xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค”ขายฝันคนกทม. สั่งเพิ่มรถไฟฟ้า2สาย อนุมัติงบศึกษา400ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“มาร์ค” รุกเกมรถไฟฟ้าการเมือง ขายฝันคนกทม. เพิ่มสายสีส้ม “มีนบุรี-บางกะปิ-คูคต” สีชมพู “ปากเกร็ด-ศูนย์ราชการ” ตั้ง”เทพเทือก”คุมแผนศึกษา ให้รฟม.ใช้งบ 400 ล. ศึกษาแผน ตั้งเป้า 1 เดือนต้องเสร็จ ด้านกทม. รับลูก เตรียมรับสายสีส้มมาดำเนินการเอง
วานนี้(8 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ว่า ได้อนุมัติแผนแม่บทจัดระบบการจราจรทางบกในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในระยะ 10 ปีแรก (เปิดบริการในปี พ.ศ.2562) ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เสนอสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 17.5 กิโลเมตร ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางกะปิ-มีนบุรี ระยะทาง 20 กิโลเมตร

สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กิโลเมตร สายสีเขียว ช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กิโลเมตร ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส ระยะทาง 1 กิโลเมตร และสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-บางบอน ระยะทาง 18 กิโลเมตร สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14 กิโลเมตร ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร พร้อมเห็นชอบในหลักการของการต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม หมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร เป็นหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รวมระยะทาง 18.4 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบในหลักการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน และบางซื่อ-หัวลำโพง รวมทั้งโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ

**********เพิ่ม 2 เส้นทาง “สีชมพู-สีส้ม”ใจคนกทม.
นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จากมีนบุรีไปทางปากเกร็ด ศูนย์ราชการ จะอยู่ภายใต้โครงการภายใต้แผนไทยเข้มแข็ง (เอสพี 2) ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะเป็นตัวที่เพิ่มเติมเข้ามาจากมีนบุรี เข้ามาทางตะวันออก บางกะปิ และจะเป็นตัวที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรี ซึ่งจะมาแทนสายสีเขียวอ่อนเดิม จะต่อจากสนามกีฬาแห่งชาติไปพรานนก โดยข้ามสายสีส้มแทนเชื่อมกับทางบีทีเอสเดิมที่พญาไท ซึ่งถือเป็น 2 เส้นทางที่เพิ่มเข้ามาใหม่

ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่าควรจะเพิ่มแอร์พอร์ตลิงค์ไปถึงสนามบินดอนเมืองด้วย เพื่อรองรับกรณีที่มีการใช้ดอนเมืองเป็นอีกสนามบินหนึ่ง นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ไปนำเสนอครม.ใน 2 เส้นทางที่มีปัญหาคือ เส้นทางที่เข้ามาอยู่บริเวณในเมือง และทางคณะกรรมการฯเห็นว่า บางเส้นทางโดยเฉพาะทางรถไฟฟ้าน่าจะลงไประดับต่ำกว่าดินนิดหน่อย โดยไม่ให้มีทางตัดกับรถยนต์ แต่ขณะนี้มีการตีความทำนองว่า ไม่สอดคล้องกับมติครม.เดิม ว่าจะต้องลงใต้ดิน

ส่วนกรณีที่จะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เห็นว่า อยากให้ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะจะได้เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อลดปัญหาเรื่องต้นทุน ส่วนสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 18.4 กม. จะยกเลิกศูนย์ซ่อมบำรุง(Depot) เดิมจากทิศใต้ของดอนเมืองออกไป

