xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายละเอียดคำแถลง ป.ป.ช.เชือด “สมัคร-นพดล” ยกแผ่นดินให้เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.
วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ.2552


สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทร.0 2281 7126 โทรสาร 0 2281 8421 www.nacc.go.th


ด้วยในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันนี้ มีเรื่องสำคัญที่ควรแถลงให้สื่อมวลชนทราบ คือ เรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามคำร้องขอให้ถอดถอน นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีอาญากับ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะรัฐมนตรี ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และข้าราชการส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก กล่าวคือ

ตามที่ คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 141 คน ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภามีมติถอดถอน นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง และประธานวุฒิสภาได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้ง มีผู้กล่าวหาที่เป็นบุคคลธรรมดา สมาชิกวุฒิสภา แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงบุคคลดังกล่าว โดยกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่เห็นชอบและลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communiqué) สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ส่งผลกระทบต่ออาณาเขตของประเทศไทยและเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 นอกจากนั้น ผู้กล่าวหาบางราย ยังได้กล่าวหารวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเห็นชอบและการลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว และยังได้กล่าวหาว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการเอื้อประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐบาลกัมพูชา เนื่องจาก พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความประสงค์จะเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะการเช่าพื้นที่เกาะกง เป็นเวลา 99 ปี และมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้

1.ผู้ถูกกล่าวหา ประกอบด้วย
1.1 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
1.2 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ
1.3 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์
1.4 นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง
1.5 นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี
1.6 พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี
1.7 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม
1.8 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
1.9 นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
1.10 นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง
1.11 ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง
1.12 นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ
1.13 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา
1.14 นายสุธา ชันแสง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
1.15 นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์
1.16 นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รมช.เกษตรและสหกรณ์
1.17 นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรและสหกรณ์
1.18 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม
1.19 นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม
1.20 นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม
1.21 นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.22 นายมั่น พัธโนทัย รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
1.23 พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน
1.24 นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์
1.25 พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์
1.26 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย
1.27 นายสุพล ฟองงาม รมช.มหาดไทย
1.28 นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ รมช.มหาดไทย
1.29 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม
1.30 นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน
1.31 นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมว.วัฒนธรรม
1.32 นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1.33 นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ
1.34 นายพงศกร อรรณนพพร รมช.ศึกษาธิการ
1.35 นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข
1.36 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข และ รมว.พัฒนาสังคมฯ
1.37 นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข
1.38 นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
1.39 นายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูตประจำกรุงปารีส
1.40 นายพิษณุ สุวรรณะชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก
1.41 นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
1.42 พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร
1.43 พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
1.44 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงความเป็นมากรณีการเห็นชอบและลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Communiqué) สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง สรุปได้เป็นลำดับ ดังนี้

1.ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 (ค.ศ.1962) โดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา จึงพิพากษาโดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ว่า ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา โดยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ว่า ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนบรรดาวัตถุชนิดต่าง ๆให้แก่กัมพูชา และพิพากษาให้ไทยถอนกำลังทหารหรือตำรวจ และคืนวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนประเด็นปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชานั้น เป็นเพียงความเห็นไม่ได้พิพากษาแต่อย่างใด รวมทั้ง เรื่องเส้นเขตแดน และแผนที่ศาลก็ไม่ได้พิพากษาตามที่กัมพูชาขอแต่อย่างใด

2.ประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงไม่เห็นด้วยตามคำพิพากษา แต่ในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ อันเป็นผลมาจากคำตัดสิน ตามนัยข้อ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ

3.คณะรัฐมนตรี มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ว่าการกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก ให้ใช้วิธีที่ 2 ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยกำหนดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ ¼ ตารางกิโลเมตร

4.เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ลงนาม โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวาร์ คิม เฮง ที่ปรึกษารัฐบาลผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งตามบันทึกข้อ 5 ทั้งสองฝ่ายจะงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมเพื่อประโยชน์ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน

5.ต่อมาช่วงปี 2548-2549 ประเทศกัมพูชา ได้ดำเนินการฝ่ายเดียวในการยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ประเทศไทยได้มีบันทึกช่วยจำ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ประท้วงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยประชุมที่ 31 ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2550 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช (Christchurch) ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีการบันทึกไว้ว่า กัมพูชาและไทยตกลงกันว่ากัมพูชา จะเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก อย่างเป็นทางการ ในสมัยประชุมที่ 32 ของคณะกรรมการมรดกโลก ในปี 2551

