นายนูเนโนริ ยามาดา ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ญี่ปุ่น ในประเทศไทย หรือ เจโทร กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ หลังการเข้าพบนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 6 มกราคมนี้ ว่า ปัญหาการระงับโครงการลงทุน 64 โครงการในมาบตาพุด ส่งผลให้ภาพลักษณ์เมืองไทยสั่นคลอนในสายตานักลงทุนญี่ปุ่น และนักลงทุน จากประเทศอื่นๆ ซึ่งอดีตไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นในสายตานักลงทุนมากสุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียและอาเซียน แต่ปัจจุบันคงไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องเร่งแก้ไขปัญหามาบตาพุดโดยเร็วให้เห็นภาพชัดเจนภายใน 2-3 เดือน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา
ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมีบุญคุณกับประเทศไทยเสียเหลือเกิน ถ้าไปทำให้ขัดอกขัดใจ ไม่มาลงทุนอีกต่อไป ไทยจะลำบาก
เป็นความจริง ที่การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนจากญี่ปุ่น เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง นอกเหนือจากการส่งออก ที่ทำให้เศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ปี 2530 จนถึง 2539 ขยายตัวสูงมาก ทำให้คนมีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การลงทุนของญี่ปุ่นในไทย สูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากจีน และการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย สูงเป็นอันดับ 1 ในบรรดานักลงทุนต่างชาติทั้งหมด คิดเป็นประมาณ 30% ของมูลค่าการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย ไม่ใช่เพราะอยากช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่มาลงทุนเพราะ ประเทศไทยมั่นคง ปลอดภัย ค่าแรงถูก รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ยกเว้นภาษี ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และมีตลาดภายในขนาดใหญ่ ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าสำหรับญี่ปุ่น
การลงทุนครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นในไทย ระลอกแรก ใน พ.ศ 2528-2532 เกิดขึ้น เพราะ ญี่ปุ่น ถูกสหรัฐฯ และกลุ่ม จี 7 กดดันให้ปรับค่าเงินให้แข็งขึ้น ค่าเงินเยนที่อยู่ในอัตรา 250 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ ในขณะนั้น ทำให้สินค้าญี่ปุ่น ตีตลาดไปทั่วโลก เพราะราคาถูก ชาติตะวันตก จึงร่วมมือกันบีบญี่ปุ่น ให้ปรับค่าเยน
ค่าเงินที่สูงขึ้นถึง 70 % ภายในเวลาเพียง 10 เดือน ทำให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่น ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อลดต้นทุน ให้แข่งขันได้ในตลาดโลก หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือ ย้ายฐานการผลิตออกนอก ประเทศ ไปยังที่ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ
ประเทศไทยถูกเลือก เพราะทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ค่าแรงถูก โครงสร้างพื้นฐานพอใช้ได้ การเมืองมีเสถียรภาพ ไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และเชื้อชาติ เหมือนเพื่อนบ้าน ในยุคนั้น มีการค้นพบก๊าซธรรมขาติในอ่าวไทย ที่สำคัญ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นภาษี เอิ้อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทุกอย่างให้ต่างชาติ ขอให้มาลงทุนเถอะ อยากได้อะไร ให้หมด เพื่อประเทศไทย จะได้เป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย ที่มีจีดีพีสูงๆ
นักลงทุนญี่ปุ่นก็เลยแห่กันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในช่วงนั้น เมื่อรุ่นแรกที่เข้ามา ประสบความสำเร็จ มีกำไร รุ่นต่อๆก็ตามมา เป็นระลอกๆ จนถึงปัจจุบัน สมประโยชน์ด้วยกันทั้งฝ่ายผู้ที่ขนเงินมาลงทุน ได้กำไรกลับไป และ ฝ่ายที่ขายที่ดิน ขายแรงงาน ขายสิ่งแวดล้อม ได้เงินมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ
