xs
xsm
sm
md
lg

5 กลุ่มคนด้อยโอกาส ติงเช็ค 2 พัน-เบี้ยคนแก่ ไม่ช่วยคนจน พม.เตรียมผสาน มท.ลงทะเบียน-สร้างงานคนเร่ร่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนด้อยโอกาส 5 กลุ่ม ร้องแก้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิผู้ด้อยโอกาส ติงนโยบายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท-เบี้ยคนแก่ ชี้ไม่ช่วยคนจน “อิสสระ” รับช่วยหาทางออก ประสาน ก.มหาดไทย สำรวจ-ลงทะเบียนคนเร่ร่อน สร้างอาชีพ

นายอิสสระ สมชัย รมว.พม.
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถ.รัชดาภิเษก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงาน สมัชชาสังคมกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยมีตัวแทนกลุ่มภาคประชาชน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนยากจน คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน กลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV กลุ่มพนักงานบริการและผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มผู้พ้นโทษ ได้ยื่นหนังสือต่อ นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมฯ เพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ ประธานกลุ่มคนยากจน คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน กล่าวติงนโยบายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ของรัฐบาลว่า เป็นนโยบายที่ดีสามารถช่วยเหลือคนได้แต่ยังไม่ทั่วถึงโดยไม่ว่ารัฐบาลจะแจก 2,000 บาท หรือ 200 บาท คนเร่ร่อนคนไร้บ้านก็ไม่ได้แตะอยู่ดี ทั้งๆ ที่ตนน่าจะเป็นกลุ่มอันดับต้นๆ ที่ควรได้รับเงินช่วยเหลือ ส่วนการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีข้อบกพร่องเพราะยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่ตัวไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาที่มีชื่อ จึงไปลงทะเบียนไม่ได้และไม่ได้รับเงินช่วยเหลืออยู่ดี

ด้าน นายอิสสระ กล่าวว่ารัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมความเสมอภาค ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้ โดยตนจะรับหนังสือไปพิจารณาปัญหาพร้อมข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้ง 5 กลุ่ม เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่สามารถรับปากได้ว่าปัญหาจะสิ้นสุดเมื่อใด เพราะปัญหาส่วนใหญ่ยืดเยื้อมานานแล้ว เช่น ปัญหาการขอสัญชาติของชาวเลและชาวเขา การออกกฎหมายคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น การไม่ได้รับรองสถานะของคนเร่ร่อนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการด้านต่างๆ ของรัฐได้ เท่าที่ทำได้ตอนนี้คือผลักดันและเร่งการแก้ปัญหา

นายอิสสระกล่าวต่อว่า การให้เช็คช่วยชาติ 2,000 บาทแก่กลุ่มคนเร่รอน ด้อยโอกาสคงจะเป็นการยากเพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีหลักฐานแสดงตน เช่น ทะเบียนบ้านหรือแม้แต่บัตรประชาชน เพราะผู้ที่มีสิทธิ์รับเงินต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่จะหาแนวทางแก้ไขและหาทางออกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ในการสำรวจจำนวนคนเร่ร่อน อาจมีการลงทะเบียนเพื่อแสดงตน สร้างอาชีพให้ในถิ่นบ้านเกิด เพื่อลดปัญหาคนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพฯ เป็นต้น

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตผู้ช่วย รมว.พม. กล่าวว่า ในส่วนปัญหาคนชายขอบนั้นมีความซับซ้อน รัฐก็มีฐานความรู้จำกัดเรื่องนี้ แม้แต่กฎหมายขณะนี้ให้สิทธิมากขึ้นแต่ทางปฏิบัติก็ไม่มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรมไม่ลงลึกจิตวิญญาณในการแก้ปัญหาที่แท้จริง การรวมกลุ่มสมัชชาผู้ด้อยโอกาสครั้งแรกนี้สำคัญในการขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้รัฐดูแลปัญหานี้

นางอภิญญา เวชชยชัย อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ด้อยโอกาสมักถูกประทับตราบาปจากสังคมและตัวผู้ด้อยโอกาสเองว่าไร้พลัง เป็นแต่ผู้รับรับการสงเคราะห์หรือการให้โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริง ทำให้ผู้ด้อยโอกาสที่รับบ่อยๆซ้ำๆจนรู้สึกว่ารับไปก่อนดีกว่าไม่ได้ จนไม่รู้จักออกไปหาด้วยตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น