6.หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาเข้ารับหน้าที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และวันที่ 3 - 4 มีนาคม 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปเยือนกัมพูชา ในการหารือกับสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น นายสมัครได้ชี้แจงว่าไทยมิได้ขัดขวางกัมพูชา เพียงแต่จะต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกัน มิให้เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิของฝ่ายไทยในเรื่องเส้นเขตแดนและอธิปไตย และนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือร่วมกับนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาได้เสนอร่าง joint statement ให้ฝ่ายไทยพิจารณา มีสาระสำคัญว่า ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ไม่ถือเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ

7.นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้มีบันทึก ลงวันที่ 3 เมษายน 2551 เสนอขออนุมัติร่างบันทึกช่วยจำเพื่อประท้วงกัมพูชาเกี่ยวกับการละเมิดอธิปไตยบริเวณพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ให้กัมพูชาถอนกำลังทหารตำรวจออกจากพื้นที่ทับซ้อนทันที ซึ่งบันทึกช่วยจำได้อ้างถึงการประท้วงกัมพูชา เมื่อปี 2550 ที่คัดค้านคำขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกและบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก เมื่อปี 2543 ด้วย นายนพดล ได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2551 และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้มอบบันทึกช่วยจำแก่อัครราชทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 ซึ่งกัมพูชาส่งบันทึกช่วยจำตอบโต้ เมื่อวันที่ 11เมษายน 2551 โดยปฏิเสธทุกประเด็น และกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้เสนอให้นายนพดล ปัทมะ รับทราบ

8.ในวันที่ 8 เมษายน 2551 ได้มีการประชุมคณะทำงานเกี่ยวกับปัญหาปราสาทพระวิหาร นายมนัสพาสน์ ชูโต เป็นประธานแทนรัฐมนตรี ได้บันทึกรายงานผลการประชุมต่อรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการจัดทำแผนเตรียมการเกี่ยวการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 เสนอให้นายนพดล ปัทมะ รับทราบ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2551

9.นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้มีบันทึกลงวันที่ 11 เมษายน 2551 เสนอการประเมินผลการดำเนินการตามแผนรักษาสิทธิของไทยกรณีกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยประเมินผลตามขั้นตอนที่ 1 การเจรจาทำความตกลงทวิภาคีเรื่องการบริหารจัดการร่วมกันกับกัมพูชา โดยฝ่ายไทยได้ปรับร่าง joint statement ให้ฝ่ายกัมพูชาพิจารณาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 และทาบทามให้มีการเจรจาจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ คาดว่าฝ่ายกัมพูชาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเจรจาทวิภาคี และมุ่งบีบไทยในเวทีพหุภาคีซึ่งเชื่อว่าจะมีแรงสนับสนุนมากกว่าฝ่ายไทย และเสนอแนะเห็นควรเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนที่ 2 ในกรอบพหุภาคีโดยจัดทำและบรรจุข้อบทรักษาสิทธิของไทยไว้ในข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลก และหากโอกาสอำนวยอาจพิจารณาหาทางให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 เลื่อนการพิจารณาออกไปอีกครั้งหนึ่ง โดยเสนอตามลำดับชั้นเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่ นายนพดล ปัทมะ ได้เก็บเรื่องไว้ไม่สั่งการใดๆ จนกระทั่งวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 จึงได้ส่งแฟ้มเรื่องคืน

10.นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มอบหมายให้ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไปเจรจาเรื่องกัมพูชาขอเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก กับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 โดยมีนายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ร่วมคณะในการไปเจรจาด้วย นายนพดล ปัทมะ ได้บันทึกสั่งการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2551 ว่า “ทราบ และให้เจรจาโดยไทยไม่เสียดินแดนและต้องนำข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชากลับมาหารือและขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรีก่อน”

11.วันที่ 5 พฤษภาคม 2551 (วันฉัตรมงคล) นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการ จำนวน 3 ราย โดยแต่งตั้งให้นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย แทน นายวีรชัย พลาศรัย และให้ นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ประจำกระทรวง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามเสนอ

12.กรณีมอบหมายให้ ไปเจรจากับ นายสก อาน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 นั้น กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้บันทึกลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2551 รายงานผลการหารือต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ ว่า กัมพูชายังคงไม่ยอมรับการมีอยู่ของพื้นที่ทับซ้อน แต่ไม่อาจหักล้างท่าทีของไทยที่แสดงเหตุผลว่า เขตแดนตามแผนที่คณะกรรมการปักปันสยาม - ฝรั่งเศส ที่กัมพูชาอ้าง ไม่ผูกพันไทย โดยผลของคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ การเจรจาร่าง joint statement ยังตกลงกันไม่ได้ กัมพูชาต้องการระบุเพียง 1) ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และ 2)การขึ้นทะเบียนฯ จะไม่กระทบต่อการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดน และการจัดพื้นที่อนุรักษ์บริเวณปราสาทฯ จะไม่ถือเป็นเส้นเขตแดน แต่ฝ่ายไทยประสงค์จะให้มีเพิ่มเป็นข้อ 3) เรื่องการพัฒนาร่วม โดยในระหว่างรอให้งานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนเสร็จในบริเวณนี้ ให้จัดตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเพื่อการพัฒนาร่วม และกัมพูชามีท่าทีที่จะร่วมมือมากขึ้น และเสนอร่าง joint statement ให้นายนพดล ปัทมะ เห็นชอบ นายนพดล ปัทมะ รับทราบเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551