เงินลงทุนที่นักลงทุนญี่ปุ่น และนักลงทุนต่างชาติอื่นๆ ขนเข้ามา ไม่ใช่ของฟรี แต่มีต้นทุน ต้นทุนที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ คือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งสมัยก่อนไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ปัจจุบัน ในประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญแล้ว รวมทั้งญี่ปุ่น ต่างยอมรับในสิทธิของประชาชรน ที่จะต้องได้รับการปกป้องจากผลกระทบของโครงการลงทุนขนาดใหญ่
เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ญี่ปุ่นเองก็มี กรณีของ โรคมินามาตะ ซึ่งเกิดจากการได้รับสารปรอทที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงาน ชิชโช คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตสารโซดาไฟ ลงสู่ทะเลในเมืองมินามาตะ บนเกาะคิวชู ซึ่งเป็นพื้นที่การประมง คนที่บริโภคอาหารทะเลที่มีสารปรอทปนเปื้อน จะมีอาการมือไม้สั่น แขนขากระตุก ความจำเสื่อม เด็กที่เกิดมาโดยได้รับสารปรอทนี้ผ่านทางแม่ จะมีอาการพิการทางสมอง
นอกจากนั้น ยังมี โรคทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นผลจากก๊าซซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ ในอากาศ ในเขตอุตสาหกรรม และโรค อิไต อิไต ที่ทำลายกระดูกและไต โดยเกิดจากการสะสมของสารแคดเมียม ที่เหมืองแร่แห่งหนึ่ง ปล่อยลงแม่น้ำของจังหวัดโตมายะ ซึ่งชาวบ้านใช้น้ำ จากแม่น้ำมาปลูกข้าว
แต่ละกรณีที่เกิดขึ้น คนญี่ปุ่นต้องใช้เวลานับสิบๆปี ในการต่อสู้กับกลุ่มทุน และรัฐบาล เพื่อพิสูจน์ว่า เหตุมาจากมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งในที่สุดพิพากษาให้จ่ายค่าเสียหาย และทำให้ญี่ปุ่นเกิดความตื่นตัว ในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจาก โรงงานอุตสาหกรรม มีการออกกฎหมายสิ่งแวดล้อม และเป็นฉันทามติว่า ธรรมชาติ เป็นทรัพย์สมบัติสาธารณะ
มีตัวอย่างคำตัดสินในคดีที่เกี่ยวกับโรคมินามาตะ ที่เกิดจากสารปรอทในแม่น้ำ อะกาโน ของศาลจังหวัดนีกาตะ ตอนหนึ่งว่า
“แม้จะใช้เครื่องจักรระดับสูงเพียงใด แต่ในกรณีที่อาจมีอันตราย ก็จำต้องหยุดเดินเครื่อง ในบางส่วนหรือทั้งหมด ทั้งนี้ เนื่องจากโดยหลักแล้ว กิจการโรงงานอุตสาหกรรม ต้องดำเนินไป ในลักษณะสอดคล้องต้องประสานกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของชาวบ้านในย่านนั้นๆ เพราะ ไม่มีเหตุผลอันใด ในการปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจ จนต้องบวงสรวงสังเวย ด้วยสุขภาวะและชีวิตมนุษย์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสูงสุดและชัดแจ้ง ของชาวบ้านในย่านนั้นๆ” (คัดลอกจาก “ตุลาการภิวัฒน์ กับคดีมินามาตะในญีปุ่น" โดยพิเชษฐ์ เมาลานนท์ และคณะ ในเว็บไซต์ thaijusticereform.com)
ความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎระเบียบต่างๆ และการต่อต้านของประชาชน ทำให้อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูง ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่รัฐบาลปล่อยปละละเลย ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคมยังให้ความสำคัญกับ “ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน” มากกว่า “สุขภาวะและชีวิตของมนุษย์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสูงสุดและชัดแจ้งของชาวบ้านในย่านนั้น”
ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไทยในเรื่องมาบตาพุด ก็ไม่ต่างอะไรไปจากความตื่นตัวของคนญี่ปุ่น และสังคมญี่ปุ่น เมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ตระหนักถึงภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม คำตัดสินของศ่าลปกครองสูงสุดของไทย ในกรณี 64 โครงการมาบตาพุด ก็ยึดหลักเดียวกับศาลจังหวัดนีกาตะ ในคดีโรคมินามาตะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อบัญญัติ มาตรา 67 วรรค 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550
คำตัดสินของศาลปกครองไทย ไม่ได้ห้ามการลงทุนในมาบตาพุด แต่สั่งให้ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย ในยุคนี้ จะดูแต่เรื่อง อัตราค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ เท่านั้นไม่ได้อีกแล้ว ต้องคำนึงถึงกฎ กติกา ด้านสิ่งแวดล้อม เหมือนที่ญี่ปุ่นด้วย