xs
xsm
sm
md
lg

แนะกำจัดจุดอ่อนฟื้นเชื่อมั่น-ภาพลักษณ์ ห่วงบ้านเมืองรู้สึกไม่ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะไทยเร่งกำจัดจุดอ่อน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน ชี้ สิ่งเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารที่ดีต่อกลุ่มนักลงทุน หอการค้าต่างประเทศ และสื่อต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหา น่าจะช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศได้ พร้อมระบุ จุดเปราะบางต่อนักลงทุน คือ ความรู้สึกไม่มั่นคงในความปลอดภัย และสภาพสังคมที่ขาดเสถียรภาพ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานสถานการณ์ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย โดยแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเสริมความน่าดึงดูด และฟื้นสถานะการเป็นประเทศเป้าหมายหลักของการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะภายหลังการเปิดตลาดการค้าเสรีในภูมิภาคอาเซียน จะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติสามารถลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้ ก่อนที่นักลงทุนจะตัดสินใจเปลี่ยนไปลงทุนในประเทศอื่นแทน หลังจากความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติต่อการลงทุนในประเทศไทยได้ถูกสั่นคลอนมาเป็นลำดับจากปัญหาทางการเมืองที่ส่อเค้ายืดเยื้อยาวนาน และปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในปัจจุบัน

จากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทย ให้ความสนใจลงทุนในไทยลดลง โดยโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่น ลดลงติดต่อเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 77,380 ล้านบาทในปี 2552 ลดลงร้อยละ 24.9 จาก 104,994 ล้านบาทในปี 2551 (ลดลงร้อยละ 30.9 จากปี 2550 ) และยังนับเป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งสัญญาณดังกล่าวเป็นทิศทางที่ไม่ดีนักต่อแนวโน้มการแข่งขันดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า ซึ่งกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นออกมาให้ความเห็นว่าไทยอาจไม่ใช่ประเทศที่น่าสนใจที่สุดอีกต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจัยลบต่างๆ เหล่านี้ ก่อให้เกิดข้อกังขาว่า ประเทศไทยได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและความน่าดึงดูดในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศแล้วจริงหรือไม่ และไทยควรจะทำอย่างไรเพื่อที่จะรักษาความน่าลงทุนของประเทศไว้ โดยหากดูจากรายงานของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) พบว่า หนึ่งในเรื่องที่นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นกังวลในลำดับต้นๆ ก็คือ ความรู้สึกไม่มั่นคงในความปลอดภัยและสภาพสังคมที่ขาดเสถียรภาพซึ่งเป็นผลมาจากภาวะความวุ่นวายทางการเมืองในระยะหลัง

อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยของโลกซึ่งทำให้ธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน ประกอบกับยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในระดับสูง จึงทำให้มีการตัดลดแผนการลงทุนลง

อย่างไรก็ตาม จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบันชั้นนำของโลกสะท้อนว่า อันดับการแข่งขันของไทยโดยเปรียบเทียบยังไม่ถึงกับแย่ลงมากนัก เพราะโดยภาพรวมแล้ว ไทยมีจุดแข็งในเรื่องเศรษฐกิจมหภาคที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐานและสาธารณสุข ตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่น ขนาดของตลาดสินค้า/บริการในประเทศ และโดยรวม ประเทศไทยค่อนข้างที่จะมีความง่ายในการจัดตั้งและทำธุรกิจ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ซึ่งไทยเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สิ่งเร่งด่วนที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งดำเนินการ คือ การประชาสัมพันธ์และการสื่อสารที่ดีต่อกลุ่มนักลงทุน หอการค้าต่างประเทศ และสื่อต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหา น่าจะช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศได้ในส่วนหนึ่ง โดยสำหรับกรณีปัญหามาบตาพุดอาจต้องใช้เวลาในการแก้ไขตามกระบวนการ

แต่สิ่งสำคัญนอกเหนือจากนั้น คือ ภาครัฐต้องเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ชี้แจงข้อมูลเพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลให้การใส่ใจดูแลและคุ้มครองกิจการที่เข้ามาลงทุนในประเทศอย่างเหมาะสม สำหรับข้อกังวลเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งยังมีความอ่อนไหว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกัน และต้องมีการเตรียมแผนสำรองเพื่อรับมือหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
กำลังโหลดความคิดเห็น