13.วันที่ 14 พฤษภาคม 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเดินทางไปร่วมพิธีเปิดถนนหมายเลข 48 (เกาะกง - สแรอัมเบิล) และสะพาน 4 แห่ง ซึ่งนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมเดินทางไปด้วย และนายนพดล ปัทมะ ได้นัดพบ เจรจาหารือกับ นายสก อาน ในเรื่องปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา และพื้นที่พัฒนาร่วมบริเวณไหล่ทวีปที่ไทย และกัมพูชา ต่างอ้างสิทธิทับซ้อนกัน

14.นายเชิดเกียรติ อัตถากร หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี ได้มีบันทึกลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ถึงอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับนายสก อาน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 ที่จังหวัดเกาะกง แล้วฝ่ายกัมพูชาได้ปรับท่าทีในการเจรจาปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเฉพาะตัวปราสาท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาท่าทีของกัมพูชา รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมายและการรักษาอธิปไตยของไทยในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร

15.กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย มีบันทึกลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 เสนอสืบเนื่องจาก บันทึกสำนักงานรัฐมนตรี วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 สรุปว่า ไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนแบบเดิมหรือขึ้นเฉพาะตัวปราสาท การออกมาตรการ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งใน 2 กรณี ล้วนต้องดำเนินการในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิด้วยทั้งสิ้น หากไทยยอมรับข้อเสนอก็ถือว่าไทยเปลี่ยนท่าทีไปจากเดิม เพราะฝ่ายไทยยืนยันโดยเข้มแข็งมาโดยตลอดว่าไทยกับกัมพูชาต้องตกลงเรื่องการบริหารจัดการร่วมให้ได้ก่อนขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก นอกจากนั้น หากไทยยอมรับแนวทางดังกล่าวก็อาจมีผลกระทบต่อท่าทีและน้ำหนักข้อต่อรองในการเจรจาของฝ่ายไทยเรื่องเขตแดนและการบริหารจัดการร่วมในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนในอนาคตเป็นอย่างมาก และ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บันทึกรับทราบเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2551

16.นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 เสนอคณะรัฐมนตรี รับทราบผลการดำเนินการและการเจรจากับกัมพูชา โดยรายงานด้วยว่า นายสก อาน เสนอว่าจะหารือกับฝ่ายกัมพูชากันเอง และกับยูเนสโกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ รวมทั้งวิธีดำเนินการที่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และฝ่ายกัมพูชาเสนอให้มีการประชุม 3 ฝ่ายระหว่างไทย กัมพูชา และยูเนสโก ที่กรุงปารีส ฝ่ายไทยตอบรับข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะนำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปร่วมการประชุมดังกล่าวและคณะรัฐมนตรีได้รับทราบในการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551

17.วันที่ 22 พฤษภาคม 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เจรจาหารือกับ นายสก อาน ที่สำนักงานใหญ่ ยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้จัดทำร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqué) โดยไทยสนับสนุนกัมพูชาในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยจะจำกัดขอบเขตเฉพาะตัวปราสาท ซึ่งกัมพูชาจะจัดทำแผนที่ฉบับใหม่ใช้แทนแผนที่ฉบับเดิม แต่ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำกลับไปขอรับความเห็นชอบจากรัฐบาลของตนก่อน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามกำกับร่างไว้ และนายนพดล ปัทมะ ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมในหลักการก่อน เมื่อได้รับแผนที่ฉบับใหม่จากกัมพูชาแล้วจะเสนอเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่เสนอ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551

18.กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 มิถุนายน 2551 ตามบัญชาของนายนพดล ปัทมะ ส่งสำเนาแผนที่ที่กัมพูชาใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฉบับใหม่ที่ได้รับจากฝ่ายกัมพูชาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 ให้กรมแผนที่ทหารตรวจสอบว่าค่าพิกัดภูมิศาสตร์ของขอบเขตตัวปราสาทที่กัมพูชาเสนอมานั้นมีส่วนใดที่ล้ำเข้ามาในดินแดนไทยตามที่ยึดถืออยู่ในปัจจุบันหรือไม่

