xs
xsm
sm
md
lg

จีดีพี Q1/52 หดตัว 7.1% การบริโภคติดลบครั้งแรกในรอบ 12 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ เผย จีดีพี Q1/52 หดตัว 7.1% โดยมีผลกระทบจาก ศก.โลกที่หดตัวรุนแรง ส่งออกวูบหนัก 19.9% การลงทุนเอกชนหดตัว 17.7% ส่งผลกระทบการบริโภคภาครัวเรือนติดลบ 2.6% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 12 ปี พร้อมคาด Q4/52 พลิกบวกได้ ส่วนแนวโน้มตลอดปี 52 จีดีพีอาจติดลบ 3.5 ถึง 2.5%

นายอำพล กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ปี 2552 ติดลบ 7.1% เพิ่มขึ้นจาก 4.2% ในไตรมาส 4 ปี 2552 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในด้านการส่งออก และการท่องเที่ยวไทยหดตัวลงมาก

การหดตัวรุรแรงทางเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2552 มีผลกระทบทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนติดลบ 2.6% ติดลบครั้งแรกในรอบ 12 ปี ขณะที่การลงทุนเอกชน หดตัว 17.7% จึงมีการปรับลดประมาณการจีดีพี ของปี 2552 ติดลบ 2.5-3.5% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ1-0%

นายอำพล กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2552 โดยคาดการณ์ว่า อาจจะยังอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2552 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่อง และส่งผลให้การส่งออก และภาคการผลิตในหลายสาขาหดตัวต่อเนื่องตาม กำลังการผลิตส่วนเกินยังอยู่ระดับสูง ไม่จูงใจให้ภาคการผลิตขยายการลงทุน

ทั้งนี้ เชื่อว่า การหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2552 จะลดความรุนแรงลงได้กว่าไตรมาส 1 ปี 2552 และหากเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ก็เชื่อว่า อัตราการขยายตัวน่าจะเป็นบวกได้

เลขาธิการ สศช.ประเมินว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2552 จะปรับตัวดีขึ้นมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ สถานการณ์การเมืองต้องนิ่ง เพื่อให้ภาครัฐ เป็นตัวนำในการเริ่มลงทุนในโครงการต่างๆ ที่จะส่งผลให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตาม

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกต้องไม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย และสุดท้าย ราคาน้ำมันในตลาดโลกต้องไม่เกิน 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหากสถานการณ์เป็นไปตามนี้ เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

**ส่งออก Q1/52 หดตัว 19.9% ต้นเหตุจีดีพีทรุด

นายอำพล กล่าวว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 1 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกในรูปแบบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 19.9% โดยมีปริมาณการส่งออกลดลงถึง 19.5% ตามความต้องการที่ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยลดลงถึง 0.5% การส่งออกสินค้าเกษตรลดลงตามภาวะผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ราคาสินค้าสอุตสาหกรรมลดลงจากการขอต่อรองราคาของประเทศคู่ค้าประกอบกับประเทศคู่ค้าชะลอการจ่ายเงิน และชะลอการรับมอบสินค้าคำสั่งซื้อเก่าที่ผลิตในช่วงต้นทุนสูง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคา โดยสินค้าในหมวดเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2552 มีปริมาณการส่งออกที่ลดลง 21.2% และราคาลดลง 13.1% ซึ่งมีผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงถึง 31.4%

สินค้าอุตสาหกรรมมีปริมาณลดลง 19.6% และมูลค่าการส่งออกลดลง 19.3% สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าลดลง 32.4% และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าลดลง 30.4% ขณะที่สินค้ายานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบส่งออกมีมูลค่าลดลง 35% สินค้าอาหารส่งออกมีมูลค่ามูลค่าลดลง 5.1%

ขณะที่ตลาดการส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป มีการส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามตลาดออสเตรเลียตะวันออกกลางยังมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น

นายอำพน กล่าวต่ออีกว่า การนำเข้าของไทยในไตรมาส 1 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้าในรูปแบบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 38.3% ซึ่งนับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยมีปริมาณการนำเข้าสินค้าลดลง 35% ตามการส่งออกที่หดตัว และความต้องการรวมไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ลดลง

สำหรับราคาสินค้านำเข้าเฉลี่ยลดลง 5% ซึ่งมีผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลัก ทั้งนี้ ส่งผลให้ดุลการค้าในไตรมาสแรกของปี 2552 ไทยเกินดุลการค้า 7,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น