xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ฉายภาพ ศก.ปี 53 เป็นปีแห่งความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน-ดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองภาพรวม ศก.ปี 53 เป็นปีแห่งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน-ดอกเบี้ย พร้อมคาด ธปท.เตรียมปรับขึ้น ดบ.นโยบาย 0.75% โดยมีปัจจัยเงินเฟ้อกดดันนโยบาย ดบ.ที่ผ่อนคลาย ขณะที่ประเมินภาพ ศก.สหรัฐฯ ยังไม่ดีนัก เป็นแรงกดดันเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าต่อไปอีกระยะ

นายเชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2553 โดยเชื่อว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3% หรืออยู่ในกรอบ 2.5-3.5% จากปี 2552 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 3.1% ขณะที่มองแนวโน้มเงินเฟ้อปีหน้าจะปรับสูงขึ้น จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่า น่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเป็นบวก แต่อยู่ในอัตราที่สูงขึ้นไม่มากนัก

ขณะที่มองว่า ปัจจัยเงินเฟ้อจะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมองว่าในปี 2553 ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวม 0.75% ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม แต่การปรับขึ้นของธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องขึ้นอยู่กับสภาพคล่องในระบบด้วย

"ศูนย์วิจัยฯ มองว่าในปี 53 จะเป็นปีผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะดีขึ้น อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ก็ได้"

ผลจากที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังไม่ดีขึ้น อาจจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2553 ดังนั้น จึงเป็นแรงกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินสกุลภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเงินบาทแข็งค่า โดยคาดว่าในปี 2553 เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า เฉลี่ยอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ จากปี 2552 ที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 33.70 บาทต่อดอลลาร์

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงกับภาวะฟองสบู่ของประเทศในเอเชียที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับขึ้นร้อนแรง ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลี ออสเตรเลีย มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และเมื่อถึงจุดที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มทรงตัว และเฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้ตลาดเกิดความผันผวน ซึ่งอาจจะมีการเทขายทำกำไรเงินสกุลเอเชียและลงทุนในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น