19.หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับที่ 4242 วันที่ 10 มิถุนายน 2551 หน้า 4 ได้ตีพิมพ์บทความพิเศษเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร ของศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ไทยจึงไม่สมควรเปลี่ยนท่าทีหรือยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบในระดับรัฐบาลและประชามติ”

20.วันที่ 16 มิถุนายน 2551 ได้มีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqué) โดยไทยสนับสนุนกัมพูชาในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก พร้อมแผนที่แนบท้าย ให้ที่ประชุมพิจารณาและนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอต่อที่ประชุมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อ่อนไหวต่อมวลชนทั้งในประเทศโดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ และประเทศกัมพูชา เพื่อมิให้ผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จึงได้ขอความกรุณาท่าน ผบ.สูงสุด ได้กำชับแหล่งข่าวบางแหล่งมิได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น นอกจากเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว และกัมพูชาจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2551 ประเด็นนี้อาจจะใช้เป็นประเด็นในทางการเมืองของเขา และอาจมีผลอย่างที่สถานทูตเราเคยถูกเผาเมื่อหลายปีก่อน ขอความกรุณาให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ และขอความกรุณาจากทุกหน่วยงานระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์ด้วย และยังได้กล่าวถึงกรณี นายสมปอง สุจริตกุล ซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไปเขียนบทความในลักษณะว่าไทยกำลังจะเสียดินแดน บทความนี้สร้างความสับสนให้กับประชาชน คล้ายกับว่า ไทยยังเป็นเจ้าของปราสาทอยู่

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สอบถามว่า ตกลงประชุมวันนี้ก็ไม่แถลงเหรอ นายนพดล ปัทมะ แจ้งว่าแถลงแค่เพียงว่าเราไปตรวจสอบแผนที่แล้วเรารับได้แต่เราจะไม่บอกว่าเราไปกดดันให้เขาแก้ไขอะไรต่าง ๆ เขายอมเรา นายสมัคร แจ้งว่า มันเป็นเรื่องใหญ่นะเขาจะเอาออกจากตำแหน่งนะ นายนพดล ปัทมะ แจ้งว่าไม่เป็นไร นายสมัคร แจ้งว่า เมื่อครั้งไปแนะนำตัวได้พูดจากันถูกอัธยาศัย สิ่งหนึ่งที่คุณฮุนเซน เขาปรับทุกข์ก็คือ ขอให้เราช่วยอนุเคราะห์เขาหน่อยเขาต้องทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อผลการเลือกตั้ง

ในที่สุดที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมที่เสนอ

ในการประชุมดังกล่าวมี พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 43 เป็นสมาชิกและเลขานุการ และมีนายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 38 นายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูตประจำกรุงปารีส ผู้ถูกกล่าวหาที่ 39 นายพิษณุ สุวรรณะชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 40 และนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวง การต่างประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 41 ร่วมประชุมด้วย

21.นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2551 เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างคำแถลงการณ์ร่วมและแผนที่แนบท้าย และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในร่างคำแถลงการณ์ร่วม และเสนอว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น หากจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ขอให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แถลงข่าว

22.วันที่ 16 มิถุนายน 2551 วันเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ ได้ออกรายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ เกี่ยวกับเรื่องแถลงการณ์ร่วมฯ และได้ชี้แจงว่าข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นรัฐกับรัฐ ซึ่งทำให้ไม่สามารถลงรายละเอียดได้มาก เพราะมันเป็นผลผูกพันประเทศ การให้ข่าวขอให้ข่าวคนเดียว ตอนนี้มันเปิดเผยไม่ได้ เพราะมันเป็นความลับของทางราชการ หลังจากนี้สภาก็สามารถไปตรวจสอบได้และกรณีชาวบ้านที่กันทราลักษณ์ไม่พอใจนั้น นายนพดล ปัทมะ บอกว่าไม่อยากปลุกกระแสความรักชาติอย่างเกินขอบเขต

23.วันที่ 16 มิถุนายน 2551 นายประพันธ์ คูณมี ปราศรัยที่เวทีกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร เมื่อเวลา 22.00 น.และมีการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาในการที่จะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไม่เคยเปิดเผยข้อเท็จจริงให้พี่น้องทราบเลย เราจะต้องใช้สิทธิของเราตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต่อไปนี้ ถ้ารัฐบาลจะไปเซ็นสัญญาใดๆ กับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศใด ๆ ในโลกอันมีผลเป็นการกระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศแล้ว คณะรัฐมนตรีจะต้องนำข้อมูลนั้นมาให้ประชาชนทราบ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้

