นายกรัฐมนตรี ยอมรับปัญหาเศรษฐกิจในรอบนี้ หนักหนาสาหัสที่สุด เพราะยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม ต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้การแก้ปัญหาอื่นยุ่งยากและซับซ้อน ยืนยันการทำงาน 5 เดือน ไม่ใช่การซื้อเวลา โดยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ แต่ได้ตั้งเป้าฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าได้อย่างยั่งยืน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “วิกฤตโลกกับการขับเคลื่อนประเทศไทย” โดยเปรียบเทียนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2540 หรือประมาณ 12 ปีที่แล้ว นับว่าหนักที่สุด และทั่วโลกมีความวิตกกังวลมากกว่าครั้งก่อน เนื่องจากปัญหาในครั้งนี้ เกิดจากโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการแก้ไขปัญหา
“เศรษฐกิจไทยแม้จะเสริมความเข้มแข็งและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพียงใด แต่หากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นไปได้ยาก ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่แล้วเกิดเพียงไม่กี่ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้มีความวิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจเสรีและกลไกตลาด”
นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม ซึ่งต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้การแก้ปัญหาอื่นยุ่งยากและซับซ้อน ปัญหาขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งโจทย์ขับเคลื่อนประเทศไทยไว้แล้ว โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาหลายคนวิจารณ์ว่า รัฐบาลมุ่งแต่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อรอเวลาให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ
“ผมขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้คิดเช่นนั้น ไม่ได้ตั้งเป้าเพียงให้ไทยหลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ และกลับไปอยู่ที่เดิมเท่านั้น แต่คิดว่าเมื่อหลุดพ้นไปแล้วจะต้องผ่านการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ ช่วงนี้จึงต้องเจ็บปวดบางเรื่องเพื่อความเข้มแข็งวันข้างหน้า โดยการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ และทำพร้อมกันหลายเรื่อง ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจของประเทศดีเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีการปรับปรุง”
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจปรับปรุง คือ เรื่องคน แต่ยอมรับว่า โครงการเรียนฟรียังมีช่องโหว่ต้องได้รับการแก้ไข รัฐบาลมีความตั้งใจพัฒนาเด็กเล็กที่ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่กับพ่อ แม่ ลดลงเรื่อยๆ จึงตั้งใจให้ความรู้คนหนุ่มสาวในช่วงเริ่มต้นมีครอบครัวให้เน้นดูแลโภชนาการ เพราะมีงานวิจัยระบุว่า ขณะนี้เด็กไทยอายุ 5-6 ปี มีไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน จึงต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้หลังจากประชากรออกจากระบบการศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญโดยจะหาหนทางให้คนเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญที่ทุกฝ่ายมาช่วยกัน โดยเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 รัฐบาล จะลงทุนด้านการศึกษาของประชาชน โดยภาคเอกชนจะต้องร่วมด้วย นอกจากนี้ ท้องถิ่นต้องมีบทบาทสร้างบุคลากรทางการศึกษา ไม่เช่นนั้นจะเกิดการกระจุกตัว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะลงทุนด้านโลจิสติกส์ คือ โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ แหล่งน้ำ ที่จะมีการลงทุนครั้งใหญ่และถือเป็นหัวใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการสะสาง เช่น ที่ทำกิน จะต้องให้เป็นระบบโฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนในชนบทเข้าถึงทรัพยากรไม่บุกรุกป่า รวมทั้งแก้ไขหนี้สินเกษตรกร โดยอยู่ระหว่างซื้อหนี้ของเกษตรกรมาบริหารจัดงานพร้อมฟื้นฟูอาชีพ ด้านภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่อเนื่องการเกษตรที่เป็นจุดแข็ง สนับสนุนเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการปรับทิศทางนโยบายพลังงานทดแทน โดยมุ่งใช้พลังงานทดแทนที่มีในประเทศมากขึ้น ส่วนการท่องเที่ยว จะฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและเพิ่มความหลากหลาย บริการท่องเที่ยวที่จะมีให้แก่ชาวโลก
อย่างไรก็ตาม การจะทำให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประสบความสำเร็จจะต้องก้าวข้ามข้อจำกัด หลายสิ่งที่เกิดจากความคุ้นเคย หรือไม่กระตุ้นตัวเองให้ฝ่าวงล้อม ซึ่งทั้งหมดจะอิงระบบการเมือง ราชการ พร้อมโจทย์ของประเทศที่มีเป้าหมายความมั่นคงของคนไทยในแง่สวัสดิการ โดยภาครัฐจะเป็นตัวนำและลงทุนมากที่สุด ขณะเดียวกัน ระบบราชการของไทยต้องเดินหน้าเปลี่ยนแปลง ซึ่งขณะนี้มีการประกาศจัดอันดับประสิทธิภาพของข้าราชการในเอเชีย ประเทศไทยติดอันดับ 3 ก็อยากให้ข้าราชการไทยมีประสิทธิภาพติดอันดับ 1 แต่ก็เห็นใจจากระบบที่เป็นตัวบีบและวัฒนธรรมถูกสร้างมาครอบงำ 6-7 ปีที่ผ่านมา ทำให้ข้าราชการไม่มีขวัญและกำลังใจ ดังนั้น ต่อไปจะเน้นระบบความสามารถและคุณธรรม รวมทั้งเร่งบูรณาการส่งเสริมการลงทุน
“ขณะนี้รัฐบาลกำลังฝ่าวงล้อมการจำนำพืชผลทางการเกษตรไปสู่ระบบที่ไม่ทำลายตลาด แต่เกษตรกรได้รับการประกันรายได้พอสมควร โดยปีที่ผ่านมาการรับจำนำพืชผลสร้างความเสียหายถึง 20,000 ล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวสามารถนำมาออกเช็คช่วยชาติได้จำนวนมาก” นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปทิ้งท้าย