ม.หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค.ปรับขึ้นต่อเนื่อง สูงสุดในรอบ 7 เดือน ที่ระดับ 74.5 และปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 หลังความชัดเจนในการลงทุนไทยเข้มแข็ง 400 โครงการ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำ เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมแนะดูแลปัจจัยเสี่ยง ทั้งการเมือง ราคาน้ำมัน การแพร่ระบาดของไข้หวัด และการทุจริตคอร์รัปชัน ปลัดคลัง แจงสภาที่ปรึกษาฯ ยืนยัน งบไทยเข้มแข็ง กระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว-โปร่งใส
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2552 ปรับตัวดีขึ้นจาก 73.4 ในเดือนกรกฎาคม 2552 เป็น 74.5 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 และสูงสุดในรอบ 7 เดือน
นางเสาวณีย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับปัจจัยบวกจากรัฐบาลกำลังเดินหน้าโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งกว่า 400 โครงการในช่วงแรกด้วยการใช้เงินถึง 200,000 ล้านบาท และเตรียมพิจารณาโครงการเพิ่มอีก 100,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปี 2553 รวมถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้น
ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวลดลง จาก 28.09 บาทต่อลิตรในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 มาอยู่ที่ 27.69 บาทต่อลิตร ในเดือนสิงหาคม ตลอดจนการได้รับอานิสงส์จากเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย เพราะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น การต่ออายุ 5 มาตรการเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน แต่ยังมีปัจจัยลบเกี่ยวกับราคาน้ำมันเบนซินที่อาจปรับสูงขึ้น เสถียรภาพทางการเมือง และความกังวลเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาการเมืองที่เคยกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงและจากนี้ไปจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ประชาชนคลายกังวลและในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาประชาชนเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น เห็นได้จากยอดซื้อรถยนต์ปิกอัพเติบโตขึ้นติดต่อกันถึง 4 เดือน
ดังนั้น จึงคาดว่า หลังจากนี้ การใช้จ่ายของประชาชนจะเริ่มดีขึ้น การส่งออกน่าจะเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4 ขณะที่การท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นบวกได้ร้อยละ 5 จากเดิมติดลบร้อยละ 1.5 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 อยู่ที่ร้อยละ 2-3
สำหรับสิ่งที่ต้องจับตา นายธนวรรธน์ กล่าวว่า คือปัญหาคอร์รัปชั่นจากโครงการลงทุนไทยเข้มแข็ง เพราะแม้จะเป็นโครงการที่ดี แต่ต้องควบคุมแนวทางปฏิบัติให้เกิดความโปร่งใส เพราะแม้แต่โครงการชุมชนพอเพียงจะเป็นแนวคิดที่ดีก็ยังมีปัญหาการทุจริต ดังนั้น หากรัฐบาลเร่งเดินหน้าลงทุนไทยเข้มแข็งให้ก่อสร้างอย่างรวดเร็วใช้วัตถุดิบในประเทศก่อให้เกิดการจ้างงาน น่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2553 เติบโตร้อยละ 5
แต่หากรัฐบาลบริหารจัดการเศรษฐกิจ โดยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่ยังไม่ส่งผลจริงต่อเศรษฐกิจการใช้จ่ายของรัฐไม่เร่งตัวมากและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ชัดเจน อาจทำให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวร้อยละ 3 ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลก มองว่ากลุ่มโอเปกจะพยายามควบคุมราคาน้ำมันดิบให้อยู่ระดับ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันมีปัจจัยผันผวนจนส่งผลให้ราคาขยับขึ้นไปสูงถึง 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะถือว่าสร้างปัญหาหนักต่อเศรษฐกิจโลก แต่คิดว่ามีแนวโน้มเป็นไปได้น้อย
**ปลัดคลัง การันตี 400 โครงการโปร่งใส-มีประสิทธิภาพ
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง บรรยายพิเศษต่อที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องโครงการลงทุนและเงินกู้เพื่อไทยเข้มแข็ง ซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงเรื่องความโปร่งใสของการใช้เงินในโครงการที่สูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท และยังเป็นห่วงการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสถิตย์ ชี้แจงว่า การใช้เงินดังกล่าวจะเป็นวงเงินที่จำกัดในเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่สามารถเบิกจ่ายได้ภายในปี 2553 และมีคณะทำงานที่ติดตามดูแลเรื่องความโปร่งใสที่มี นายพนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน และกรอบการทำงานต่างๆ ยังมีคณะทำงานดูแล โดยขณะนี้มีโครงการที่มีความชัดเจนว่าจะใช้เงินแล้ว 1.06 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าหลังจากโครงการสิ้นสุดจะสร้างความเข้มแข็งแก่ประเทศ เพราะนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งน้ำชลประทาน ระบบถนน ระบบโลจิสติกส์ ระบบสาธารณสุข ความมั่นคงด้านอาหาร และ พลังงาน สิ่งแวดล้อมและเกษตรต่างๆ0
ทั้งนี้ หลังดำเนินโครงการ พื้นที่ระบบชลประทานจะเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ต้นทุนโลจิสติกส์จะลดลงจากร้อยละ 19-20 เหลือร้อยละ 16 ถนนทางหลวงชนบทจะลาดยางครบทั้งหมดตัวเลขด้านการศึกษาจะดีขึ้นผู้อ่านหนังสือไม่ออกจะหมดไป รวมทั้งโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ปัจจุบันมีประมาณ 2,900 แห่งจะหมดไปเช่นกัน ขณะที่จำนวนนักเรียนต่อการใช้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง จะลดลงจาก 38 คน เหลือ 20 คน และการปฏิรูปทางด้านสาธารณสุขทำให้ผู้ป่วยนอกเข้าถึงการบริการมีจำนวนเตียงของโรงพยาบาลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนพลังงานทดแทนในขณะนี้ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเริ่มต้นได้ในปี 2553 หรือไม่ เช่น การลงทุนด้านผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน หรือทางเลือกพลังงานอื่น ๆ เพราะพลังงานทดแทนมีหลายมูลเหตุ โดยจะต้องคำนึงถึงความสมดุลกับเรื่องราคาน้ำมันอีกด้วย จึงไม่แน่ใจว่างบประมาณส่วนนี้จะดำเนินการได้ทันหรือไม่
“หลังจากใช้งบไทยเข้มแข็งแล้วเชื่อมั่นว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้นและเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งการใช้งบประมาณของภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะน้อยลง และเอกชนจะกลับมามีบทบาทในเศรษฐกิจมากขึ้น” นายสถิตย์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย