xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองจ้องฮุบเค้กรถไฟฟ้า 6 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตานักการเมืองน้ำลายหก จ้องรุมทึ้ง โครงการใหญ่รถไฟฟ้ามูลค่ารวม 6 แสนล้านบาท หวังเข้ามาแบ่งเค้กก้อนโต แย่งชิงผลประโยชน์เข้าพรรคพวก เมินประชาชนเจ้าของประเทศ จับตากลุ่มผู้รับเหมาก๊วนใครจะประมูลได้งานก่อสร้าง

รถไฟฟ้าสีม่วง สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ของรัฐบาล”อภิสิทธิ์” ซึ่งอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของ”โสภณ ซารัมย์” ที่กลุ่มเพื่อนเนวิน ส่งมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คุมโปรเจกต์แสนล้าน ในรอบปี 2552 ใช้เวลาทั้งปี ไปกับการประมูลก่อสร้างงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ทั้งๆที่ยุคก่อนหน้ารัฐบาลพลังประชาชน สายสีม่วงมีความพร้อมมากในการประมูลและวางแผนว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2552 แต่ทำได้จริง คือ ลงนามในสัญญาก่อสร้างที่ 1 กับกลุ่ม CKTC Joint Venture (บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด) ในส่วนโครงสร้างยกระดับส่วนตะวันออก ระยะทาง 12 กิโลเมตร วงเงิน 14,292 ล้านบาท

ส่วนสัญญาที่ 2 โครงสร้างกระดับส่วนตะวันตก ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ผู้รับเหมาเป็น กลุ่มของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงิน 13,100 ล้นบาท ต้องลุ้นกันวันสุดท้ายปลายปี กว่าจะได้เซ็นสัญญากัน

ขณะที่สัญญาที่ 3 ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถซึ่งกลุ่ม PAR Joint Venture ( บริษัทแอสคอน คอนสตรัชั่น จำกัด (มหาชน),บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับเหมา วงเงิน 5,025 ล้านบาท ประมูลกันน็อครอบปี กว่าจะได้เซ็นสัญญา

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กิโลเมตร อยู่ที่กระบวนการกำหนดราคากลาง หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา จากวงเงิน 48,821 ล้านบาทเป็น 52,460 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,401 ล้านบาท (7.81%) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 52 ซึ่งเหตุที่ต้องมีการปรับวงเงินค่าก่อสร้างกันใหม่ก็เพราะราคาเดิมคำนวนกันไว้ไม่สอดคล้องกับภาวะและสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เพราะการดำเนินโครงการล่าช้ามาก จนค่าก่อสร้างที่คำนวณจาก ค่าวัสดุ ต้นทุนต่างๆ เปลี่ยนแปลงและทำให้นำไปเปิดประมูลไม่ได้

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ขึงขัง สั่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เร่งกำหนดราคากลางเสร็จภายในเดือนพ.ย. 52 และให้ประกาศประกวดราคาแบบนานาชาติ (International bid) ในเดือนธ.ค. 52 ซึ่งตามตาราง จะมีการขายเอกสารประกวดราคาได้ในเดือนม.ค.2553 โดยจะให้เวลาจัดทำข้อเสนอประกาดราคา 3 เดือน (ก.พ.-เม.ย. 2553) พิจารณาข้อเสนอและเจรจาต่อรอง ช่วงพ.ค.-ส.ค.2553 เสนอคณะกรรมการ รฟม.อนุมัติการจัดจ้าง ก.ย.2553 และเริ่มการก่อสร้างในเดือนต.ค. 2553 เปิดให้บริการกลางปี 2559 30 ธ.ค.2552 วันสุดท้ายของปี ราคากลางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ยังไม่เรียบร้อย แน่นอน ที่วางกรอบเวลาการดำเนินโครงการคงทำไม่ได้เหมือนโครงการอื่นๆ

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย เขียวเข้ม ช่วง หมอชิต – สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กม.มูลค่า 33,212 ล้านบาท และ เขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการระยะทาง 13 กม. มูลค่า 25,900 ล้านบาท ซึ่งมติครม.กำหนดให้ รฟม.เป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธา แต่ปี 52 รฟม.และกระทรวงคมนาคมก็ไม่สามารถผลักดันเพื่อเริ่มต้นโครงการได้ ในขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่รอต่อเชื่อมกับสายสีเขียวเข้มและอ่อน ส่งสัญญาณผ่านนายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์” ขอเป็นเจ้าของสีเขียวเข้มและอ่อนแทนรฟม. ซึ่งมีสัญญาณว่า รฟม.อาจต้องให้สิทธิ์การก่อสร้างงานโยธากับ กทม. เพราะ กทม.คือประชาธิปัตย์ – ประชาธิปัตย์คือ หัวหน้ารัฐบาลนี้

“กระทรวงคมนาคมและรฟม.แสดงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสายสีเขียวเข้มและอ่อน โดยใช้เหตุผลว่า แนวเส้นทางออกนอกเขตกทม. เกินอำนาจของกทม. ขณะที่กทม.แสดงอิทธิฤทธิ์กลับ ด้วยการไม่ให้รฟม.ใช้พื้นที่ในเขต กทม.”

