xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนทั่วโลก ปํญหาและความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไทยมีจุดแข็งในเรื่องเศรษฐกิจมหภาคที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐานและสาธารณสุข ตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่น ขนาดของตลาดสินค้า/บริการในประเทศ และโดยรวม ประเทศไทยค่อนข้างที่จะมีความง่ายในการจัดตั้งและทำธุรกิจ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ไทยจะเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์”

ปัญหาการเมือง และปัจจัยลบอื่นๆ ภายในประเทศ ทำให้จากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทย ให้ความสนใจลงทุนในไทยลดลง โดยโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่น ลดลงติดต่อเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 77,380 ล้านบาทในปี 2552 ลดลงร้อยละ 24.9 จาก 104,994 ล้านบาทในปี 2551 (ลดลงร้อยละ 30.9 จากปี 2550 ) และยังนับเป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งสัญญาณดังกล่าวเป็นทิศทางที่ไม่ดีนักต่อแนวโน้มการแข่งขันดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า โดยหากดูจากรายงานของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) พบว่า หนึ่งในเรื่องที่นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นกังวลในลำดับต้นๆ ก็คือ ความรู้สึกไม่มั่นคงในความปลอดภัยและสภาพสังคมที่ขาดเสถียรภาพซึ่งเป็นผลมาจากภาวะความวุ่นวายทางการเมืองในระยะหลัง

การลงทุนของญี่ปุ่นที่ลดลงนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยของโลกซึ่งทำให้ธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน ประกอบกับยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในระดับสูง จึงทำให้มีการตัดลดแผนการลงทุนลง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค พบว่าในขณะที่การลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ลดลงไปค่อนข้างมาก แต่ในหลายประเทศในเอเชีย มูลค่าการลงทุนกลับเพิ่มขึ้นหรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

ภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์.. สะท้อนความสนใจลงทุนยังมีอยู่


ทั้งนี้ ในอีกด้านหนึ่ง จะเห็นได้ว่าความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทยยังมีอยู่มากโดยมูลค่าของโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 2552 กลับเพิ่มขึ้นมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง 723,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.5 โดยโครงการลงทุนจากต่างประเทศมีมูลค่า 350,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 จากมูลค่า 297,461 ล้านบาทในปีก่อน

สาเหตุสำคัญของการพุ่งขึ้นของยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนอาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการที่นักลงทุนเร่งยื่นคำขอก่อนที่มาตรการพิเศษเพื่อเร่งรัดการลงทุนตามนโยบายปีแห่งการลงทุน 2551-2552 ของบีโอไอ จะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการปรับตัวของบริษัทข้ามชาติในช่วงเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทั้งการปรับตัวในด้านของการตลาด และการผลิตโดยการโยกย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุน ซึ่งการเพิ่มขึ้นเงินลงทุนจากต่างประเทศอาจยังสะท้อนภาพสถานะของไทยที่ยังคงเป็นแหล่งการลงทุนที่มีความน่าสนใจในแง่ของการเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ในภูมิภาค


อันดับการแข่งขันของไทยยังไม่เลวร้าย.. แต่ศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนลด

จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบันชั้นนำของโลกสะท้อนว่า อันดับการแข่งขันของไทยโดยเปรียบเทียบยังไม่ถึงกับแย่ลงมากนัก โดยแม้ว่าการจัดอันดับของ World Economic Forum ปี 2009-2010 ไทยมีอันดับความสามารถการแข่งขันลดลง 2 อันดับ แต่ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดย Institute for Management Development หรือ IMD จะเห็นว่าไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่วนการสำรวจของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ถึงประเทศที่บริษัทญี่ปุ่นมองว่าน่าลงทุน ไทยก็มีอันดับดีขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งแม้การจัดอันดับของแต่ละสถาบันมีความแตกต่างกัน แต่ประเด็นที่สอดคล้องกันจากรายงานของสถาบันต่างๆ คือ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของไทย

โดยภาพรวมแล้ว ไทยมีจุดแข็งในเรื่องเศรษฐกิจมหภาคที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐานและสาธารณสุข ตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่น ขนาดของตลาดสินค้า/บริการในประเทศ และโดยรวม ประเทศไทยค่อนข้างที่จะมีความง่ายในการจัดตั้งและทำธุรกิจ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ไทยจะเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์
 
ประเด็นท้าทายในการดึงดูดการลงทุนในอนาคต
 

ในระยะต่อไป ไทยยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเพื่อรักษาศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนให้คงอยู่ โดยประเด็นหลักที่ต้องคำนึงถึงอาจจำแนกออกได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ คือ

ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ต้องเร่งแก้ไข

ปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหา ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังควรต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจและอัพเดทความคืบหน้าของกระบวนการต่างๆ กับสมาคมหอการค้าต่างประเทศและกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ

การรับมือกับการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคและการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมาถึงในปี 2558 ความคล้ายคลึงกันทางสภาพภูมิศาสตร์และลักษณะของอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากประเทศนอกกลุ่ม ที่เห็นได้ชัด เช่น ไทย-มาเลเซียในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระหว่างไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซียในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมการเกษตร
 
แต่ในอีกด้าน การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคก็อาจเป็นโอกาสให้ธุรกิจที่อยู่ในไทยสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และสามารถใช้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรหรือการมีหน่วยผลิตในต่างประเทศได้ ดังนั้น บีโอไอ ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรชูจุดเด่นนี้และดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเลือกไทยเป็นประเทศที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตหลัก หรือสำนักงานหลักของภูมิภาค

การปรับปรุงศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในระยะยาว

การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ขนส่ง โลจิสติกส์ และระบบสาธารณูปโภค หรือที่เรียกรวมๆ ว่า Hard Infrastructure เพื่อลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ประเทศไทยควรที่จะใช้ประโยชน์จากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่ทางเศรษฐกิจของประเทศใกล้เคียง เช่น จีน เวียดนาม ลาว ฯลฯ เพื่อเพิ่มจุดแข็งในการเป็นศูนย์กลางในการผลิตและกระจายสินค้าของภูมิภาค โดยการขยายระบบรางและสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ขึ้น เป็นต้น

การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา (R&D) และการพัฒนาคน หรือ Soft Infrastructure เช่น การเพิ่มอัตราเข้าถึงของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต การสนับสนุนการใช้ระบบไอทีในภาคธุรกิจผ่านการให้แรงจูงใจต่างๆ ขณะที่ด้านการพัฒนากำลังคน ภาครัฐต้องเร่งปรับปรุงเรื่องคุณภาพของการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรในสายวิชาชีพช่าง วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจทั้งในแง่ของการวิจัยและพัฒนา และการร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร

กำลังโหลดความคิดเห็น