xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอที-กสท ลุยไฟ 3G เอกชนลุ้นไลเซนส์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3G โอกาสทองทีโอที-กสท ทางรอดสร้างรายได้ชดเชยธุรกิจเดิมที่ถดถอย หวังนำพาองค์กรพ้นวิกฤต ด้านค่ายมือถือประสานเสียงหนุน 2 รัฐวิสาหกิจนำหน้าก่อนหวังช่วยกดดันกทช.ออกไลเซนส์ใหม่ แถมช่วยลองผิดลองถูกเป็นตัวอย่างหลังแข่ง 3G เสรี ด้านนักวิชาการหวั่นซ้ำรอยไทยโมบายล์ ชี้ต้องวางแผนให้รัดกุม

ปี 2553 จะเป็นปีที่รัฐวิสาหกิจอย่างทีโอทีและกสท ให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ 3G เป็นรายแรก หลังทีโอทีนำร่องให้บริการในกทม.และปริมณฑล ในขณะที่กสทหลังควบรวมฮัทช์พร้อมลุย CDMA ทั่วประเทศกลางปี

2 คู่หูรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมจะฉกฉวยโอกาสทองครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ในระหว่างที่เอกชนรายใหญ่ยังรอความหวังไลเซ่นต์จากกทช.ที่คาดว่ากว่าจะได้ไลเซ่นต์และเปิดให้บริการ 3G ทีโอทีกับกสทจะให้บริการล่วงหน้ากว่า1 ปีแล้ว

นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่าธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3Gจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับทีโอทีโดยเฉพาะในแง่การสร้างรายได้จากบริการใหม่เพื่อชดเชยรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักที่สำคัญ แต่ปัจจุบันกลับปรับตัวลดลงไปมากเนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่หันไปใช้โทรศัพท์มือถือแทนเพราะสามารถตอบสนองการใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาแทน

ทั้งนี้ทีโอทีคาดว่าบริการ 3Gจะสามารถทำรายได้ชดเชยรายได้จากโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์สาธารณะได้ภายใน 2 ปี และสำหรับการให้บริการ 3Gทั่วประเทศ เชื่อว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2553 ซึ่งการที่ทีโอทีสามารถให้บริการได้ทั่วประเทศ จะเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เข้าทีโอทีมากยิ่งขึ้น ประกอบกับในปี2553 ทีโอทีจะมีผู้ให้บริการ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) ครบทั้ง 5 ราย คือ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย บริษัท ล็อกซเล่ย์บริษัท ไออีซี บริษัท 365และบริษัท เอ็ม คอนซัลต์ เอเชีย ซึ่งจะช่วยให้การรับรู้ 3G เฟสแรกที่ให้บริการในกรุงเทพและปริมณฑลดียิ่งขึ้น

สำหรับธุรกิจที่สร้างรายได้ทำให้ ทีโอที อยู่รอดได้ในปัจจุบันคือบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ซึ่งทำรายได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท ดังนั้นหากทีโอทีมีรายได้จากการให้บริการ 3G เข้ามาอีกทางก็จะช่วยให้ทีโอทีเกิดรายได้ใหม่มาชดเชยธุรกิจหลักเดิมได้เร็วขึ้น

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่าการที่กสทจะสามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA ทั่วประเทศ ในกลางปี 2553หลังซื้อกิจการ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวเลส มัลติมีเดีย หรือฮัทช์จนทำให้กสทเป็นผู้ให้บริการ CDMA ทั่วประเทศ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้กสท กลายเป็นผู้ให้บริการ 3G ที่มีจุดแข็งตรงความสามารถให้บริการได้ทุกพื้นที่ถึงแม้ปัจจุบัน ทีโอทีจะให้บริการ 3Gได้แล้วแต่ก็ยังให้บริการอย่างจำกัดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น

ทั้งนี้การซื้อฮัทช์จะเป็นกุญแจสำคัญ ช่วยให้การให้บริการ CDMA ของ กสท ดำเนินการได้อย่างเต็มที่เพราะที่ผ่านมา CDMA ให้บริการได้เฉพาะ 51 จังหวัดภูมิภาค การโรมมิ่งกับฮัทช์ใน25 จังหวัดภาคกลางทำได้เพียงวอยซ์ ไม่สามารถโรมมิ่งการให้บริการดาต้าได้ เพราะเทคโนโลยีทันสมัยต่างกัน ซึ่งการควบรวมฮัทช์กับ CAT CDMA จะทำให้กสทนำเอาศักยภาพของ CDMAไปขายให้กับประชาชนเต็มที่ เพราะในเงื่อนไขการซื้อคืน ฮัทช์จะต้องทำการอัพเกรดโครงข่ายให้เป็น EV-DO Rev A ซึ่งหมายถึงว่า กสทจะเป็นผู้ให้บริการ 3G ทั่วประเทศทันที

นอกจากนี้การควบรวมยังมีผลดีในเรื่องของการลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการโครงข่าย และการทำการตลาดลงเกือบครึ่งได้อย่างแน่นอน จากเดิมต้นทุนดังกล่าวมีจำนวนมหาศาล เพราะต่างฝ่ายต่างตั้งหน้าตั้งตาลงทุนโครงข่ายและทำการตลาด รวมทั้งยังสามารถดึงศักยภาพและจุดแข็งที่มีทั้งหมดออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และยังมองว่า CDMA เป็นเทคโนโลยีที่มีอนาคต เพียงแต่ต้องใช้จุดแข็งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์

