xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน ม.ค.53 พุ่งขึ้น 4.1% ต่อเนื่อง 4 เดือนซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงพาณิชย์ แถลงเงินเฟ้อเดือน ม.ค.53 พุ่งขึ้น 4.1% ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหาร และเครื่องดื่ม ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.2% เป็นผลมาจากดัชนีหมวดข้าวแป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้งปรับขึ้น 8% ผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 9.4% โดยมั่นใจว่า เงินเฟ้อในระดับอ่อนจะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้น ศก. สอดรับกับนโยบาย ดบ.ของแบงก์ชาติ ที่ยังตรึงเอาไว้ในระดับต่ำ

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อ เดือนมกราคม 2553 อยู่ที่ระดับ 106.29 เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่เป็นอัตราที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนตุลาคม 2552 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือนมกราคม 2553 อยู่ที่ระดับ 103.03 เพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมกราคม 2553 เร่งตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหาร และเครื่องดื่ม ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.2% เป็นผลมาจากดัชนีหมวดข้าวแป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้งปรับขึ้น 8% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น 3.8% ไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น3.1% ผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 9.4% เครื่องดื่มไม่มีแอกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.4% เครื่องประกอบอาหารเพิ่มขึ้น 1.3% และอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 0.8%

นอกจากนี้ ยังรวมถึงดัชนีในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เช่น หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารเพิ่มขึ้น 9.9% หมวดเคหะสถานเพิ่มขึ้น 3.9% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 1.0% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอกอฮอล์เพิ่มขึ้น 13.5%

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีดัชนีในบางหมวดที่ปรับตัวลดลง เช่น หมวดเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าลดลง 3.3% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ลดลง10.3%

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า การจับจ่ายใช้สอยจากที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้การจ้างงานเริ่มดีขึ้น ประชาชนมั่นใจในรายได้ของตัวเองและกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตเองจะมีแรงจูงใจในการผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นด้วย

ส่วนในแง่ของรัฐบาลนั้น การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคและเครื่องชี้เศรษฐกิจตัวอื่นๆ เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวรรัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่สะดุดลง

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำขณะนี้สอดคล้องกับการสนับสนุนให้ภาคเศรษฐกิจมีการเติบโต ซึ่งเชื่อว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้ โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงที่

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องมีการจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ แต่เรื่องความผันผวนของราคาน้ำมัน ยังเชื่อว่าปีนี้ จะไม่ผันผวนมาก ทั้งปี จะเฉลี่ยที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นนั้น ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเพลี้ยกระโดด หากตามราคาสินค้าในขณะนี้ โดยรวมกลุ่มวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ในส่วนของปูนซีเมนต์กลับมีราคาลดลง โดยปูน ขนาด 50 กิโลกรัม จาก 135 บาท เหลือ 132 บาท ปุ๋ย ราคาขายปลีก ขนาด 50 กิโลกรัม จาก 835 บาท เหลือ 827 บาท มะพร้าวขูด ขนาด 1 กิโลกรัม จาก 32 บาท เหลือ 30 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น