ระยอง-“สุทธิ” เผย ชาวบ้านมาบตาพุดเฮ หลังศาลปกครองกลางสั่งระงับ 76 โครงการ พร้อมเผยหากผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 ราย ถ้ามีรายใดยื่นอุทธรณ์ เป็นผู้ที่ไร้มนุษยธรรม พร้อมจะเรียกร้องให้สังคมประณาม ที่ไม่เคยเห็นความเดือดร้อนของประชาชนและไม่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม เผยเตรียมจัด สืบชะตาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชีวิตคนระยองในวันที่ 19 ตุลาคมนี้
หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวให้ระงับ 76 โครงการ เพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุด เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา วันนี้ (30 ก.ย.) นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้เปิดแถลงข่าวว่า ชาวบ้านมาบตาพุด สุดดีใจที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับ 76 โครงการ ผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 ราย คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์
นายสุทธิ กล่าวว่า ภายในเวลา 1 เดือนผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 ราย ถ้ามีรายใดยื่นอุทธรณ์ย่อมชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ยื่นฟ้องอุทธรณ์เป็นผู้ที่ไร้มนุษยธรรม จะเรียกร้องให้สังคมประณามผู้ที่ยื่นอุทธรณ์ ไม่เห็นด้วยทั้ง 2 ศาล ไม่เคยเห็นความเดือดร้อนของประชาชนและไม่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม คงต้องมีมาตรการเคลื่อนไหวกดดันให้สังคมเห็นว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะศาลปกครองกลางมีข้อวินิจฉัยที่ชัดเจนว่าพื้นที่มาบตาพุดมีความรุนแรงเรื่องปัญหามลพิษและสุขภาพ รวมทั้งคำสั่งศาลปกครองระยอง มีคำพิพากษาว่าพื้นที่มาบตาพุดนั้นเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความรุนแรงเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
นายสุทธิ กล่าวต่อว่า ประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 โดยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้อาศัยอำนาจของกฎหมายไปสู่การประกาศ แต่อาศัยมติของคณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชน (กรอ.) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 การจะออกประกาศกระทรวงฯโดยหลักต้องอาศัยกฎหมาย ซึ่งมีสถานะเป็นพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกาหรือพระราชบัญญัติ มติ กรอ.ไม่สามารถที่จะนำอ้างอิง เป็นหลักกฎหมาย เพื่อนำมาเป็นประกาศได้ ในสมัยที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศโครงการที่ก่อให้เกิดความรุนแรงว่า ต้องทำโครงการ อีไอเอ ทั้งหมด ตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 เป็นโครงการที่มีผลกระทบความรุนแรง จึงมีประกาศเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551
แต่ นายชาญชัย รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม มาฉีกประกาศของนายสุวิทย์ ทิ้ง มาทำร่างโครงการใหม่ โดยอาศัยมติ กรอ.เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 มาประกาศโครงการที่มีความรุนแรง 8 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการทำเหมืองใต้ดิน 2.เหมืองแร่ตะกั่ว และสังกะสี 3.การถลุงแร่ 3.1 การถลุงแร่ด้วยสารละลายเคมีในชั้นดิน 3.2 อุตสาหกรรมผลิตเหล็กขั้นต้น 4. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางที่มีการใช้สารที่ก่อให้เกิดมลสารทางอากาศ
5.โครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนคมอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตเหล็กขั้นต้น ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง 6.โรงงานฝังกลบของเสียอันตราย 7.โรงงานผลิตพลังไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง ฟอสซิล ยกเว้นก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์ 8.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
