xs
xsm
sm
md
lg

เรกกูเรเตอร์ส่งสัญญาณตรึงค่าไฟถึงสิ้นปี 53 ยันรัฐแบกต้นทุนได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน กกพ. คาดรัฐตรึงค่าไฟถึงสิ้นปี 53 ยัน กฟผ.ยังรับภาระต้นทุนได้ ชูผลงาน 2 ปี ออกใบอนุญาตแล้ว 923 ฉบับ พร้อมเปิดแผนปี 53 เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์พลังงาน มุ่งสร้างประสิทธิภาพให้เกิดเป็นรูปธรรม เร่งกำหนดมาตรฐานค่าไฟ

นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกกูเรเตอร์ กล่าวถึงนโยบายการตรึงค่าไฟฟ้าเพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน โดยระบุว่า ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (Ft) ยังคงตรึงต่อไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2553 และหลังจากนั้น ก็จะมีการพิจารณาตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังสามารถในการแบกรับภาระค่า Ft ที่ปรับเพิ่มขึ้นได้จนถึงสิ้นปีนี้

"ยังมีความเป็นไปได้ ที่รัฐบาลจะคงอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน ไปจนถึงปลายเดือนธันวาคม 2552 นี้ หากราคาน้ำมัน และตลาดราคาก๊าซธรรมชาติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากระดับปัจจุบันมากนัก ถึงแม้ว่า ต้นทุนในการแบกรับภาระค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยล่าสุด กฟผ.จะต้องแบกรับภาระแทนประชาชนไว้ประมาณ 15,000 ล้านบาท"

สำหรับแผนงานในปี 2553 กกพ.กำหนดเป้าหมายเร่งผลักดันการทำงานให้สำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน 5 ปี(2551–2555) ที่เน้นประสิทธิผลและประสิทธิภาพของกิจการพลังงานและอุตสาหกรรมในภาพรวม เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรกำกับดูแลชั้นเลิศ โดยการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการบริการด้านพลังงาน การมีเวทีแข่งขันที่ได้มาตรฐาน และมีอัตราค่าบริการที่สะท้อนถึงต้นทุนที่ชัดเจนและมีความโปร่งใส

"จะเดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์พลังงาน มุ่งสร้างประสิทธิภาพให้เกิดเป็นรูปธรรม เร่งกำหนดมาตรฐานค่าไฟ ผลักดันพลังงานทดแทน และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน พร้อมเตรียมยกร่างระเบียบใช้จ่ายเงินกองทุนฯ มาตรฐานบริการก๊าซ และร่างกำหนดให้ VSPP รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนออกใบอนุญาต ตลอดจนเร่งสรรหาคณะกรรมการผู้ใช้พลังงงานประจำเขต สร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานสู่ท้องถิ่น"

นอกจากนี้ กกพ.ยังกำหนดกลยุทธ์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การวางรากฐานการกำกับกิจการพลังงานออกไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้พลังงานทั่วประเทศเกิดความเข้าใจในกิจการพลังงาน

สำหรับผลงานสำคัญในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ 1.การออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 923 ฉบับ แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า 225 ฉบับ กำลังการผลิตรวม 34,955 MW, ใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม จำนวน 631 ฉบับ กำลังการผลิตรวม 14,796 MW, ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 63 ฉบับ กำลังการผลิตรวม 1,088 MW และใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จำนวน 4 ฉบับ

2.การกำกับดูแลอัตราค่าบริการ โดยตรึงค่าเอฟทีมาแล้วจำนวน 4 รอบ ตั้งแต่งวดเดือนมกราคม 2552 ถึงปัจจุบัน (มกราคม-เมษายน 2553) รวมทั้งปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติที่สะท้อนภาระการลงทุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เท่าที่จำเป็น และเพียงพอต่อการลงทุนขยายระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ, 3.การจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยเตรียมยกร่างระเบียบกองทุนฯ หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถอนุมัติแผนงานโครงการของชุมชนได้ในเดือนเมษายน 2553

4.การจัดตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงงานประจำเขต (คพข.) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างนำร่างระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดย คพข.จะทำหน้าที่รับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน ให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งเสนอมาตรการแก้ไขปรับปรุงการให้บริการต่อ กกพ. เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน

5.การจัดตั้งสำนักงานประจำเขต สกพ.ในระดับภูมิภาค 13 เขต เพื่อรองรับการขอรับใบอนุญาต กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์ของกองทุนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ประสานการดำเนินงานกับคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต รับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้ใช้พลังงาน หรือผู้ประกอบกิจการพลังงาน สนับสนุนและประสานงานเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นตามพระราชบัญญัติฯ

6.เร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเป็นการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และยกร่างประกาศการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(ประกาศ Adder) และมอบหมายให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งรับไปจัดทำรายละเอียดและประกาศใช้ โดยการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกัน กกพ.อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ต้องรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ กกพ.ทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาให้ใบอนุญาต และเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะมีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ประธาน กกพ. กล่าวเสริมว่า กกพ.ยังเล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยในเดือน ก.พ.นี้ จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระหว่างเรกูเลเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อระดมความคิดเห็นและหาแนวทางในการกำกับกิจการพลังงานในสถานการณ์ที่ต้องคำนึงถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น