24.วันที่ 17 มิถุนายน 2551 คณะรัฐมนตรี พิจารณามีมติ เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ คือ 1) ร่างคำแถลงการณ์ร่วมและแผนที่แนบท้าย 2) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมและให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการตามแนวทางที่เสนอต่อไปได้ กล่าวคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น หากจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แถลงข่าว

รัฐมนตรีผู้มีรายชื่อเข้าประชุมประกอบด้วย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3, 6-8, 10-13, 15-22, 24-27, 29-31 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 33-35 รวม 28 คน และมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 38 และ 39 ได้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้ชี้แจงด้วย

25.วันที่ 18 มิถุนายน 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communiqué) สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

26.วันที่ 24 มิถุนายน 2551 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ กับพวก รวม 9 คน ได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ 1 และคณะรัฐมนตรี ที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 ว่าแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqué) โดยไทยสนับสนุนกัมพูชา ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แต่ไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอน และขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา

ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551 ห้ามมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมฯ และการดำเนินการตามมติดังกล่าว และต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง

27.วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ และให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นและคำแนะนำให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งขอระงับผลการใช้บังคับของคำแถลงการณ์ร่วมออกไปก่อน ให้รัฐบาลกัมพูชา องค์กร และผู้เกี่ยวข้องทราบโดยด่วน

28.นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2551 ถึงหัวหน้าคณะผู้แทนจาก 21 ประเทศ ในการประชุมสมัยที่ 32 ของคณะกรรมการมรดกโลกแจ้งให้ทราบถึงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางของไทย และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 และไม่สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และในวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 นายนพดล ปัทมะ และนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติแถลงคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยประชุมที่ 32

29.มติคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 รับรองว่า คำแถลงการณ์ร่วมลงนามวันที่ 18 มิถุนายน 2008 (2551) โดยผู้แทนของรัฐบาลแห่งกัมพูชา และไทย รวมทั้งยูเนสโก รวมทั้งร่างแถลงการณ์ร่วม ต้องไม่ได้รับการอ้างถึง ตามการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่ระงับผลของแถลงการณ์ร่วมภายหลังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองไทยในเรื่องนี้ และขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารกัมพูชาเป็นมรดกโลก ไม่รวมชะง่อนเขาที่มีพื้นที่กว้าง หน้าผาและถ้ำต่าง ๆ

30.วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ 6 - 7/2551 ชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communiqué ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสอง

ผู้อำนวยการกองเขตแดนระหว่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร ให้ถ้อยคำสรุปว่า ปัญหาเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารซึ่งมีเขตติดต่อระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา นั้น ยังไม่มีการจัดทำแผนที่เขตแดนที่ชัดเจน แต่ก็มีการกำหนดไว้ในสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1904 (ร.ศ.122) (พ.ศ.2447) ให้ยึดถือแนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งแนวเขตแดน ตามสนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส มีหน้าที่ปักปันสำรวจและเก็บข้อมูลแผนที่ให้เป็นไปตามสนธิสัญญา ต่อมาประเทศฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นมาชุดหนึ่งในอัตราส่วน 1 : 200,000 แต่แผนที่ดังกล่าวไม่เป็นไปตามแนวสันปันน้ำในพื้นที่จริง ผลิตเสร็จเมื่อประมาณปี ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) และได้มอบแผนที่ให้กับประเทศไทยด้วยโดยตามแผนที่ดังกล่าวปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2497 ประเทศไทยโดยกรมแผนที่ทหารได้จัดทำแผนที่ขึ้นใช้งาน โดยจัดทำขึ้นฝ่ายเดียวซึ่งยึดถือแนวสันปันน้ำ และปราสาทพระวิหารอยู่ภายในเส้นเขตแดนของประเทศไทย อย่างไรก็ตามเมื่อมีการนำคดีปราสาทพระวิหารขึ้นศาลโลก และในปี พ.ศ.2505 ศาลโลกได้พิพากษาโดยมีความเห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และพิพากษา ให้ไทยถอนกำลังทหารหรือตำรวจ และคืนวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 กำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหารเป็น เนื้อที่ประมาณ ¼ ตารางกิโลเมตร เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2514 ประเทศไทยโดยกรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุดได้จัดทำแผนที่ชุด L7017 ซึ่งก็ได้ยึดถือแนวสันปันน้ำเช่นกัน แต่ได้กันเขตบริเวณปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2505 ออกไป ซึ่งแผนที่ดังกล่าวสงวนสิทธิการใช้เส้นเขตแดนไว้ว่า ไม่ถือใช้อ้างอิงอย่างเป็นทางการ แผนที่ชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของทางการไทยเท่านั้น ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น พื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ประเทศกัมพูชาถือแนวเขตแดนตามแผนที่ที่จัดทำโดยประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) แต่ประเทศไทยถือตามหลักแนวสันปันน้ำ ตามหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1904 (ร.ศ.122) (พ.ศ.2447) และแผนที่ชุด L7017 ที่ใช้ในการปฏิบัติงานของทางการไทยได้ยึดถือแนวสันปันน้ำ แต่ก็ได้กันเขตบริเวณปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2505 ออกไป จึงมีพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณดังกล่าวกับประเทศกัมพูชา ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้วเห็นว่า