นายสุทธิ กล่าวอีกว่า ช่วงระหว่างที่ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะทำงานศึกษาโครงการที่ต้องประกาศความรุนแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 จำนวน 19 ประเภทโครงการ การศึกษาใช้เวลานาน 6 เดือน ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ รับฟังปัญหาจากประชาชน ต่อมารัฐมนตรีนายสุวิทย์ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ว่า โครงการทุกโครงการที่มีความรุนแรงต้องทำอีไอเอ พอมาถึง นายชาญชัย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเลิกประกาศของรัฐมนตรีสุวิทย์ โดยไม่เอาผลการศึกษาของคณะทำงานของรัฐมนตรีอนงค์วรรณ นายชาญชัย กลับประกาศโครงการที่มีความรุนแรงเหลือเพียง 8 ประเภทโครงการเท่านั้น ตัดออกไป 11 โครงการ
การประกาศอย่างนี้อาศัยมติ กรอ.คำว่ารุนแรงของ นายชาญชัย คงตายก่อน คือ สิ่งแวดล้อมไม่เหลือแล้ว ใช้การประกาศที่สูงมาก เพราะฉะนั้นโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจะหลุดหมด โครงการลงทุนในจังหวัดระยองหลุดหมด โรงงานถลุงเหล็ก ที่ บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็จะหลุดหมด และ โรงงานเหมืองแร่โปแตส ที่จังหวัดอุดรธานี หมายถึงไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 67เพื่อเอื้อนายทุน ไม่ได้อาศัยอำนาจกฎหมายในการประกาศที่ชัดเจน จะส่งผลให้อีกหลายพื้นที่หลายจังหวัด นายชาญชัยประกาศโครงการที่มีความรุนแรง 8 ประเภทโครงการ เป็นการประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมคำฟ้องให้ยกเลิก และให้มีคำสั่งคุ้มครอง ให้ไปใช้ประกาศสมัยรัฐมนตรี สุวิทย์ เหมือนเดิม และจะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำหน้าที่ของนายชาญชัย เป็นการกระทำหน้าที่ที่ผิดหลักการออกระเบียบ และอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้ออำนวยกลุ่มทุนอุตสาหกรรมบางกลุ่ม
นายสุทธิ เผยต่ออีกว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ออกประกาศฉบับที่ 37/2552 ประกาศเพื่อคัดเลือกบริษัทประกันภัย ประกันความรับผิดของคณะกรรมการและผู้บริหารการนิคมฯ มองให้เห็นว่า วงเงินประกันจำนวน 700 ล้านบาทต่อปี โดยระบุว่า มีการประกันคำว่าความผิดที่ไม่ต้องรับผิดชอบ เช่น การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่นิคมอุตฯ ที่เกิดขึ้นหรือถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ได้รับการประกันหรือทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็ได้รับการประกันหรือประมาทเลินเล่อ กระทำผิดพลาด แถลงข้อความอันเป็นเท็จหรือแถลงข้อความที่ทำให้หลงผิดหรือปฏิบัติหน้าที่โดยการละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ ผิดคำรับรองว่าด้วยอำนาจหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานและผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือว่าได้รับการประกัน การที่บริษัทใดก็ตามทำประกันให้กับคนที่ทำผิดกฎหมายอาญาย่อมกระทำไม่ได้ตามหลักกฎหมาย
เรื่องนี้จะยื่นหนังสือให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ปปช. ให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำหน้าที่ การออกประกาศเชิญชวนบริษัท ต่างๆมาทำประกันให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และจะต้องมีการตรวจสอบบริษัทที่รับทำประกันภัย โดยยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมการประกันภัย เราจะเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้บริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่บังอาจมาทำประกันความผิดทางอาญาให้กับตัวเอง และจะประกาศให้สังคมทราบว่าผู้บริหาร กนอ. ไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบทางกฎหมายเมื่อตัวเองทำผิด
นายสุทธิ กล่าวว่า จะจัดงานสืบชะตาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชีวิตคนระยองในวันที่ 19 ตุลาคม พร้อมทั้งจะจัดนิทรรศการ มีนักวิชาการจากต่างประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่ประสบปัญหาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมจะมาร่วมงานในช่วงเย็น โดยจะใช้สถานที่บริเวณใกล้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ในการจัดงาน