xs
xsm
sm
md
lg

"ทีดีอาร์ไอ" ชำแหละวิกฤตสังคมไทย "โฆสิต" แนะรื้อโครงสร้าง ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ทีดีอาร์ไอ" เปิดเวทีสัมมนาชำแหละวิกฤตในสังคมไทย ชี้ต้นตอของปัญหาโครงสร้าง ศก.ไทย มาจาก 3 เรื่อง ทั้งปัญหาความยากจน ที่เป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศมายาวนาน ปัญหาการผูกขาดทาง ศก.ที่เกิดจากการคอรัปชั่น ทั้งในเชิงนโยบายและการผูกขาด รวมถึงมาตรการรัฐในการเอื้อสัมปทาน เพื่อผลตอบแทนส่วนเกิน เป็นชนวนให้นักธุรกิจใช้ผลตอบแทนที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน "โฆสิต" แนะปรับโครงสร้าง ศก.ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำสังคม และปัญหาความยากจน

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ในฐานะประธานสภา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการสัมมนาวิชาการเสนอผลงานวิจัยประจำปี 2552 เรื่อง "การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม" โดยระบุว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจต้องอาศัยภาคการเมือง แต่การเมืองก็ต้องฟังเสียงประชาชนให้ความรู้ข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนรับทราบจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีและต้องยอมรับความเห็นที่มีความแตกต่างกัน แต่ประชาชนไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ขณะนี้ ถึงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางออกของการแก้วิกฤตของประเทศด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาความยากจน ความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือต้องให้ภาคเอกชนเป็นตัวนำและขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ยุคฟื้นตัวและจะต่อเนื่องไปอีก 2 ไตรมาส ซึ่งขณะนี้กำลังจับตาประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่าภาครัฐจำเป็นต้องหยุดใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เอกชนขับเคลื่อนไปด้วยตัวเองได้หรือไม่

ทั้งนี้ ต้นตอของปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มาจาก 3 เรื่องด้วยกัน คือ ปัญหาความยากจน ที่เป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศ ปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการคอรัปชั่นทั้งในเชิงนโยบาย หรือการผูกขาด รวมถึงมาตรการของรัฐบาลบางเรื่อง เช่น การให้สัมปทาน ทำให้เกิดผลตอบแทนส่วนเกิน และทำให้นักธุรกิจใช้ผลตอบแทนดังกล่าว เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน

สุดท้าย ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ยังรุนแรงและเรื้อรัง สะท้อนได้จากยังมีคนยากจนและมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดสวัสดิการ และขาดโอกาสการเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และสินเชื่อ

"เมื่อรวมกับการที่นักการเมืองวางนโยบายประชานิยม ที่ซื้อใจกลุ่มคนด้อยโอกาส แม้จะเกิดผลสำเร็จทางการเมือง ได้รับการตอบรับสูง ได้รับคะแนนนิยมสูง โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลัง และพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจไม่รู้จบ"

นอกจากนี้ ปัญหาความยากจน การทุจริตคอรัปชั่น และความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ ยังเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข จากอดีตที่มุ่งเน้นการปฏิรูปกฎกติกาหรือสถาบันการเมือง จากนี้ไปจะต้องมุ่งสร้างความเข้าใจถึงการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว เพราะหากไม่สามารถทำความเข้าใจกับปัญหาและแก้ไขได้ ปัญหาจะลุกลามขยายวงกว้าง จนเกิดผลเสียของประเทศอย่างที่คาดไม่ถึง

"ผลจากการสอบถามชาวบ้าน มองประเทศก็เหมือนหม้อข้าวตัวเอง ถ้าเราไม่รักประเทศก็เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง ผมก็คิดว่าหากเราไม่ทำความเข้าใจ หาทางออกที่ราบรื่น ก็เหมือนกำลังทุบหม้อข้าวตัวเอง หากไม่เข้าใจถึงอันตราย ปัญหายังจะลุกลามออกไป จะเกิดผลเสียของประเทศอย่างที่คาดไม่ถึง"

