คนกทม.-ปริมณฑล ได้เฮ! นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม คจร.เร่งโครงการขนส่งระบบราง ไฟเขียวแผนแม่บทรถไฟฟ้า 6 สายรวด คาดเปิดบริการได้ทั้งหมดภายในปี 62 เพิ่มเส้นทาง สายสีเขียวเข้มอีก 18.4 กม. ถึงคูคต จ.ปทุมฯ เล็งทำรถไฟฟ้าชานเมือง บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง พร้อมไฟเขียวให้ "ท้องถิ่น" ทำรถไฟฟ้าเองได้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) โดยระบุว่า ที่ประชุมฯ วันนี้ มีมติเห็นชอบแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในระยะ 10 ปี โดยเปิดให้บริการใน 6 สายภายในปี 2562 ดังนี้
1.สายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร 2.สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 17.5 กิโลเมตร และช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี ระยะทาง 20 กิโลเมตร 3.สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กิโลเมตร
4.สายสีเขียว ช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กิโลเมตร และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส ระยะทาง 1 กิโลเมตร 5.สายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-บางบอน ระยะทาง 18 กิโลเมตร สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14 กิโลเมตร และสายที่ 6.เส้นทาง Airport Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คจร.ยังเห็นชอบในหลักการต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม จากช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร เป็นหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รวมระยะทาง 18.4 กิโลเมตร และยกเลิกศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบินดอนเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 โดยให้ใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณ อ.คูคต จ.ปทุมธานี แทน พร้อมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ คจร.ยังเห็นชอบหลักการให้การก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง รวมทั้งโครงการ Airport Link ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ ซึ่งได้ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างแนวรางในระดับคลองแห้ง(Open Trench) โดยการขุดเจาะลึกลงไปในดิน และมีการวิ่งของขบวนรถไฟลึกลงไปจากผิวดินเดิม โดยอาจมีการปิดกั้นผิวดินด้านบนในลักษณะอุโมงค์หรือมีการเปิดผิวดินด้านบน โดยพิจารณานับรวมการก่อสร้างระดับคลองแห้งให้จัดรวมอยู่ในระดับใต้ดินด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ ยังได้อนุมัติในหลักการให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางขนาดรองในพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานได้เองที่มีแนวสายทางนอกเหนือและไม่ซ้ำซ้อนกับโครงข่ายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทให้สามารถดำเนินการได้ กรณีที่เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองที่มีปริมาณผู้โดยสารในปีที่เริ่มเปิดดำเนินการต่ำกว่า 8,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบความคืบหน้าของสถานะการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 โดยขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการสิ้นเดือน สิงหาคม 2557 สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการยื่นซองประกวดราคา คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2559
สายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตร อยู่ระหว่าง รฟม.เตรียมจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ (พ.ร.บ.ร่วมทุน) และสายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร อยู่ระหว่าง รฟม.เตรียมจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน เริ่มงานเดือนธันวาคม 2552 แล้วเสร็จเดือนมกราคม 2553 โดยคาดว่าจะเปิดบริการเดือนเมษายน 2558
สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มสถานีบางกรวย โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กิโลเมตร สำนักจราจรและขนส่ง (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มเติมสถานี ม.กรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต, สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 19 กิโลเมตร อยู่ระหว่าง รฟท.เตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับเส้นทางทั้งหมดตั้งงบประมาณไว้ 8 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีหลายเส้นทางจะเร่งให้เสร็จในปี 2557-2559 ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การจราจรดีขึ้น
นอกจากนั้น ในวันนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูในส่วนสายสีเขียวและสีส้มที่มีปัญหาอยู่ ในเบื้องต้นงานในส่วนโยธาของสายสีเขียว ยังเป็นขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) แต่การบริหารจัดการทั้งระบบให้ไปดูว่า รฟม. หรือ กทม. ควรเป็นผู้ดูแล โดยจะให้เวลาศึกษา 1 เดือน