1.นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 นายสุธา ชันแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 36 และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 37 รวม 4 คน ได้ลาออกจากตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่ยังไม่เข้ารับหน้าที่ แล้วแต่กรณี โดยจากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ราย มีชื่อเป็นรัฐมนตรีตามสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 แต่อย่างใด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9, 14, 36 และ 37 จึงไม่มีส่วนในการกระทำตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

2.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 พลโท หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 23 นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 28 และนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 32 รวม 5 คน โดยจากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏตามสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4, 5, 23, 28 และ 32 ลาประชุมดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4, 5, 23, 28 และ 32 จึงไม่ได้ร่วมประชุมมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา (Joint communiqué) พร้อมแผนที่แนบท้ายดังกล่าวด้วย จึงไม่มีความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

3.พลโท แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 42 ได้ถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551 คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ

4.พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 44 จากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐาน ว่า ได้ทำสัญญากับประเทศกัมพูชาในเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กล่าวหาและไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำคำแถลงการณ์ร่วมฯ แต่อย่างใด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือทราบ และให้โอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และนำสืบแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่แล้ว พบว่า นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 พันตำรวจโท บรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 25 และนายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 33 รวม 3 คน ไม่ได้อยู่ร่วมในการประชุมคณะรัฐมนตรีขณะมีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Communiqué) สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จึงไม่มีความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ผู้ถูกกล่าวหาที่คงเหลืออยู่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง ต่อ 3 เสียง ดังนี้

สาระสำคัญของร่างคำแถลงการณ์ร่วมมี ดังนี้

ข้อ 1.ราชอาณาจักรไทย สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลกซึ่งเสนอโดยรัฐบาลกัมพูชา ตามที่จะได้มีขึ้นในการประชุมสมัยที่ 32 ของคณะกรรมการมรดกโลกที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2008 โดยเขตรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N. 1 ในแผนที่ที่แนบท้ายที่จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลกัมพูชา แผนที่ดังกล่าวให้รวมถึงพื้นที่กันชน (buffer zone) ในด้านทิศตะวันออกและด้านใต้ของปราสาทตามที่ระบุไว้ตามเครื่องหมาย N. 2 ด้วย

ข้อ 2.ในบรรยากาศแห่งความปรารถนาดีและประนีประนอมต่อกัน ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับให้ปราสาทพระวิหารถูกเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก โดยขั้นตอนนี้ยังไม่ให้รวมถึงพื้นที่กันชน (buffer zone) ตามพื้นที่ด้านเหนือและตะวันตกของปราสาท

ข้อ 3.แผนที่แนบท้ายตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้น ให้ใช้แทนแผนที่เดิมที่เกี่ยวกันและรวมถึง “Schema Directeur pour la Zonage de Preah Vihear” และรวมถึงผังหรือแผนแบบอ้างอิงทั้งหมดที่ระบุถึงเขตพื้นที่สำคัญ (Core zone) และเขตอื่น ๆ (zonage) เขตพื้นที่อื่นของปราสาทพระวิหารที่ปรากฏในคำร้องขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชา

ข้อ 4.ในระหว่างรอผลปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วม (JBC) เพื่อกำหนดอาณาเขตเกี่ยวกับพื้นที่รอบปราสาทด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งระบุโดยเครื่องหมาย N.3 ไว้ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้น ให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวโดยวิธีการ ประสานกันระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์ เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สินนี้ แผนการจัดการดังกล่าวจะถูกรวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับองค์ปราสาทและพื้นที่รอบ ๆ ปราสาทนั้น ซึ่งจะต้องนำเสนอต่อศูนย์กลางมรดกโลกก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2010 เพื่อนำเข้าพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 34 ใน ค.ศ.2010

ข้อ 5.การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลก จะเป็นไปโดยไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ในการกำหนดเส้นเขตแดนของคณะกรรมการร่วมเพื่อการกำหนดเขตแดน (JBC) ของทั้งสองประเทศ

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 6-7/2551 มีข้อวินิจฉัย ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง : คำแถลงการณ์ร่วมฉบับดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า คำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