การเปิดบริการ CDMA ทั่วประเทศจะช่วยให้กสทมีลูกค้าทันที 1.4 ล้านราย แบ่งเป็นมาจากฐานลูกค้าฮัทช์ 1ล้านรายและCAT CDMA 4 แสนรายซึ่งทำให้เกิดรายได้จำนวนมากเพื่อมาชดเชยรายได้จากโทร.ทางไกลต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากมีคู่แข่งในตลาดมาก ประกอบค่าบริการลดลงเรื่อยๆ และผู้ใช้บริการยังหันไปโทร.ผ่านVoIPมากขึ้น เพราะค่าบริการถูกลงและคุณภาพดีขึ้นจนใกล้เคียงบริการ IDD

รวมทั้งรายได้จากสัญญาสัมปทานซึ่งถือเป็นรายได้หลักของ กสท กำลังจะหายไปเมื่อกทช.ออกไลเซ่นส์ 3G ใหม่เพราะผู้รับสัมปทานเดิมจะหันไปขอไลเซ่นส์ใหม่เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพียง 6.5% ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทานสูงถึง 25-30%

เอกชนหนุนรัฐวิสาหกิจลุยไฟ 3G

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่าการที่ทีโอที และกสทเดินหน้าให้บริการ 3Gไปก่อนในปี2552 ถือเป็นผลดีเนื่องจากช่วยลดแรงกดดันด้านการลงทุน 3G ให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนกับคำถามที่ว่า 'เมื่อไหร่จะมี 3G' ให้หมดไป

นอกจากนี้ยังเป็นการเร่งรัดให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เร่งออกใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่มาตรฐาน 2.1 GHz เพราะการปล่อยให้มีผู้ให้บริการเพียง 2 รายในตลาดเป็นการผูกขาด ผู้ใช้บริการมีทางเลือกน้อย ดังนั้นกทช.ควรเร่งสร้างการแข่งขันโดยการให้ใบอนุญาตเพื่อให้มีผู้แข่งขันในตลาดประมาณ 4-5 รายจึงจะเหมาะสม

อย่างไรก็ตามการเปิดให้บริการ 3G ของทีโอที และกสท นับเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการเข้าถึงบริการใหม่ หลังจากรอคอยบริการดังกล่าวมากว่า 4 ปี ประกอบกับทีโอทีมีโอกาสลองผิดลองถูกในการให้บริการในระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีก่อนที่ผู้ประกอบการรายอื่นจะเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้รัฐวิสาหกิจสามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้

ทั้งนี้การที่ ทีโอทีและกสท เดินหน้าให้บริการ 3Gไปก่อนเอไอเอสอย่างน้อยหนึ่งปี ยอมรับว่าทำให้บริษัทเสียเปรียบในเชิงธุรกิจ แต่คาดว่าหากเอไอเอสได้ใบอนุญาตสำหรับการให้บริการดังกล่าวเอไอเอสจะสามารถตามทันได้เพราะ เอไอเอสเป็นบริษัทที่มีความรู้ ความชำนาญในธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์มือถือเนื่องจากเปิดให้บริการในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว

นายทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่านับเป็นสิ่งที่ดีที่ได้เห็นทีโอทีเปิดให้บริการ 3G เพราะปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศไทยมีความต้องการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการเปิดให้บริการ 3G ของทีโอทีน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้กระบวนการประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เกิดเร็วขึ้นด้วย เพื่อที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ จะสามารถเข้าร่วมเปิดให้บริการเพื่อสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรม เพราะหากมีผู้ให้บริการเพียง 2 รายอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยก็จะไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

สำหรับดีแทคนั้น ไม่เคยประมาทคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นรายใดก็ตาม ทั้งทีโอที ผู้ให้บริการ MVNO ของทีโอทีและกสท ผู้ให้บริการ CDMA แต่ขณะนี้ในระยะสั้นดีแทคยังไม่คิดว่าจะได้รับผลกระทบจากการที่ทีโอที และกสท ออกตัวให้บริการไปก่อน แต่ก็หวังว่า ดีแทคจะมีโอกาสได้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz โดยเร็วที่สุดเพื่อที่จะได้สามารถเข้าร่วมแข่งขันเพื่อให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายแก่ผู้บริโภค

นักวิชาการหวั่นซ้ำรอยเดิม

นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสารและสารสนเทศ กล่าวว่า การที่ทีโอที และกสท เปิดให้บริการ 3Gในประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ เป็นการช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการ หลากหลายมากยิ่งขึ้นจาก เดิมมีแต่บริการ 2G

ส่วนด้านผลเสียหรือโอกาส ที่ทั้ง 2 องค์กรจะได้รับยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะที่ผ่านมา ทีโอทีและกสทยังไม่ระบุถึงแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นแนวทางการทำการตลาด รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม ประเภทใด

'ผลเสียของการให้บริการของทีโอทีและ กสท ยังไม่สามารถประเมินได้เพราะที่ผ่านมาทั้ง 2 องค์กรยังไม่เปิดเผยถึงการดำเนินการด้านเทคนิค ด้านการทำการตลาดและวางตัวเองเป็นผู้ให้บริการประเภทใด ความไม่ชัดเจนดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยในอดีตที่ ทีโอทีและกสท ประสบมา เช่นกิจการร่วมค้าไทยโมบายล์ที่ล้มเหลว และการให้ฮัทช์เข้ามาทำการตลาด 25 จังหวัดของกสท'
กำลังโหลดความคิดเห็น