อดีต รมว.คลัง “ทนง พิทยะ” แนะอย่าไปเชื่อ หากมีคนบอก ศก.ฟื้นรูปตัว V, L หรือ W เพราะไม่มีใครรู้อนาคตจริง แต่รัฐบาลอย่าหยุดการอัดฉีดเงินลงสู่ระบบ พร้อมห่วงการการดูแลค่าเงินบาท แบงก์ชาติต้องรู้ทันเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เพื่อไม่ให้การแก้ไข ศก.มีปัญหา ส่วนโครงการไทยเข้มแข็ง อาจไม่ใช่แกนหลักในการกระตุ้น ศก.เพราะติดปัญหาอุปสรรคเยอะเกินไป
นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาเชิงวิชาการประจำปี 2552 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง “บริบทการเงินใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก” โดยระบุว่า ขณะนี้หลายฝ่ายมีความเห็นแตกต่าง บางคนมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว เพราะผ่านจุดต่ำสุดและแนะนำว่ารัฐบาลอย่าหยุดการอัดฉีดเงินออกสู่ระบบ ไม่เช่นนั้นจะกลับมามีปัญหาเหมือนเดิม ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องกู้เงินมีภาระหนี้สินอีกเท่าใด นักเศรษฐศาสตร์บางฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เพราะยังไม่รู้มีปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนแท้จริงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างไรบ้าง
นายทนง กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการที่จะให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแท้จริงต้องอยู่ที่การลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ขณะที่การบริโภคของประชาชนก็ยังไม่ฟื้นตัว เพราะ 2 ดัชนีดังกล่าวจะเป็นคำตอบที่ชัดเจน ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวจริงหรือไม่ เพราะการที่บอกว่าส่งออกเริ่มดีขึ้นนั้น ที่จริงเป็นการสั่งซื้อสินค้าจากความต้องการเดิมที่หดหายไปและมีความต้องการบริโภคที่จำเป็นในบางส่วนของต่างชาติ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง เพราะยังไม่มีการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดีเท่าที่ควร ดังนั้น หากใครบอกว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ V, L, W นั้น อย่าไปเชื่อทั้งสิ้น เพราะไม่มีใครรู้ได้จนกว่าดัชนีต่างๆ ของไทยในช่วง 6 เดือน หรืออีก 1 ปีข้างหน้าจะมีความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ขณะนี้ทุกประเทศในแถบเอเชียจะพยายามไม่ยอมให้ค่าเงินของประเทศตัวเองแข็งค่า เพื่อไม่ให้มีการสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันด้านการส่งออก มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ยอมให้ค่าเงินแข็งค่า และผลิตภัณฑ์ทางการเงินของสถาบันการเงินต่างๆ ขณะนี้มักจะอยู่เหนือการควบคุมดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเริ่มจะมีกลไกทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควบคุมกันเอง ดังนั้น ทางการจะต้องตามให้ทันเกียวกับผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจมีปัญหา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอนแม้รัฐบาลลงทุนผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้จีดีพีโตร้อยละ 5 ในช่วง 2 ปี หลังจากไทยเข้มแข็งเกิดผล แต่ตนเองมองว่าเศรษฐกิจจะโตได้เพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น เพราะปัจจุบันการบริโภคและการลงทุนในประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร และจากนั้นไปจะให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพสำหรับประเทศกำลังพัฒนาต้องขยายตัวประมาณร้อยละ 4-6
ดังนั้น โครงการไทยเข้มแข็งอาจจะไม่ได้เป็นตัวช่วยให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพราะโครงการลงทุนต่างๆ ยังมีปัญหาและอุปสรรค กฎระเบียบทางกฎหมาย ที่มีผลให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าได้ตามกำหนด แม้บางโครงการประมูลได้แต่ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้ สิ่งที่จะทำให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนได้แทนการทำหน้าที่ลงทุนของภาครัฐ คือ แนวนโยบายในการลดต้นทุนให้แก่ภาคเอกชน การอำนวยความสะดวก แก้ปัญหากฎระเบียบของภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน การหาตลาดเพื่อการส่งออก เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนมากขึ้น