xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสูงสุดค้านมือถือ3Gเกิด รอกม.สมบูรณ์กทช.ครบก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัยการสูงสุดประสานเสียงนายกสภาทนายความไม่เห็นด้วยกับใบอนุญาตประกอบกิจการมือถือ 3G ที่ให้เกิดในช่วงกฎหมายไม่สมบูรณ์ และกรรมการ กทช. ยังไม่ครบ ขณะที่นักวิชการ เอกชน ต้องการให้เกิดโดยยึดกฎหมายเดิม

นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อ การจัดคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and Beyond) ว่า ขณะนี้สถานภาพของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ยังไม่มั่นคงไม่ควรออกใบอนุญาต หรือไลเซนส์ 3G ที่สำคัญคือต้องรอพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นถี่ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ออกมาก่อน เพราะการให้บริการ 3G ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมการงานปี 2535 เพราะเป็นกฎหมายเฉพาะ เป็นการออกคำสั่งการปกครองอย่างเดียวของกทช.

“แผนบริหารความถี่ต้องการมาก่อนและต้องเป็นแนวทางแผนแม่บทคลื่นความถี่ ซึ่งตัวกำหนดตรงนี้ก็ยังไม่มี”

ในมุมมองของอัยการสูงสุดเห็นว่า หากจะให้ไทยมีโครงข่าย 3G รัฐต้องเป็นผู้สร้างโครงข่ายทั้งหมดเพื่อให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน แล้วให้ผู้สนใจที่จะให้บริการมาเช่าโครงข่าย ในรูปแบบของเซอร์วิส โพรวายเดอร์ โดยให้กทช.เป็นผู้กำหนดค่าใช้บริการ

“3G ถ้าจะให้สง่างามต้องให้กฎหมายเรียบร้อย กรรมการ กทช. ครบถ้วนก่อน”

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่กฎหมายไม่ออก เพราะมีการคอร์รัปชัน การไม่มี 3G อย่างไปคิดว่าไทยตกอันดับ ถ้าไม่แผนควบคุมการใช้เกี่ยวกับการดูแลสังคม เพราะถ้าดูจากรายงานของทีดีอาร์ไอมีคนแค่ 2 ล้านคน จากจำนวน 76 ล้านคน ที่ต้องการใช้งาน หรืออย่างสหรัฐอเมริกาการใช้มือถือ 3G ก็น้อยกว่า 2G

“เราอยากเปิดให้บริการแต่ทำการบ้านหรือยัง ขณะนี้ผู้ให้บริการมือถือ 80-90% ตั้งเสาอยู่บนพื้นที่ของรัฐ ถ้าบอกว่าเป็นการลงทุนใหม่ กล้าที่จะตั้งเสา 1.6 หมื่นต้นโดยไม่ใช้ของเดิมได้หรือไม่ ถ้าลงทุนใหม่อยากเอาลูกค้าเก่าเขาไป ความซื่อสัตย์กับประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ”

ด้านนายธัช บุษฎีกานต์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การดำเนินกิจการของเอกชนคือมุ่งแสวงหากำไรทางการค้า และนำมาซึ่งประโยชน์และความผาสุกของประชาชน แต่ขณะนี้สถานะการแข่งขันของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้อยลงๆ โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี อย่าง 3G ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบางประเทศไปถึง 4G แล้ว

อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ ถ้าให้บริการผ่านสายเคเบิลจะไม่ทั่วถึง เพราะต้องลงทุนสูง และเสียเวลาในการลากสาย แต่ถ้าผ่านเทคโนโลยี 3G จะเป็นทางลัด เพราะความถี่มีอยู่แล้ว ซึ่งภูมิภาคอาเซียนให้บริการหมดแล้ว

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการ กล่าวว่า 3G เป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล เมื่อพิเคราะห์ทางกฎหมาย แม้จะมีการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ย. 2549 และรัฐธรรมนูญได้ถูกยกเลิกไป แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบกับ กทช. เพราะไม่ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นองค์กรอิสระ

โดยส่วนตัวแล้วรศ.ดร.วรเจตน์ไม่เห็นด้วยกับสภาพกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำออกมา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลากี่ปี อยู่ที่การเมืองจะมีการผลักดันมากน้อยแค่ไหน แต่ขณะนี้กทช.ยังมีอำนาจใช้กฎหมายเดิมได้ แต่ไม่ 100%

“เป็นสภาพความบกพร่องของกฎหมายตั้งแต่แรก ไม่มีคณะกรรมการร่วม และแผนแม่บทแล้วข้ามขั้นไปให้ใบอนุญาต ซึ่งก็มีความเสี่ยงทางอำนาจกฎหมาย และขณะนี้ กทช. ก็หารือกฤษฎีกาอยู่”

ส่วนกรณีเรื่องของความมั่นคงหรือการเข้ามาของต่างด้าว ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย ถามว่าต้องการเงินลงทุนหรือไม่ ทุนที่ลงไปแล้วมีกำไรไม่ใช่ต่างด้าว แต่ถ้าไม่ต้องการทุนดังกล่าวก็ออกกฎหมายให้ชัดเจนว่าไม่ต้องการ หรืออย่างความมั่นคงถ้า 3G เกี่ยว 2G ก็ต้องเกี่ยวข้องด้วย เพราะ 3G การให้บริการที่มีการส่งข้อมูล ภาพได้เร็วกว่า 2G

สำหรับเรื่องของสัญญาสัมปทานผู้ให้บริการขณะนี้ก็ได้รับจาก 2 รัฐวิสาหกิจคือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ก่อนจะแปรสภาพมาเป็นบริษัท ทีโอที กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ก่อนจะเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งสัมปทานเดิมก็กำลังจะเปลี่ยนจากเดิมมาเป็นระบบใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี ซึ่งเรื่องนี้หากจะมองถึงความเป็นธรรม ต้องตั้งบริษัทขึ้นมาดูแลทรัพย์สินจากสัมปทานเดิม แล้วให้ทีโอที กับ กสท แข่งกับเอกชนโดยมีรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชน ส่วนการโอนย้ายลูกค้าขึ้นอยู่กับผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือก โดยจะพิจารณาจากค่าบริการเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น