xs
xsm
sm
md
lg

6 ห่วย 6 มาตรการ 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ไม่น่าเชื่อว่าภายในเวลาชั่วข้ามคืน “มาตรการกู้หน้า” ของรัฐบาลสมัครจะกลายเป็น ‘หมัน’ ในเชิงการตลาดไปในทันที

แม้ว่าตั้งแต่ช่วงเย็น-ค่ำวันอังคาร (15 ก.ค.) จนถึงรุ่งเช้าวันพุธฟรีทีวีทุกช่องจะกล่าวขวัญถึงมาตรการนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ค่อนข้างจะสรรเสริญนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลตามธรรมเนียมปกติของฟรีทีวี

ทว่า เช้าวานนี้หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับต่างวิพากษ์วิจารณ์ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤต” ที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแสนจะภูมิใจนักภูมิใจหนาไปในทิศทางเดียวกันว่า มาตรการที่ออกมาในช่วงนี้นั้นเป็นมาตรการขายผ้าเอาหน้ารอดและเป็นมาตรการหาเสียงล่วงหน้าเผื่อเอาไว้หากมีการยุบสภาเท่านั้น มิได้เป็นมาตรการที่คิดจะช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง หรือเป็นมาตรการที่แก้ปัญหาโดยยั่งยืนแต่อย่างใด

ยกตัวอย่างเช่นในภาคเอกชน คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภากรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ในเชิงรู้ทันว่าทางหอการค้าไม่ได้โต้แย้งรัฐบาลกรณีใช้ 6 มาตรการช่วยเหลือประชาชน แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่บิดเบือนและแฝงไปด้วยประชานิยมก็ตาม

ส่วนภาควิชาการ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตำหนิไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐบาลได้คิดและทำไว รีบร้อนมาก โดยไม่มีใครรู้เลย แม้แต่เลขาธิการสภาพัฒน์ มาตรการดังกล่าวคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเพราะขณะนี้รัฐบาลได้เจอวิกฤตทางการเมืองและถูกโจมตีอย่างหนัก แต่กลับเปิดกรุสมบัตินำเงินมาซื้อประชาชน เป็นนโยบายขายผ้าเอาหน้ารอด ซึ่งไม่ช้าก็เร็วคิดว่าไม่รอด”

ขณะที่ภาคสื่อมวลชนอย่าง คุณสุนันท์ ศรีจันทรา สื่อมวลชนสายเศรษฐกิจและนักวิเคราะห์ระดับอาวุโสก็กล่าวอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะปัญหาจริงๆ ก็คือ ประชาชนและภาคเอกชน “ขาดความเชื่อมั่น” ต่อรัฐบาล อีกทั้งมาตรการที่ออกมาเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพียง 6 เดือน และขาดการวางแผนระยะยาวเพื่อจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ความห่วยแตก 6 ประการ ของ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤต” ผมลองสรุปไว้คร่าวๆ ได้ดังนี้คือ

หนึ่ง มาตรการทางเศรษฐกิจดังกล่าวออกมาล่าช้าเกินไปมาก อย่างน้อยๆ ก็ช้าไป 5 เดือน เพราะนับตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่กุมบังเหียนการบริหารประเทศ รัฐบาลของนายสมัครก็ไม่เคยคิดที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนให้กับประชาชน ถ้าจะมีก็เพียงมาตรการฉาบฉวยจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง เช่น ข้าวถุงธงฟ้า มหกรรมสินค้าราคาถูกเท่านั้น ช่วง 5 เดือนกว่าที่ผ่านมารัฐบาลนายสมัครทำงานไม่เป็น ได้แต่แก้ปัญหาทางการเมืองด้วยโวหาร แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อพรรคพวกและเพื่ออดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

แม้ในเวลาต่อมาจะมีคนออกมากระทุ้งให้รัฐบาลใส่ใจแก้ปัญหาข้าวยากหมากแพง แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนก่อนแก้ปัญหาให้ตัวเอง นายสมัครก็ไม่เคยฟังทั้งยังดื้อดึงจะแก้รัฐธรรมนูญต่อ ซึ่งข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่าพรรคพลังประชาชนไม่เคยล้มเลิกความคิดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 แต่อย่างใด

สอง มาตรการ 6 มาตรการข้างต้นเป็นมาตรการเชิงรับที่ขาดความยั่งยืน ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามาตรการดังกล่าวเป็น “นโยบายประชานิยม” สูตรเก่าที่รัฐบาลไทยรักไทยเคยนำมาใช้และล้มเหลวมาแล้ว (อย่างเช่นในกรณีการตั้งกองทุนน้ำมัน) ซึ่งในท้ายที่สุด มาตรการเชิงรับดังกล่าวก็จะส่งผลเพียงแค่การชะลอวิกฤตออกไปชั่วคราวเท่านั้น มิได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ส่วนคำอ้างของนายกฯ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลังฯ ที่ว่า สาเหตุที่กำหนดระยะเวลาของมาตรการไว้เพียง 6 เดือนนั้นก็เพื่อรอโครงการเมกะโปรเจกต์ให้มีความชัดเจน รอเรื่องทิศทางราคาน้ำมัน รอเรื่องพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิง E85 ให้ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนต่างทราบดีว่า เมกะโปรเจกต์ไม่มีทางเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน โดยอย่างน้อยๆ ต้องกินเวลาหลายปี ส่วนเรื่องเชื้อเพลิง E85 ก็เป็นเพียงนโยบายทางการตลาดที่ขาดความแน่นอนไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิต-นำเข้าเอทานอล หรือการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ให้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องยนต์ที่สามารถใช้เชื้อเพลิง E85 ก็ตามที

