ตอนนั้นเองที่ผมนึกถึงคำพูดของโธมัส เจฟเฟอร์สัน ตอนแถลงการณ์ประกาศเอกราช ตรงช่วง สิทธิการใช้ชีวิต เสรีภาพ และไล่ล่าความสุข ผมจำความคิดนี้ได้ เขารู้ได้ยังไงว่าต้องใส่คำว่า “ไล่ล่า”ลงไป บางทีความสุขเป็นอะไรที่เราได้แต่ไล่ล่า แต่ไม่มีวันที่เราจะได้ครอบครองมัน ไม่ว่าจะยังไง เขารู้ได้ยังไง เขารู้ได้ยังไง...” คริส การ์ดเนอร์
ถ้าผู้ที่กำลังอ่านคอลัมน์นี้อยู่ในฐานะเดียวกับผู้เขียน คือเป็นผู้ที่ไปรับบริจาคเช็คช่วยชาติเหมือนกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไปๆ คงจะแอบมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจไม่มากก็น้อยตอนที่ไปต่อคิวรับเงินบริจาคของรัฐบาล
ซึ่งงานเงินเดือนน้อยๆ ที่ว่าจะเป็นงานสบายซะที่ไหน ต่างก็มีความลำบากและภาระรับผิดชอบไม่ต่างจากคนที่มีรายได้ต่อเดือนเป็นแสนเป็นล้าน หากแต่โอกาสที่เป็นจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกลายเป็นตัวที่กำหนดเส้นทางเดินชีวิตของคนแต่ละคนไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ การจะเปลี่ยน เส้นทางแห่งนาวาชีวิตกลางลำน้ำแห่งอายุขัยเป็นสิ่งที่หลายคนเคยคิด น้อยคนนักที่จะไปถึงฝั่งฝัน
เหมือนกับชีวิตของนายคริส การ์ดเนอร์ ที่เขาใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง พาเราไปรู้จักชีวิตในวัยหนุ่มเมื่อต้นยุค 80’s ของเขา ตอนที่เขากำลังเริ่มต้นอีกบทหนึ่งของชีวิตในฐานะหัวหน้าครอบครัวที่มีภรรยาเป็นสาวโรงงาน และลูกชายวัยประถมอีกหนึ่งคน ซึ่งสิ่งที่คอยเจือจุนครอบครัวสามคนพ่อแม่ลูกนี้ ก็คือการขายเครื่องสแกนกระดูกที่คริสเอาเงินเก็บทั้งชีวิตไปลงทุนเพื่อออกเดินขายตามโรงพยาบาลต่างๆ
แต่สิ่งที่ชาวบ้านอย่างคริสไม่รู้ก็คือ เครื่องที่ว่านี้สแกนกระดูกได้ชัดกว่าเครื่องเอ็กซเรย์นิดหน่อย แต่ราคา แพงกว่าเป็น 2 เท่า อาชีพเซลแมนที่ตั้งใจจะใช้เป็นที่พึ่งของครอบครัวก็เริ่มจะมีปัญหา รายได้ที่ไม่แน่นอนพร้อมกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ส่งให้แฟนสาวโรงงานต้องควบกะ เพื่อหาเงินมาให้มากพอที่จะเลี้ยงดูทั้งสามชีวิต
เมื่อความอดทนมาถึงที่สุด แฟนสาวจึงตัดสินใจออกไปใช้ชีวิตใหม่ ทิ้งให้เขาที่สมัครใจจะรับเลี้ยงลูกชายคนเดียวเอาไว้ ต้องเผชิญโลกกันต่อไปแบบสองคนพ่อลูก และเมื่ออาชีพค้าขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของคริสอีกต่อไป การผจญภัยในโลกของการหางานที่มีทุกอย่างเป็นเดิมพันของเขาก็เริ่มขึ้น
ด้วยวัยที่ใกล้เลขสามเข้าไปทุกที แถมวุฒิการศึกษาก็เรียกได้ว่าต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่มีปริญญาบัตรใดๆ ถ้าเป็นเราๆ ท่านๆ ทุกวันนี้การหางานแทบจะเรียกได้ว่าโอกาสแทบจะเป็นศูนย์ แต่คริสต้องลำบากกว่านั้นเป็นสองเท่าเมื่อเขาต้องข้ามกำแพงอีกหลายขั้น ทั้งเรื่องความแตกต่างทางสีผิว การไม่มีภูมิหลังทั้งเพื่อนหรือญาติพี่น้องคอยเป็นที่พึ่งสุดท้ายยามอยู่ตัวคนเดียว
เมื่อชีวิตดูจะมีแต่อุปสรรคไปซะทุกอย่าง คริสจึงเลิกที่จะทำในสิ่งที่โชคชะตาระบุให้คนอย่างเขาต้องเป็น และเริ่มออกตามหาและไล่ล่าสิ่งที่เรียกว่า “ความสุข” ให้กับตัวเขา ชายที่ได้ชื่อว่าไม่เคยพบสิ่งนั้นเลยมาตลอดชีวิต
The Pursuit of Happyness ยิ้มไว้ก่อน พ่อสอนไว้ เป็นหนังอีกเรื่องที่พร้อมจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทุกๆ คน ซึ่งผลงานเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดออกมาโดยพ่อลูกจริงๆ อย่าง วิล สมิธ ดาราหนุ่มคนดัง และ เจเดน สมิธ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ในเรื่องราวชีวิตจริงของมหาเศรษฐี ค้าหุ้น ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวก่อนที่เขาจะ “มี” ทุกอย่างในวันนี้ ชีวิตของเขาเคย “ขาด” มาแล้วมากมายเพียงไหน