ประเด็นที่สอง : คำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสอง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า คำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ด้วยเหตุผลสองประการ คือ ประการแรก ข้อความของมาตรา 190 วรรคสอง ส่วนที่ว่า “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ…” ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้หมายรวมถึง“หนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ...” อีกด้วย จากการตีความตามความมุ่งหมายและขยายความบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีคำแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ว่า “แม้จะไม่ได้ปรากฏสาระสำคัญอย่างชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อบททั้งหมดในคำแถลงการณ์ร่วมประกอบกับแผนที่หรือแผนผังแนบท้ายซึ่งจัดทำขึ้นโดยประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวอันประกอบเป็นส่วนหนึ่งของคำแถลงการณ์ร่วมแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแผนที่ดังกล่าวได้กล่าวอ้างถึงพื้นที่ N. 1 N. 2 และ N. 3 โดยที่ไม่ได้มีการกำหนดเขตของพื้นที่ N. 1 N. 2 และ N. 3 ให้ชัดเจนว่ามีบริเวณครอบคลุมส่วนใดของประเทศใดเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปภายหน้าได้”

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยโดยมีเหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ว่าคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา คือ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ส่วนที่ว่า “หนังสือสัญญาใด...มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง” นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า “การที่ประเทศกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่เป็นประเด็นโต้เถียงกันในเรื่องของเส้นเขตแดนและขอบเขตที่ปราสาทตั้งอยู่ ทั้งเป็นประเด็นที่มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านสังคมและการเมืองมาโดยตลอดการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเจรจากับประเทศกัมพูชาก่อนที่จะได้มีการลงนามคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว พึงเล็งเห็นได้ว่า หากลงนามคำแถลงการณ์ร่วมไป ก็อาจก่อให้เกิดการแตกแยกกันทางด้านความคิดเห็นของคนในสังคมทั้งสองประเทศ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤติแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง”

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ย่อมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีเพียงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 มีเจตนาพิเศษ คือ กระทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่

ในปัญหานี้ ความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 มีอยู่สองประการ ประการแรกคือ ความเสียหายที่เกิดจากอาณาเขตของประเทศไทย“อาจ” มีบทเปลี่ยนแปลงโดยคำแถลงการณ์ร่วมที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ลงนามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอีกประการหนึ่งคือ ความเสียหายที่เกิดจากความมั่นคงทางสังคมของประเทศถูกกระทบอย่างกว้างขวางโดยคำแถลงการณ์ร่วมนี้

สำหรับความเสียหายที่เกิดจากอาณาเขตของประเทศไทย “อาจ” มีบทเปลี่ยนแปลง โดยคำแถลงการณ์ร่วมหรือสภาวะที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกว่า “เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย” นั้น เห็นว่า ตามคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Communiqué) และแผนที่แนบท้ายสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังกล่าว ปรากฏว่า ในแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมที่ประเทศกัมพูชาเป็นผู้จัดทำขึ้นมีการกำหนดเขตรอบพื้นที่ปราสาทพระวิหารอย่างชัดแจ้งโดยระบุในแผนที่ว่า เป็นพื้นที่ N.1 แม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีบริเวณจำนวนน้อยกว่าบริเวณปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ก็ตาม อาจถือได้ว่าประเทศไทยได้ยอมรับเขตแดนรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ ใน บริเวณ N.1 โดยปริยาย นอกจากนี้แถลงการณ์ร่วมในข้อ 4. ที่ระบุว่า “…เครื่องหมาย N.3 ไว้ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้น ให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวโดยวิธีการประสานกันระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ด้านการอนุรักษ์เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สินนี้แผนการบริหารจัดการดังกล่าวจะถูกรวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับปราสาทและพื้นที่รอบๆ ตัวปราสาทนั้น..” ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลผูกพันประเทศไทยและอาจทำลายน้ำหนักในการอ้างอิงเขตแดนที่ประเทศไทยยึดถือสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนมาโดยตลอด

สำหรับความเสียหายที่เกิดจากความมั่นคงทางสังคมของประเทศถูกกระทบอย่างกว้างขวางนั้น ความมั่นคงทางสังคมที่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าจะกระทบอย่างกว้างขวางจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา คือ การโต้เถียงกันในเรื่องเส้นเขตดินแดน ซึ่งจะเพิ่มทวีขึ้นจนถึงขนาดเกิดความแตกแยกกันในด้านความคิดเห็นของคนในสังคมของทั้งสองประเทศและอาจก่อให้เกิดวิกฤติแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั้น เห็นว่า มีพยานหลักฐานในสำนวนที่แสดงว่า นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ดำเนินการในลักษณะปิดบังอำพรางไม่โปร่งใสและมีมูลเหตุจูงใจอย่างอื่นแอบแฝงอยู่ ดังจะเห็นได้จาก ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอต่อที่ประชุมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อ่อนไหวต่อมวลชนทั้งในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษและประเทศกัมพูชา..............ขอความกรุณาให้สภาความมั่นคงแห่งชาติถือเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ และขอความกรุณาจากทุกหน่วยงานระมัดระวังการให้สัมภาษณ์ด้วย นอกจากนี้ ในการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ก็ได้เสนอว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น หากจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนขอให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แถลงข่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง จะให้ฝ่ายบริหารดำเนินการได้โดยปราศจากการตรวจสอบของรัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นผู้แทนของประชาชนชาวไทย