**********มอบสุเทพ ตั้งอนุจัดการปัญหาสายสีเขียว-สีส้ม

นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานดูปัญหาของเส้นทางสีเขียว สีส้ม ในแง่ระบบการบริหาร การจัดการ เพราะมติครม.เดิม และเห็นชอบให้รฟม.ดำเนินการเฉพาะงานด้านโยธา เนื่องจากเห็นว่าเมื่อสร้างเสร็จจะมีปัญหาว่าจะบริหารจัดการโดยใคร อย่างไร ขณะเดียวกันเส้นทางที่ไปคูคตกับสมุทรปราการจะมีองค์กรท้องถิ่นต่างจังหวัดเข้ามาด้วย ซึ่งเวลาคณะอนุกรรมการฯไป 1 เดือนเพื่อดูเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เส้นทางที่เพิ่มเติมจะต้องอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะให้ทาง รฟม.สามารถโอนเงินของเขาเองไปทำการศึกษาได้ ซึ่งงบการศึกษาตรงนี้ประมาณ 400 ล้านบาท สำหรับ 2 เส้นทาง แต่เส้นทางสายสีส้มกำลังให้ดูว่าจะเป็นเรื่องกทม.หรือรฟม. จริงๆ แล้วแผนครั้งนี้จะครอบคลุมยาวไปถึง 20 ปีข้างหน้า 12 เส้นทางทั้งหมด รวม 400 กว่ากิโลเมตร เงินที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 8 แสนล้านบาท

ต่อข้อถามว่าแผนแม่บทนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องระบบการจราจรได้มากน้อยแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่จะมีหลายเส้นทางที่เสร็จในปี 2557 และปี 2559 จะช่วยบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราจะให้ดูเฉพาะตัวนี้ตัวเดียวคงไม่ได้ จะต้องคำนึงถึงการเติมโตของเมือง และความเปลี่ยนแปลงอีกหลายๆ ด้าน

******ยกเลิกสายสีเขียวอ่อนสนามกีฬา-พรานนก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดนี้ ไม่เคยมีการประชุมมาตั้งแต่ปี 2547สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินสัตว์ เป็นนายกฯ ซึ่งที่ประชุมวันนี้เห็นพ้องให้เร่งเดินเครื่องสายสีส้มและสายสีชมพู ขณะเดียวกันสายสีเขียวอ่อนระยะทาง 33 กิโลเมตร(สนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก) ที่ดำเนินการช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส มีความเห็นว่า อาจจะต้องยกเลิกโครงการนี้ แต่ปัญหาทั้งหมดได้มอบหมายให้อนุกรรมการชุดที่มีนายสุเทพ เป็นประธานไปหารืออีกครั้ง

“เบื้องต้น สายสีส้มนั้น กทม.ต้องการที่จะเข้ามาดำเนินการเอง แต่ติดอยู่ว่า รฟม.จะยินยอมหรือไม่ แต่สายสีเขียวอ่อนอาจจะต้องหยุดโครงการ แต่ทั้งหมดก็ต้องไปคุยกันก่อน เพื่มมารายงานนายกรัฐมนตรีใน 1 เดือนนี้”

ทั้งนี้เบื้องต้นการยกเลิกโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน เห็นว่าควรจะมีการปรับลดช่วงสนามกีฬา-พรานนก ที่กทม.ศึกษาไว้ เนื่องจากรูปแบบการเดินรถในปัจจุบันจะเป็นช่วงบางหว้า-สยาม-สนามกีฬา-พรานนก เป็นรูปตัวซี จึงไม่สอดคล้องกับรูปแบบการเดินทาง ทำให้ต้องเปลี่ยนขบวนรถและไม่สะดวก ขณะที่ต้องสูญเสียพื้นที่ถ.พระราม 1 ช่วงสะพานกษัตริย์ศึก ในระหว่างการก่อสร้าง 3 ช่องจราจร หากสร้างเสร็จจะเหลือ 2 ช่องจราจร จากปัจจุบันที่มี 5 ช่องจราจร รวมทั้งยังไม่ผ่าความเห็นชอบจากอีไอเอ

อย่างไรก็ตามได้มีการพิจารณาเพิ่มเติมโครงการสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม เพื่อทดแทนสายสีเขียว ที่มีแผนเปิดบริการในปี พ.ศ.2562