เป็นเกมชิงผลประโยชน์ของนักการเมืองที่ชัดเจน โดยไม่สนใจว่า ประชาชนจะเสียประโยชน์จากการได้ใช้ระบบขนส่งมวลชน ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และประเทศต้องสูญเสียประโยชน์จากการประหยัดพลังงานและเวลาในการเดินทางของประชาชน ที่ประเมินมูลค่าไม่ได้

ทั้งนี้ รฟม.อยู่ระหว่างปรับแบบในช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ ในส่วนที่เป็นพื้นที่ของ กทม. ซึ่งรฟม.ยืนยันความพร้อมที่จะประกวดราคาในส่วนของสายสีเขียวอ่อนก่อน ซึงล่าสุดบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการจัดทำร่างทีโออาร์เรียบร้อยแล้ว และจะประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-อ็อคชั่น)จึงต้องดูกันต่อว่าปี 53 รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มและสีเขียวอ่อน กว่า 5 หมื่นล้านบาท คมนาคมหรือ กทม.จะได้เป็นเจ้าของ

ด้านสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต มูลค่า 77,000 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยกระทรวงการคลังลงนามกู้เงินกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) เมื่อเดือนมีนาคม 2552 หมดเวลาทั้งปีไปกับการเจรจากับ JICA ในประเด็น ขั้นตอนการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา ซึ่ง ร.ฟ.ท. เจ้าของโครงการ ต้องการเปิดประมูลพร้อมกันทั้ง 3 สัญญา โดยให้ผู้รับเหมายื่นเอกสารประกวดราคาพร้อมกัน 3 ซอง ทั้งคุณสมบัติเบื้องต้น,เทคนิคก่อสร้างและราคา เช่นเดียวกับการประมูลก่อสร้างสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เพื่อความรวดเร็ว

ในขณะที่ JICA ต้องการให้ผู้รับเหมายื่นเอกสารทีละขั้นตอน ไม่ใช่ยื่นพร้อมกันทั้ง 3 ซอง ร.ฟ.ท.ทำหนังสือหารือ JICA ตลอดปี 52 ถึง 3 ครั้ง ก็ยังตกลงกันไม่ได้

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะกรรมการ ร.ฟ.ท. กล่าวยืนยันแผนการประมูลว่าจะให้ผู้รับเหมายื่นเอกสารคุณสมบัติเบื้องต้น,เทคนิคก่อสร้างและราคา 3 ซองพร้อมกัน และจากการหารือกับ JICA อย่างไม่เป็นทางการไม่มีปัญหาแล้ว และคาดว่า ร.ฟ.ท.จะประกาศร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR)บนเว็บไซด์ได้ในเดือนม.ค. 2553 และประกาศขายแบบได้ในเดือนก.พ. 2553 ยื่นเอกสารประมูลเดือนมี.ค. 2553 การที่ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามกรอบเวลา ทำให้ทุกโครงการที่ใช้เงินกู้ JICA ต้องถูกปรับกรณีไม่สามารถเบิกจ่ายเงินกู้มาดำเนินงานได้ตามแผน ในอัตรา 0.1% ของเงินในแต่ละงวด แสดงให้เห็นว่า กรอบเวลาไม่มีความหมายต่อการทำงาน

สนข.เผยแผนแม่บท รถไฟฟ้า

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สรุปสถานะโครงการถไฟฟ้าระยะแรก 7 สาย 145 กม.มูลค่ารวม 324,226 ล้านบาท ประกอบด้วย สีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) มูลค่า 60,185 ล้านบาท แล้วเสร็จ ส.ค. 57 สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค )มูลค่า 83,123 ล้านบาท แล้วเสร็จ ก.พ.59 สีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่ มูลค่า 33,212 ล้านบาท แล้วเสร็จ เม.ย. 58 และ แบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่า 25,900 ล้านบาท แล้วเสร็จ เม.ย. 58 สีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 9,311 ล้านบาท แล้วเสร็จ ม.ค. 55 และบางซื่อ-รังสิต –มธ.ศูนย์รังสิต มูลค่า 75,548 ล้านบาท ปี 58 ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก มูลค่า 36,947 ล้านบาท

ระยะที่ 2 อีก 9 สาย ระยะทาง 141 กม.มูลค่ารวม 308,594 ล้านบาท กำหนดดำเนินงานภายในปี 62 ประกอบด้วย สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ) มูลค่า 64,680 ล้านบาท (ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี) มูลค่า 73,070 ล้านบาท สีม่วง (บางซื่อ-ราษฏร์บูรณะ) มูลค่า 66,820 ล้านบาท สีเขียว (สะพานใหม่-คูคต) มูลค่า 14,945 ล้านบาท (สนามกีฬาฯ-ยศเส) มูลค่า 1,330 ล้านบาท สีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) มูลค่า 38,730 ล้านบาท สีแดง (หัวลำโพง-บางบอน) มูลค่า 25,470 ล้านบาท (ตลิ่งชัน-ศาลายา) มูลค่า 9,950 ล้านบาท และ แอร์พอร์ตลิ้งค์ส่วนต่อขยาย บางซื่อ-พญาไท มูลค่า 13,590 ล้านบาท

ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า จะเป็นโปรเจ็กต์สำคัญและเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น แต่คงไม่สามารถดำเนินโครงการให้ได้ตามกรอบเวลาของแผนได้เหมือนที่ผ่านมา

“เพราะใครๆ ก็อยากมีส่วนร่วมกับ 632,816 ล้านบาทที่สนข.ประเมินมูลค่าการลงทุนไว้ ซึ่ง สายสีเขียวอ่อนและเข้มเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ของการเปิดศึกชิง ระหว่างกทม.(ประชาธิปัตย์) & กระทรวงคมนาคม (ภูมิใจไทย)

กำลังโหลดความคิดเห็น