สาม เป็นมาตรการที่เพิ่มภาระการคลังให้กับประเทศและสุดท้ายภาระก็จะกลับมาสู่ประชาชน ทั้งนี้ต้องทราบว่า มาตรการ ค่าน้ำฟรี, ค่าไฟฟรี, ค่ารถประจำทางฟรี, ค่ารถไฟฟรี ที่รัฐบาลระบุว่าจะ ช่วยเหลือประชาชนฝ่าวิกฤตนั้นแท้ที่จริงแล้ว “ไม่ใช่ของฟรีจริง” เพราะ เงินงบประมาณกว่า 49,000 ล้านบาทที่ใช้ในช่วง 6 เดือนข้างหน้านั้น ในอนาคตหากรัฐบาลขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น ไม่มีงบประมาณจะใช้จ่าย ก็ต้องมาล้วงกระเป๋าประชาชนด้วยการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกว่า 30,000 ล้านบาท ที่ภาระไปตกอยู่กับกระทรวงการคลัง สุดท้ายแล้วจะส่งผลให้มีการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 หรือไม่ เพราะ นโยบายปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นทางกระทรวงการคลังได้มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว

สี่ ผู้ออกมาตรการขาดความเข้าใจกับปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง สำหรับ 6 มาตรการ 6 เดือน ที่ออกมานั้นมาตรการที่น่าหัวร่อที่สุดก็คือ มาตรการขึ้นรถประจำทางฟรี 800 คัน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เหตุใดจึงไม่ดำเนินการลดค่าโดยสารรถร้อนทุกคันครึ่งหนึ่งไปเลยซึ่งจะมีความเป็นธรรมและง่ายต่อการดำเนินการมากกว่า โดยในประเด็นนี้ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 15 ก.ค. ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ที่ปรึกษา รมว.คลัง ได้ชี้แจงเหตุผล ผ่านรายการตอบโจทย์ทางสถานีทีวีไทยว่า เพราะอยากให้ประชาชนชั่งน้ำหนักเอาว่าจะรอขึ้นรถฟรีหรือยอมจ่ายเงินดี?!?

คำอธิบายของของ ดร.สุชาติ พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า ผู้วางนโยบายขาดความเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง และเพียงแต่มุ่งหวังว่า “ขึ้นรถเมล์ฟรี” จะเป็นคำโฆษณาที่ขายได้เท่านั้น

ห้า มาตรการดังกล่าวขาดการวางแผนและประสานงานที่ดี ซึ่งจะทำให้ขาดผลในทางปฏิบัติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ 6 มาตรการ ดังกล่าว มีการแถลงออกมาแบบฉับพลันโดยไม่มีใครทราบเรื่องเลยแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือบุคลากรระดับปฏิบัติการของทั้ง ร.ฟ.ท. หรือ ขสมก. ซึ่งในเวลาต่อมาต่างก็ออกมาส่งเสียงคัดค้านอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันภาคเอกชนอย่างรถร่วมบริการ ผู้เสียประโยชน์โดยตรงจากนโยบายดังกล่าว ภาครัฐก็ขาดนโยบายรองรับหรือชดเชยให้กับพวกเขา

นอกจากนี้ รัฐบาลยังขาดการประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลนโยบายการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยในการชะลอขึ้นดอกเบี้ย เพราะวานนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่งมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกร้อยละ 0.25 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นแน่นอนว่าจะเพิ่มภาระให้ประชาชนอีกต่อ

หก เป็นมาตรการที่ขาดความเป็นธรรม ดังจะเห็นได้ชัดว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซลนั้นเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นจะเอาใจคนเมือง กลุ่มคนที่มีรายได้ระดับกลางไปจนถึงผู้ประกอบการขนส่งมากกว่าตั้งใจจะช่วยเหลือคนจนหรือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เพราะคนจนส่วนใหญ่ไม่ได้มีรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตนเอง

กล่าวโดยสรุปแล้ว จุดประสงค์ที่แท้จริงในการออก “6 มาตรการ 6 เดือน” ของนายสมัครนั้นมิได้มุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นความต้องการที่จะยืดอายุ “รัฐบาลขายชาติ” ให้นานออกไปอีกหน่อยเท่านั้น อุปมาอุปไมยแล้วไม่ผิดกับการโปะ “ยาหม่อง” ไปบนศพขึ้นอืด เพราะในความเป็นจริงยาหม่องไม่มีคุณสมบัติอะไรที่จะปลุกศพให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา จะมีประโยชน์ก็เพียงแค่ช่วยกลบกลิ่นเหม็นเน่าที่ฟุ้งกระจายเพียงประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น