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมยังรับทราบโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีม่วง (บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ) ที่จะผ่านบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและผ่านบริเวณที่ตั้งสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณเกียกกาย โดยรฟม.ได้ศึกษความเหมาะสมแล้ว โดยจะมีการศึกษาออกแบบและจัดทำเอกสารประกวดราคา แม้จะยังไม่มีการกำหนดงบประมาณ

*****ไฟเขียวกทม.สร้างโมโนเรล 2 สาย
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า กทม.ได้ตั้งข้อสังเกตว่าที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคมพิจารณาว่าจะลดระยะทางสายสีเขียวจากสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก ระยะทาง 7.7 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 1 กิโลเมตร เนื่องจากทับซ้อนกับสายสีส้มจากตลิ่งชัน –มีนบุรี ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร ที่ขยายออกมาทับเส้นทางของสายดังกล่าว กทม.จึงแจ้งว่าหากเป็นเช่นนี้ กทม.จะขอรับสายสีส้มมาดำเนินการเองเพราะอยู่ในพื้นที่ กทม.โดยที่สามารถยกเลิกสายสีเขียวจากสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก ได้แต่หากจะลดระยะทาง ให้เหลือ 1 กิโลเมตร กทม.ไม่เห็นด้วยเพราะการลงทุนในระยะทาง 1 กิโลเมตร ควรจะสร้างเป็น Sky walk แล้วมีบันไดเลื่อนเพื่อไปเชื่อมกับสายสีแดงจะเป็นประโยชน์มากกว่า
นายธีระชน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.ยังได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อปี 2551 ว่าการที่ครม.มีมติมอบให้ รฟม.ดำเนินการสายสีเขียวเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นการมีมติให้ทำเฉพาะงานโยธาเท่านั้น เพราะฉะนั้นขั้นตอนตั้งแต่การการออกแบบ การประสานงาน ขั้นตอนการดูแลระบบต่อเชื่อมระบบราง อาณัติสัญญาณ การบริหารจัดการยังเป็นของ กทม.อยู่ ดังนั้น โครงการนี้จึงควรเป็นของ กทม.โดยที่รฟม.มาร่วมโครงการในส่วนของการก่อสร้างเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า กทม.จะต้องเข้าไปร่วมตั้งแต่ต้นในการกำหนดระบบต่อเชื่อม
พร้อมกันนี้ กทม.ยังได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องที่จะสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอู่จอดรถ(Depot) ที่คูคต จ.ปทุมธานี ว่าอาจจะไม่มีความจำเป็นเพราะถ้าหากตัดสินใจให้ กทม.ดำเนินการก็สามารถขยายศูนย์ซ่อมบำรุงและอู่จอดรถ(Depot) ที่หมอชิตเพื่อรองรับได้ และ กทม.ยืนยันว่าอย่างน้อยที่สุด ต้องมีการทำงานร่วมกันตั้งแต่การออกแบบ การกำหนดรายละเอียดต่างๆ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธานในที่ประชุมได้ให้ที่ประชุมตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการตัดสินใจสายสีส้มและสายสีเขียวโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยให้กรอบระยะเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1เดือน
นายธีระชน กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้มีมติอนุญาตให้ท้องถิ่นสามารถสร้างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพระบบรองได้ ซึ่งได้แก่ ระบบโมโนเรล(Monorail) ระบบไลท์เรล (Light rail) สามารถดำเนินการได้ จากเดิมที่มติไม่ให้ซ้อนกับโครงสร้างแผนแม่บทระยะเวลา 20 ปี ซึ่งตนได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า 2 สายที่ กทม.ศึกษาทับกับสายสีเทาและสายสีฟ้าคือเส้นทาง กทม.2 และเส้นทางทองหล่อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจมีมติให้ กทม.ดำเนินการได้โดยระบุไม่ทับซ้อนในแผน 10 ปีแรก เท่ากับว่า คจร.ไฟเขียวให้ กทม.สามารถสร้างระบบรองได้โดยที่มีการแก้ไขมติในส่วนที่ สนข.เสนอต่อ คจร.
กำลังโหลดความคิดเห็น