ต่อมาวันที่ 9 ก.ย.45 และ 17 พ.ค. 46 นายพานทองแท้ โอนหุ้นให้แก่ น.ส.พิณทองทา ถือหุ้นแทน จำนวน 440,000,000 หุ้น คงเหลือหุ้นในนามของนายพานทองแท้ จำนวน 293,950,000 หุ้น, นายบรรณพจน์ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น , นางสาวยิ่งลักษณ์ ถือหุ้นแทน 20,000,000 หุ้น บริษัทแอมเพิลริชฯ ถือหุ้นจำนวน 329,200,000 หุ้น ต่อมา20 ม.ค.49 บริษัท แอมเพิลริช โอนหุ้นให้ น.ส.พิณทองทา ถือหุ้นแท่นจำนวน 164,600,000 หุ้น และ โอนหุ้นให้ นายพานทองแท้ ถือหุ้นแทนอีก จำนวน 164,600,000 หุ้น
สรุปได้ว่า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจน์มาน ภรรยา มี ถือหุ้นแทน ดังนี้ 1.นายพานทองแท้ จำนวน 458,550,000 หุ้น 2.น.ส.พิณทองทา จำนวน 604,600,000 หุ้น 3.นายบรรณพจน์ จำนวน 336,340,150 หุ้น และ 4. น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 20,000,000 หุ้น รวมทั้งสิ้น 1,419,490,150 หุ้น โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของนายบรรณพจน์รวมถึงการโอนหุ้นให้แก่นายพานทองแท้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายบรรณพจน์ นั้นเชื่อว่า ไม่มีการซื้อขายกันจริง แต่เป็นการทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่ามีการซื้อขายเท่านั้น และตั๋วสัญญาใช้เงินเชื่อว่าเป็นการจัดทำขึ้นภายหลัง หุ้นดังกล่าวยังคงเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน
บริษัท แอมเพิลริชฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว ได้ระบุว่า ได้ขายหุ้นของบริษัทให้แก่นายพานทองแท้ ในราคา 1,000,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 43 มีเพียงหนังสือของนายพานทองแท้ โดยลำพังเท่านั้น ที่แจ้งต่อ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 6 ปี จึงมีการมาแจ้ง แต่เมื่อ ก.ล.ต.ตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงเพียงว่า นายพานทองแท้ ที่ยอมรับว่า ได้ซื้อและเข้าถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ที่สนับสนุนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โอนหุ้นให้แก่ นายพานทองแท้จริง สอดคล้องกันกับการตรวจสอบของ ดีเอสไอ. และ ก.ล.ต. ที่มีหลักฐานว่า บริษัทวินมาร์ค จำกัด เป็นนิติบุคคลอำพราง การถือหุ้น หรือนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจน์มาน เมื่อหุ้นชินคอร์ปฯ ที่ถือโดยบริษัท แอมเพิลริช และ หุ้นชินคอร์ปที่ถือโดยบริษัท วินมาร์ค มาฝากรวมกันที่ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากทม. เมื่อวันที่ 21 ส.ค.44 จึงทำให้หุ้นมีมูลค่า เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว แสดงว่า ในเดือน ส.ค.44 พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นเจ้าของบริษัท แอมเพิลริชฯ อยู่ ที่อ้างว่า ได้โอนขายให้แก่ นายพานทองแท้เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.43 นั้นฟังไม่ขึ้น ซึ่งการชำระเงินค่าซื้อขายหุ้นเป็นการจ่ายเงินผ่านบัญชีของคุณหญิงพจน์มานทั้งสิ้น
ดังนั้น หลักฐานจากการไต่สวนหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวนกว่า ร้อยละ 48 ที่จำหน่ายได้ ยังเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจน์มานที่มีผู้มีชื่อดังกล่าวถือหุ้นไว้แทน การที่ พ.ตท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี 2 วาระ นั้นยังคงถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้น และ พ.ต.ท.ทักษิณไม่แสดงรายการหุ้นดังกล่าวแก่ ป.ป.ช. ต่อมาวันที่ 23 ม.ค.49 พ.ต.ท.ทักษิณได้ขายหุ้นให้แก่ กลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศ สิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และ บริษัท แอสแพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ซื้อจำนวน 69,722,880,932.05 บาท และตั้งแต่ปี 46-48 บริษัทชินคอร์ปได้จ่ายเงินปันผลเป็นเงิน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับจากหุ้นทั้งหมดจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ทรัพย์ดังกล่าวเป็นการได้มาโดยไม่สมควร
นอกจากนี้ จากพยานหลักฐานยังฟังได้ว่า บริษัท วินมาร์ค และบริษัท แอมเพิลริช เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยให้บุตรและเครือญาติถือหุ้นแทน โดยการซื้อขายกันนั้นเป็นราคาต้นทุนที่ซื้อขายต่ำกว่าราคาตลาดเป็นอันมาก และการซื้อขายจะไม่มีการชำระเงินจากผู้ซื้ออย่างแท้จริง แต่จะใช้วิธียืมเงินผู้ขายหรือ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยเงินปันผลทั้งหมดต้องส่งคืนให้กับ พ.ต.ททักษิณ และคุณหญิงพจน์มาน ทั้งหมด
คำแถลงปิดคดี ยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ระหว่างที่พ.ต.ท.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชินคอร์ป และบริษัทในเครืออีก 5 กรณี คือ1. การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษี สรรพสามิต 2.การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ 27 มี.ค. 33 (ครั้งที่6) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 44 ปรับลดอัตราส่วนแบ่ง รายได้จากให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงิน 3. การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฉบับลงวันที่ 27มี.ค.33 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 45 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับและ กรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัท เอไอเอส 4.ละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการ ดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัท ชินแซทฯ 5.กรณีอนุมัติให้รัฐบาลพม่า กู้เงินจำนวน 4,000,000,000 บาท จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทฯ
จึงขอศาลโปรดพิจารณามีคำสั่งยกคำคัดค้านของพ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านที่ 1-6 , 9-16, 18 และ 20-22 และสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลอันเป็นทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้มาจากการกระทำ ที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม และได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน
ล่าสุด อัยการยังแสดงความมั่นใจว่า หากศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ ทาง พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลโลก ตามที่เจ้าตัวเพ้อฝันได้อย่างเด็ดขาด หรือนี่ จะเป็นสัญญาณที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หมดหนทางทางไปเสียแล้ว