กทม.เสนอตัวขอทำสายสีส้มจากจากตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร แทน สนข. เสนอหากหากจะลดระยะทางสายสีเขียวสนามกีฬา-ตลิ่งชันจาก 7.7 กม. เหลือ 1 กม.ไม่เห็นด้วย พร้อมยันมติครม.ปี 2551 ให้ รฟม.ทำแค่งานโยธาส่วนต่อหมอชิต-สะพานใหม่ แบริ่ง-สมุทรปราการ เท่านั้นส่วนอื่น กทม.ต้องรับผิดชอบ นายกฯ ตั้ง “สุเทพ” ประธานพิจารณา 1 เดือนได้ข้อยุติ เผย คจร.ไฟเขียวกทม.สร้างโมโนเรลได้
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการเข้าประชุมคณะกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบก (คจร.) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นแม่บทรถไฟฟ้าระยะเวลา 10 ปีและระยะเวลา20 ปี ซึ่งกทม.ได้ตั้งข้อสังเกตว่าที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคมพิจารณาว่าจะลดระยะทางสายสีเขียวจากสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก ระยะทาง 7.7 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 1 กิโลเมตร เนื่องจากทับซ้อนกับสายสีส้มจากตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร ที่ขยายออกมาทับเส้นทางของสายดังกล่าว กทม.จึงแจ้งว่า หากเป็นเช่นนี้ กทม.จะขอรับสายสีส้มมาดำเนินการเองเพราะอยู่ในพื้นที่กทม.โดยที่สามารถยกเลิกสายสีเขียวจากสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนกได้ แต่หากจะลดระยะทาง ให้เหลือ 1 กิโลเมตร กทม.ไม่เห็นด้วยเพราะการลงทุนในระยะทาง 1 กิโลเมตร ควรจะสร้างเป็น Sky walk แล้วมีบันไดเลื่อนเพื่อไปเชื่อมกับสายสีแดงจะเป็นประโยชน์มากกว่า
นายธีระชนกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.ยังได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2551 ว่าการที่ครม.มีมติมอบให้รฟม.ดำเนินการสายสีเขียวเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นการมีมติให้ทำเฉพาะงานโยธาเท่านั้น เพราะฉะนั้นขั้นตอนตั้งแต่การการออกแบบ การประสานงาน ขั้นตอนการดูแลระบบต่อเชื่อมระบบราง อาณัติสัญญาณ การบริหารจัดการยังเป็นของ กทม.อยู่ ดังนั้น โครงการนี้จึงควรเป็นของกทม.โดยที่รฟม.มาร่วมโครงการในส่วนของการก่อสร้างเท่านั้นซึ่งหมายความว่า กทม.จะต้องเข้าไปร่วมตั้งแต่ต้นในการกำหนดว่าระบบต้องต่อเชื่อม ผู้โดยสารจะขึ้นจากหมอชิตไปหอวังไม่ต้องลงรถต่อตามแผนของสนข.ที่จะก่อสร้างสถานีถึงแค่หอวัง ผู้โดยสารจะต่อระบบที่แบริ่งไปสมุทรปราการก็ต้องไม่ขึ้นลงรถใหม่ซึ่งจะต้องมีการหารือกัน
พร้อมกันนี้ กทม.ยังได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องที่จะสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอู่จอดรถ (Depot) ที่คูคต จ.ปทุมธานี ว่าอาจจะไม่มีความจำเป็นเพราะถ้าหากตัดสินใจให้กทม.มาดำเนินการก็สามารถขยายศูนย์ซ่อมบำรุงและอู่จอดรถ (Depot) ที่หมอชิตเพื่อรองรับได้ และกทม.ยืนยันว่าอย่างน้อยที่สุดต้องมีการทำงานร่วมกันตั้งแต่การออกแบบ การกำหนดรายละเอียดต่างๆ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธานในที่ประชุมได้ให้ที่ประชุมตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการตัดสินใจสายสีส้มและสายสีเขียวโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยให้กรอบระยะเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
นายธีระชนกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้มีมติที่อนุญาตให้ท้องถิ่นสามารถสร้างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพระบบรองได้ ซึ่งได้แก่ระบบโมโนเรล (Monorail) ระบบไลต์เรล (Light rail) สามารถดำเนินการได้ จากเดิมที่มติไม่ให้ซ้อนกับโครงสร้างแผนแม่บทระยะเวลา 20 ปีซึ่งตนได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า 2 สายที่ กทม.ศึกษาทับกับสายสีเทาและสายสีฟ้าคือเส้นทาง กทม.2 และเส้นทางทองหล่อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจมีมติให้กทม.ดำเนินการได้โดยระบุไม่ทับซ้อนในแผน 10 ปีแรกซึ่งจะไม่มีสายสีเทาและสายสีฟ้าอยู่ เท่ากับว่า คจร.ไฟเขียวให้ กทม.สามารถสร้างระบบรองได้โดยที่มีการแก้ไขมติในส่วนที่ สนข.เสนอต่อ คจร.