แกเบียล มัคชิโน ผู้กำกับของเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดผลงานออกมาได้อย่างซื่อตรงต่อชีวิตจริงของคริส การ์ดเนอร์อย่างสูง ทั้งเรื่องสถานที่และตัวบุคคล (ต่างกันแค่ช่วงเวลาและเหตุการณ์บางอย่าง เช่น เรื่องจริงคริสและลูกยังคงเป็นคนไร้บ้านอีกเป็นปี แม้เขาจะได้งานเป็นหลักเป็นแหล่งแล้วก็ตาม)
รวมทั้งเทคนิคในการบอกคนดูถึงความสามารถทางการคำนวณที่อยู่ในตัวของคริส ด้วยวิธีการเล่นลูกบิดสี หรือ รูบิค คิวบ์ ซึ่งเป็นการย่นระยะเวลาของการเล่าเรื่องในส่วนนี้ให้หนังมีความกระชับมากขึ้นอย่างวิเศษ ที่ใครๆก็สามารถเข้าใจสิ่งที่หนังจะสื่อได้โดยไม่ต้องใช้เวลาอธิบายมาก
ความพิเศษของหนังเรื่องนี้ยังอยู่ที่การร่วมทุกข์ร่วมสุขของสองพ่อลูก ซึ่งการได้พ่อลูกจริงๆ มาร่วมแสดงทำให้ความผูกพันของสองตัวละครถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด ทั้งอารมณ์สนุกสนานตอนไปเที่ยวแถบบ้านคนรวยด้วยกัน อารมณ์เศร้าตอนที่คริสไม่ยอมไปเก็บตุ๊กตาให้ลูก เพราะกลัวไปต่อคิวบ้านพักคนอนาถาไม่ทัน อารมณ์สะเทือนใจตอนที่เขาต้องพาตัวเองกับลูกไปหาที่ซุกหัวนอนในห้องน้ำของรถไฟใต้ดิน
แต่สิ่งที่ผู้ชมจะจำไม่ลืมก็คือฉากที่คริสสอนลูกถึงการเป็นคนที่มุ่งมั่นในชีวิต โดยใช้ความผิดพลาดของตัวเองเป็นแบบเรียน เมื่อตอนที่คริสทำให้ลูกเสียใจที่พยายาม ทำลายความหวังในการเป็นนักบาสอาชีพของเขา เขาก็กล่าวประโยคที่เป็นเหมือนปรัชญาของคนที่ใฝ่หาความสำเร็จของชีวิต
“อย่าให้ใครมาบอกว่าลูกทำนั่นทำนี่ไม่ได้ แม้แต่พ่อ เข้าใจไหม เมื่อลูกมีความฝัน ลูกต้องปกป้องมัน...”
เมื่อย้อนกลับไปมองชีวิตของคนอย่างคริส มันเป็นเรื่องง่ายจนน่าตกใจ ที่หนังชีวิตของเขาเรื่องนี้อาจจะจบลงในคุกหรือห้องฉุกเฉินที่ไหนสักแห่งตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกของเรื่อง มันอาจจะกลายเป็นหนังอาชญากรรมหรือหนังตลกของใครสักคน แทนที่จะเป็นหนังชีวิตที่แสนประทับใจของการสู้ชีวิตของคนคนหนึ่ง ที่มีอาวุธอยู่ในมือเพียงแค่มันสมอง ที่ได้มาจากประสบการณ์ปากกัดตีนถีบมาทั้งชีวิต และการเติมสิ่งที่ด้อยกว่าคนอื่นๆ ด้วยความอุตสาหะอดทน โดยไม่ยอมแพ้หันไปพึ่งอบายมุข หรือมิจฉาชีพใดๆ ที่จะหันเหชีวิตไปสู่เส้นทางอันมืดมิด จนเขาสามารถสร้างความฝันได้ด้วยมือของตัวเอง
ในโลกนี้มีเศรษฐีอยู่มากมาย แต่จะมีกี่คนที่สร้างมันด้วยสองมือของตัวเอง ชีวิตของคริสจึงเป็นตัวอย่างชั้นเลิศ ของคนที่มัวแต่ตัดพ้อกับโชคชะตา และให้หันมาก่อร่างสร้างตัวด้วยความอุตสาหะทั้งหมดอย่างที่คริสเคยทำให้เป็นแบบอย่างมาแล้ว
ทุกวันนี้ชีวิตของคริส การ์ดเนอร์อาจจะไม่มีอะไรต้อง กังวลอีกแล้ว เขาอาจจะเสพความสุขได้มากเท่าที่ชายคนหนึ่งปรารถนา แต่ถ้ามองย้อนกลับไป ความสุขที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดในชีวิตของเขาน่าจะเป็นตอนที่เขาได้รับรางวัลตอบแทนความพยายามในการต่อสู้กับชีวิตที่แสนยากไร้ เป็นครั้งแรก อันเป็นวินาทีที่จะอยู่กับตัวเขาไปจนวันตาย ทั้งหมดได้ถ่ายทอดเป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังจะออก “ไล่ล่าความสุข” เช่นเดียวกับเขาต่อๆไปอีกนับไม่ถ้วน
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 103 มิ.ย. 52 โดย Feel Lost/So Free)