xs
xsm
sm
md
lg

รุมกินโต๊ะคำสั่งระงับ 76 โครงการมาบตาพุด สั่งจัดแถวแห่ยื่นอุทธรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” สั่งหน่วยงานรัฐเรียงแถวยื่นอุทธรณ์ศาลปกครอง เพื่อทบทวนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนิคมมาบตาพุด ยืนยันปฏิบัติตาม รธน.ทุกประการ พร้อมยืนยัน โครงการมาบตาพุดที่ผ่านมาผ่าน ผลการศึกษาผลกระทบ สวล.แล้ว



เมื่อเวลา13.00 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กรณีที่ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 โดยระบุว่า ที่ประชุมรับทราบ และมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงต่างๆ สำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปหารือเพื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวใน 1-2 วันนี้ โดยหลักปฏิบัติของรัฐบาล คือ อุทธรณ์เฉพาะโครงการที่อนุญาตไปแล้ว เพื่อให้โครงการเดินต่อไปได้ และมีปัญหาที่ต้องสอบถามศาลปกครอง ว่า ถ้าจะออกคำสั่งระงับกิจกรรมต่างๆ จะให้ใช้เหตุผลและอำนาจตามกฎหมายลักษณะใดเพราะสิ่งที่ทำไปก่อนหน้านี้ 14 โครงการ และมีการออกใบอนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้ก่อสร้าง และเกิดการประกอบการเมื่อก่อสร้างเสร็จ รวมทั้งอีกส่วนหนึ่งได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานนั้น คำถามคือมาตรการชั่วคราวนั้นจะเพิกถอนหรือระงับรูปแบบใด เพราะตรงนี้ไม่มีความชัดเจน ซึ่งจะยื่นอุทธรณ์ไปพร้อมกัน

นายกฯ กล่าวว่า โครงการที่กำลังดำเนินการอนุมัตินั้นจะชะลอไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีความชัดเจนในเรื่องที่ยื่นอุทธรณ์ไป และสิ่งที่ดำเนินไปก่อนหน้านี้คำวินิจฉัยของศาลนั้น ศาลเห็นว่าบรรดาโครงการใดๆ ก็ตาม โครงการที่มีความจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ศาลก็ใช้มาตรการชั่วคราวเพื่อระงับโครงการเหล่านี้เพื่อให้มีความชัดเจน และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 แต่สิ่งที่รัฐบาลยืนยันคือรัฐบาลปฏิบัติตามมาตราดังกล่าวอยู่แล้ว โครงการที่เดินหน้าไป นั้นคือ โครงการที่รัฐบาลเห็นว่าไม่มีผลกระทบรุนแรงกับชุมชน โดยอาศัยการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นเกณฑ์การกำหนดโครงการ นอกจากนั้น พื้นที่มาบตาพุดก็ยึดถือตามมติที่ออกมาเมื่อปี 2550 ว่า การขยายหรือเปิดกิจการ มันมีเงื่อนไขในการไปปรับลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการเดิมที่มีอยู่ รัฐบาลยึดถือแนวปฏิบัตินี้บนความเข้าใจว่า การให้ดำเนินการตรงนี้ได้มันเป็นการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยแบบนี้ก็ต้องขอความชัดเจนถึงแนวปฏิบัติ เพราะแม้แนวปฏิบัติจะเป็นเช่นใด แต่รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและต้องการให้ได้ข้อยุติอย่างเร็ว เพราะจะเป็นปัญหาความไม่แน่นอน และความเชื่อมั่นกับการลงทุน เพราะนักลงทุนให้ความสำคัญกับกฎและกติกา