ดังนั้น การปฎิรูปเศรษฐกิจต้องอาศัยการเมืองเข้าสนับสนุน โดยต้องรับฟังเสียงจากประชาชน เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่หลากหลาย และเมื่อมีการนำเสอนผลการศึกษาที่มีความชัดเจน มีข้อมูลที่รอบด้าน จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้

นิพนธ์ พัวพงศกร ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น่าจะมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจที่อยู่ระดับสูงมาก นโยบายของรัฐเปิดช่องให้มีการแสวงหาผลกำไรส่วนเกินในรูปแบบต่างๆ การผูกขาดการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรัฐ

ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจึงมีโอกาสเรื้อรังต่อไป เพราะการปฏิรูปการเมืองที่เน้นเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาการเลือกตั้ง การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองต่างๆ ได้ ตราบใดที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรยังมีการกระจุกตัวของผลตอบแทนส่วนเกิน และยอมรับว่าภาครัฐเป็นผู้ค้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุด เพราะเมื่อรับจำนำเข้ามาอยู่ในสตอกสินค้าจะเสื่อมคุณภาพแล้วขายส่งออกในราคาขาดทุน และขบวนการแทรกแซงสินค้าเกษตรจะมีการวิ่งเต้นมีปัญหาทุจริต ใช้อำนาจการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เกิดการสูญเสีย

ทั้งนี้ รัฐควรเลิกแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร ปล่อยให้เอกชนค้าขาย แต่กำกับเอกชนไม่ให้เอาเปรียบเกษตรกร แต่คงไว้สำหรับนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน ส่วนการปรับปรุงมาตรการประกันรายได้ควรปรับลดปริมาณประกันราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวเปลือกเหลือ 10 ตันต่อครอบครัว การให้เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันภัยเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ การลงทุนระบบถ่ายภาพผ่านดาวเทียม เพื่อตรวจสอบพื้นที่ในการประกันราคา การไม่ควรใช้เงินกู้ในโครงการต่างๆ ควรจัดสรรจากงบประมาณประจำปี โดยยอมรับการประกันรายได้ของรัฐบาลปัจจุบันยังมีจุดอ่อนด้านต่างๆ โดยเกษตรกรจำนวนมากไม่เข้าใจ เพราะมีการประชาสัมพันธ์น้อยมาก มีการเริ่มต้นโครงการล่าช้า และยังมีกลุ่มผลประโยชน์คอยถ่วงโครงการไม่ให้คืบหน้า มีพื้นที่จดทะเบียนสูงเกินจริง เพราะไม่มีเวลาตรวจสอบให้ชัดเจน โดยปริมาณสินค้าเกษตรประกันต่อครอบครัวสูงเกินไป ทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท จึงต้องระมัดระวังในการดูแลสินค้าเกษตร

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทยยังเป็นปัญหา สำหรับผลตอบแทนส่วนเกินในเศรษฐกิจ เนื่องจากการผูกขาดการกระจุกตัวของรายได้ในภาคธุรกิจ โดยที่ผ่านมามีการร้องเรียนด้านต่างๆ ให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไข แต่ไม่มีผลปรากฏชัดเจนว่าหน่วยงานภาครัฐได้แก้ไขตามที่มีข้อร้องเรียนจากประชาชน โดยเฉพาะปัญหาการแข่งขันของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น ปูนซีเมนต์ จักรยานยนต์ เบียร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ การค้าปลีก เคเบิลทีวี

ดังนั้น จึงควรแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2542 เนื่องจากโครงสร้างกรรมการถูกการเมืองครอบงำจนไม่สามารถทำอะไรได้ มีการประชุมเพียง 1-2 ครั้งต่อปีเท่านั้น และหน่วยงานภาครัฐมักจะใช้อำนาจหรือให้ข้อมูลกับภาคเอกชน เพื่อสมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนี้ กฎหมายแข่งขันทางการค้า ยังมีข้อยกเว้นให้กับรัฐวิสาหกิจและสหกรณ์ ทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจของรัฐวิสาหกิจได้ จึงควรแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อปรับโครงสร้างกรรมการ โดยเฉพาะการให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นกรรมการ เพราะจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น