xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ธปท.เผยเคล็ดลับฝ่าพายุ ศก. ยึดหลัก แม่น-พริ้ว-ตาไว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธาริษา วัฒนเกส
ผู้ว่าฯ ธปท.เผยเคล็ดลับ การบริหารนโยบายการเงินยุคเสรี ไม่ใช่แค่กางตำรานั่งวางแผนในห้องแอร์ แต่มองลึกและสัมผัสความเป็นจริง โดยยึดหลักการ รอบคอบ-คล่องตัว-มองไปข้างหน้า ซึ่งจะมีการประเมินความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ อย่างถี่ถ้วน เพื่อฝ่ากระแสวิกฤต ศก.รอบนี้ พร้อมยืนยัน ธปท.สนับสนุนงานวิจัยที่ทำให้ภาครัฐและเอกชนเข้าใจสถานการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 ของ ธปท.ในหัวข้อ "รับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก มองอนาคตเศรษฐกิจไทย" โดยระบุว่า หลังจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างรุนแรงในขั้นเลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปีผ่านพ้นไปแล้ว การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการเงินของไทยต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีในทฤษฎีตามตำราเรียน

ปัญหาเร่งด่วนในระยะสั้น คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวตามปกติ แต่ในระยะยาวจะเป็นต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้ในส่วนที่ยังขาดแคลนเพื่อลดโอกาสการเกิดวิกฤตขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมของคน ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ทุกกรณี

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายของ ธปท.ยึดหลักการในการทำหน้าที่ 3 ข้อ คือ หลักการความรอบคอบ หลักการความคล่องตัว และหลักการการมองไปข้างหน้า โดยในส่วนของความรอบคอบนั้น ธปท.ได้ดำเนินการผ่านกลไกต่างๆ โดยคำนึงถึงเป้าหมายหลายด้าน ได้แก่ เสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพของสถาบันการเงิน เสถียรภาพของแต่ละธุรกิจ ซึ่งจะมีการประเมินความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ อย่างถี่ถ้วน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ ธปท.ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา

ส่วนความคล่องตัวนั้น ธปท.สามารถใช้กลไกที่มีอยู่ตามกฎหมายเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เช่น กรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใช้ดุลพินิจผ่อนคลายนโยบายการเงินรวดเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และส่งเสริมการประกันสินเชื่อ และหลักการการมองไปข้างหน้า ธปท.ได้จัดทำแบบจำลองเพื่อพยากรณ์ความน่าจะเป็น เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้ ธปท.พิจารณาแนวโน้มทางเศรษฐกิจในอนาคต

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของ ธปท.คำนึงถึงภาวะแวดล้อมทางการเงินและเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินโลกจนถึงขั้นที่อาจทำให้แนวคิดการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงินเปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง ธปท.สนับสนุนงานวิจัยที่ทำให้ภาครัฐและเอกชนเข้าใจสถานการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น