xs
xsm
sm
md
lg

กูรูแนะธุรกิจตั้งแผนสำรอง เบียร์สิงห์เปิดอดีตสุดขมขื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกสมาคมตลาดฯ ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยและโลกปีหน้าส่งสัญญาณรู้ตัวดีขึ้น แนะงัดแผนสำรองรับมือหากผันผวนอีก ด้านเบียร์สิงห์เปิดอดีตขมขื่นยิ่งกว่าเบียร์ ชี้ 9 ปัจจัยหลักสูญแชมป์

นายสมบุญ ประสิทธิ์จูตระกูล นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และประธานอำนายการ-ประเทศไทย บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด กล่าวในงานสัมมนาวันนักการตลาดแห่งประเทศไทย วานนี้ว่า จากมาตรการของภาครัฐที่นำออกมาใช้ในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตั้งแต่ต้นปีนั้น คาดว่าจะส่งผลดีและชัดเจนมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นงบไทยเข้มแข็งหรืองบต่างๆ ที่คาดว่าในช่วงสั้นนี้อาจจะสามารถกระตุ้นการซื้อ การจับจ่ายได้ดีขึ้น อีกทั้งในช่วงใกล้สิ้นปีนี้เป็นช่วงเทศกาลการจับจ่ายคาดว่าจะช่วยทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นบ้าง

“ทิศทางเศรษฐกิจจากนี้ไป เริ่มดีขึ้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม และเดือนกันยายนแล้ว คาดว่าไตรมาสสุดท้ายนี้จะดีขึ้นตามลำดับ และคาดว่าตลาดคอนซูเมอร์โดยรวมในสิ้นปีนี้จะมีอัตราการเติบโตที่ 5-6% เพราะว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เริ่มไหลกลับเข้ามาบ้างแล้ว ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ก็เริ่มคึกคัก แต่ว่าปัจจัยต่างประเทศก็ยังสำคัญอยู่ ที่จะมีผลต่อประเทศไทยด้วย แต่เชื่อว่าประเทศใหญ่ๆอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน ก็คงจะไม่ปล่อยให้ประเทศของเขาต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย คงต้องมีวิธีการในการรับมือไว้เช่นกัน ในการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจโดยรวม”

อย่างไรก็ตาม นายสมบุญ กล่าวถึงประเด็นที่กรมการค้าภายในออกมาระบุถึงกลยุทธ์ที่นักการตลาดนำมาใช้ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีในช่วงนี้ คือ กลยุทธ์ไซส์ซิ่ง ว่ากลยุทธ์ดังกล่าวผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่ต้องใช้ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีนั้น เพื่อต้องการให้คนรู้สึกว่าจ่ายเท่าเดิม แต่ได้สินค้าเหมือนเดิม และไม่ได้เป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค 100% ด้วย เพราะผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นที่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อของชิ้นใหญ่โดยไม่จำเป็น โดยส่วนตัวมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีเท่านั้น ประมาณ 6-8 เดือน พอเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น คาดว่าปีหน้ากลยุทธ์การทำไซส์ซิ่งก็คงจะไม่ใช้กันแล้ว

นอกจากนั้น นายสมบุญ ยังแนะด้วยว่า แม้ว่าแนวโน้มในปีหน้าจะดีขึ้นก็ตาม แต่การทำตลาดภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนนั้น นักการตลาดและนักธุรกิจทั่วไป ควรที่จะมีการทำแผนสำรองเตรียมไว้ เนื่องจากเมื่ออยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือทรงตัวก็จะใช้แผนปกติ แต่ถ้าเกิดเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นก็จะได้มีแผนสำรองมารองรับกับการทำธุรกิจต่อไป

**อดีตขื่นขมของเบียร์สิงห์**

นายฉัตรชัย วิรัตนโยสินทร์ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวในหัวข้อ “ไม่ระย่อมรสุม” ว่า ปัจจัยหลัก 9 ประการที่ทำให้ค่ายเบียร์สิงห์ต้องสูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดเบียร์ให้กับคู่แข่งคือ 1.ความประมาท2.การเมินเฉยความต้องการลูกค้า3.การขาดการประเมินศักยภาพของคู่แข่ง4. การไม่ได้จัดทำแผนธุรกิจที่ดี 5.ความเสียเปรียบในเรื่องของต้นทุนสินค้า6.การบริหารสินทรัพย์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ 7.การขาดความเป็นมืออาชีพ8.ความเย่อหยิ่งจองหอง และ9.การจมปลักกับความสำเร็จในอดีต อีกทั้งเรายังโดนกลยุทธ์ของคู่แข่งอีกคือ ขายพ่วง และชื่อเสียงของแอ๊ด-คาราบาว ที่ทำให้เบียร์คู่แข่งเพิ่มขึ้น และยอดขายของเราหดตัวลง

อย่างไรก็ตาม จากที่ค่ายสิงห์เคยเป็นผู้นำตลาดทั้งเรื่องของกำไร และยอดขายรวมช่วงปี 2538-2543 แต่ก็ลดลงเหลือแชร์ 20% ในปี 2543และเคยเหลือแชร์เพียง 9% ในปี 2551แต่ก็สามารถกลับมาทวงคืนตำแหน่งแชมป์และผู้นำตลาดเบียร์ได้ ด้วยสันติวิถี ด้วยคำพูดของนายสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ ที่กล่าวกับลูกน้องในอดีตว่า

“ผม (สันติ) ยอมรับว่าแพ้แต่ไม่ยอมแพ้ แล้วคุณ(พนักงาน)จะสู้กับผมไหม” ซึ่งประโยคนี้ทำให้ลูกน้องเกิดความฮึกเหิมรวมกับการต้องควบคุมอีโก้ให้อยู่ โดยฟังมากว่าพูด แก้ปัญหาให้ตรงจุด บวกกับความเป็นผู้นำของผู้บริหารที่ดีต้องมีคุณธรรม ปัญญา เป็นผู้ใหญ่ เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ตัดสินใจให้เด็ดขาด

ดังนั้นช่วง 8 ปีแห่งความทุกข์ ตั้งแต่ปี 2545แบ่งเป็น 5 ปีแห่งการปรับปรุงและ 3 ปีของการไล่ล่า ทำให้บุญรอดฯมีแชร์ 61.8% ส่วนไทยเบฟเหลือ33% ขณะที่ตลาดเบียร์มีมูลค่า 114,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว แบ่งเป็นกลุ่มพรีเมียม 4% เติบโต 2% กลุ่มสแตนดาร์ด 9% เติบโต 0% และกลุ่มอีโคโนมี 87% ติดลบ 3% และปีนี้คาดว่าตลาดเบียร์รวมจะเติบโตลดลง แม้วันนี้เราจะกลับมาเป็นผู้นำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ชนะ ตราบใดที่ธุรกิจยังมีการแข่งขันกันอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น