พยานหลักฐานในสำนวนที่แสดงให้เห็นว่า นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 รู้อยู่แล้วถึงผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ มีการเสนอของเจ้าหน้าที่ที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ไม่รับฟังเรื่องนี้ มีการวิพากษ์กันอย่างกว้างขวางโดยนักวิชาการ นักการเมืองตลอดจนสื่อมวลชน แต่การวิพากษ์ดังกล่าวกลับถูกตอบโต้อย่างรุนแรงโดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 เอง อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 เองกลับอ้างเอาความอ่อนไหวในเรื่องนี้มาเป็นเหตุหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของสาธารณชนรวมทั้งรัฐสภา ซึ่งบ่งชี้ถึงความรู้ความเข้าใจในผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาที่ 12

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงสถานะทางการเมืองของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ในฐานะเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ทั้งในผลกระทบของการลงนามในร่างคำแถลงการณ์ร่วมและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงนามดังกล่าวแล้ว ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 กระทำไปโดยรู้อยู่แล้วเป็นอย่างดีในผลกระทบด้านเขตแดนของประเทศ ผลกระทบทางสังคมและความเสียหายที่จะเกิดจากผลกระทบดังกล่าว การกระทำของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 จึงเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยและคนไทยทุกคน มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

สำหรับ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลต้องทราบดีถึงความอ่อนไหวของประเด็นซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤติการณ์ทางสังคม นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นผู้ขอให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ นายฮุน เซน ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2551 อันเป็นการนำผลประโยชน์ของประเทศชาติมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมืองต่างประเทศ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 จึงเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยและคนไทยทุกคนมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นรัฐมนตรี ซึ่งเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การดำเนินการของผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 มีลักษณะเป็นงานทางวิชาการและทางเทคนิค การรับรู้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ เป็นการรับรู้ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 12 แจ้งในที่ประชุมในเวลาอันสั้น ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้จึงไม่น่าจะรู้ถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ทำให้คำแถลงการณ์ร่วมมีผลกระทบต่อเขตแดนของประเทศ และความมั่นคงของประเทศอย่างกว้างขวางตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นรัฐมนตรีเหล่านี้ มีเจตนากระทำความผิดร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ข้อกล่าวหาในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นรัฐมนตรีเหล่านี้ ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นข้าราชการประจำ ล้วนปฏิบัติงานทางวิชาการและทางเทคนิคในหน้าที่การงานของตน ด้วยลักษณะของงานราชการประจำที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันตลอดมาตั้งแต่สมัยก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีบทบัญญัติให้หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวิสัยของข้าราชการประจำ ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้จึงใส่ใจเฉพาะในประเด็นเรื่องเขตแดนดังที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยมิได้เฉลียวใจในผลกระทบทางสังคมและความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่า ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้ล่วงรู้ถึงมูลเหตุจูงใจทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ที่จะช่วยเหลือพรรคการเมืองที่นำโดยนายฮุน เซน ในการเลือกตั้งตามที่นายฮุน เซน ขอความอนุเคราะห์จากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ จึงไม่มีเจตนากระทำความผิดร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 12 การกระทำของข้าราชการประจำดังกล่าวจึงไม่มีมูลความผิดตามที่กล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

อนึ่ง ในจำนวนเสียงของกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 6 เสียง ที่ลงมติว่า นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายนพดล ปัทมะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 มีมูลความผิดตามที่ถูกกล่าวหานี้ มีกรรมการ ป.ป.ช.จำนวนหนึ่งเสียง ลงมติว่า รัฐมนตรีที่อยู่ร่วมในการประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ทั้งหมด มีมูลส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีเหล่านี้ รวมทั้งข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เช่นกัน

ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีกับนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายนพดล ปัทมะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 70 และให้ส่งรายงานไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

จึงขอแถลงมาให้ทราบทั่วกัน
สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีนอมินีของทักษิณ ชินวัตร
นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ปรึกษากฎหมายของทักษิณ ชินวัตร
กล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.
กำลังโหลดความคิดเห็น