xs
xsm
sm
md
lg

แฉประชานิยม 6 มาตรการ 6 เดือน กฟผ.เจ๊งค่าไฟ 1.2 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฟฝ.เจ๊งค่าไฟ 1.2 หมื่น ล.ผู้ว่าฯ แจงนโยบายประชานิยม 6 มาตรการ 6 เดือน ส่งผลกระทบสภาพคล่อง 2 หมื่น ล.เพราะต้องแบกต้นทุนค่าก๊าซในระดับสูง อ้อนรัฐบาลใหม่จ่ายชดเชย-กู้เงินโปะหนี้ เล็งออกพันธบัตรแก้ปัญหา ม.ค.นี้

วันนี้ (14 ธันวาคม 2551) นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ กฟผ.กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการชดเชยค่าไฟฟ้า ตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดก่อน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีให้แก่ประชาชน 6 เดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ส่งผลให้ กฟผ.ไม่สามารถนำส่งเงินประมาณ 30% ของกำไรสุทธิที่ได้รับในแต่ละปีให้แก่กระทรวงการคลังได้

ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอยกเว้นนำส่งเงินกำไรสุทธิงวดที่ 2 ของปี 2551 คิดเป็นวงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องกันเงินเอาไว้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องขององค์กร และมีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทางการเงิน ซึ่งคงต้องรอให้รัฐบาลคืนเงินดังกล่าวกลับเข้ามาเสียก่อน กฟผ.จึงจะมีเงินเพียงพอที่จะนำส่งให้กระทรวงการคลังได้ตามปกติ

นายสมบัติ กล่าวชี้แจงว่า เงินกำไรส่วนที่ไม่ได้นำส่งให้กระทรวงการคลังนั้น กฟผ.จะนำไปใช้จ่ายเป็นค่าบริหารจัดการภายในองค์กร ได้แก่ ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ค่าเงินเดือนพนักงาน และค่าบริหารจัดการทั่วไป คิดเป็นวงเงินประมาณปีละ 24,000 ล้านบาท

ชณะที่มีรายงานว่า กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมแผนรับมือผลกระทบดังกล่าว โดยวางกรอบวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ กฟผ.เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเริ่มสะท้อนจากราคาน้ำมันของเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับกว่า 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ราคาก๊าซฯปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 220-230 บาทต่อล้านบีทียู โดยคาดว่าราคาก๊าซธรมชาติจะอยู่ระดับสูงไปถึงกลางปี 2552

สำหรับกรอบวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท คาดว่า กฟผ.จะใช้วิธีออกพันธบัตรระดมเงินในประเทศ และคาดว่า จะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมกราคม 2552 ส่วนมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าฟรี 6 เดือนนั้น ขณะนี้ กฟผ.ได้รับเงินคืนเพียงบางส่วน ยังเหลือเงินอีกประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ที่คาดว่า รัฐบาลต้องหาวิธีจ่ายชดเชยคืนให้

ทั้งนี้ ค่าเอฟทีงวดก่อนที่ไม่ได้ปรับเพิ่มตามต้นทุนแท้จริง และราคาก๊าซที่อยู่ในระดับสุง ประเมินว่า กฟผ.ต้องรับภาระจากต้นทุนที่จ่ายไปก่อนกว่า 12,000 ล้านบาท คิดเป็นต้นทุนค่าเอฟทีประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้ คาดว่ากฟผ.จะต้องรับภาระต่อเนื่องไปอีกจนถึงกลางปีหน้า คิดเป็นวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไป เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ปรับลดลงกว่า 3% ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าในปี 2551 ลดลงไปกว่า 3% จากประมาณการ เมื่อรวมที่ต้องแบกต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และรับภาระจาก 6 มาตรการไปทำให้ปลายปี 2551 กฟผ.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนต้องขอกรอบวงเงินกู้ไว้ 20,000 ล้านบาท ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น