เมื่อ ถามถึงความคืบหน้าการตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อมาดูแลโครงการต่างๆ ที่อาจสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมจากข้อร้องเรียนของประชาชนมาบตาพุดที่เคย ยื่นไว้กับนายกฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 คือ การปรับขบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องให้ครอบคลุมทางด้านการประเมินผลกระทบกับสุขภาพให้ชัดเจนขึ้น โดยความเห็นจากองค์กรอิสระนั้นกำลังดำเนินการอยู่เพื่อกำหนดแนวทาง แต่การตั้งองค์กรอิสระที่ตนได้รับข้อร้องเรียนมานั้นไม่ได้ระบุชัดว่าต้องทำ ด้วยวิธีใดเพราะแต่ละวิธีมันมีข้อดีและข้อเสียเพราะบทบัญญัติที่เขียนอยู่ ไม่ได้เขียนลักษณะที่ว่าต้องมีองค์กรอิสระตามที่หลายคนเข้าใจและไม่ได้ บังคับว่า ต้องเป็นแบบนั้น แนวทางที่เสนอมานั้นอาจจะเป็นการขึ้นทะเบียนองค์กรอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ โดยองค์กรเหล่านี้จะให้ความเห็นและมีส่วนร่วมในขบวนการประเมินผลกระทบต่างๆ โดยพร้อมที่จะดำเนินการแต่ตอนนี้ปัญหาส่วนใหญ่คือการตีความกฎหมายที่ไม่ตรง กันว่ารูปแบบที่ควรจะทำนั้นควรจะเป็นเช่นใด ยืนยันว่ารัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือ โครงการใดที่มีผลกระทบรุนแรง ก่อนดำเนินโครงการนั้นจะขอความเห็นจากองค์กรอิสระก่อน

เมื่อถามว่า ความไม่แน่นอนในสิ่งที่เกิดขึ้น นักลงทุนอาจย้ายฐานและถอนการลงทุนจากไทย นายกฯกล่าวว่า หากยืดเยื้อมันก็เป็นเรื่องหนักใจ หากได้ข้อยุติเร็วก็อธิบายได้เพราะธุรกิจต้องคำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมแต่หากเกิดความไม่แน่นอนสูงนั้นย่อมส่งผลกับการตัดสินใจ และ ต้องอธิบายว่าเมื่อกฎหมายกำหนดไว้รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม ผู้ที่จะชี้ขาดว่าอะไรเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่คือระบบศาล ฉะนั้น ต้องเคารพ แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและยังมั่นใจว่าปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นวันที่ 1 ต.ค.จะเร่งเรื่องการยื่นอุทธรณ์ เมื่อถามว่า ศาลระบุว่าควรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเเก้ปัญหา นายกฯกล่าวว่า ตอนนี้กระบวนการพิจารณาตามมาตรา67ของรัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่ดูแลอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงและพื้นที่มาบตาพุดนั้นนอกจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีมติในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ฉะนั้นมันคือการล็อกในภาพรวมไปแล้ว วันนี้ ยังปรับโครงสร้างให้คณะกรรมการชายฝั่งทะเลภาคใต้ให้มาดูแลเรื่องนี้ทั้งหมด ด้วยเพราะมองเห็นปัญหาว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมนั้นส่งผลกระทบกับชุมชนและ การบริหารจัดการจะเป็นปัญหาไปเรื่อยๆหากไม่มีการทบทวนแนวทางการพัฒนาทั้งหมด มันจึงเป็นการตั้งโจทย์ขึ้นใหม่เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมกาการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาตินำไปศึกษาและรายงานกลับมา โดยนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขอเวลาหนึ่ง เดือน

“ผมให้การบ้านสภาพัฒน์ 1 เดือน สมมติว่า จะหยุดเลยผลกระทบจะเป็นเช่นใด ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงานรายได้ และเทียบเคียงกับสิ่งที่จะมาทดแทน เช่น รายได้จากภาคบริการ การท่องเที่ยว ครีเอทีฟอีโคโนมี ที่ผ่านมา แต่ละหน่วยงานดึงการลงทุนเข้ามาโดยไม่ได้หารือกันในภาพรวมจริงๆ ว่า เราต้องการอุตสาหกรรมแบบใด แค่ไหน” นายกฯกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น