xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ไทย Q1/52 หดตัว 6.5% รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ ศก.ไทย Q1/52 หดตัว 6.5% รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี คาดแนวโน้ม Q2/52 หากจะฟื้นตัวได้ ขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ความเชื่อมั่นภาคเอกชน และความเชื่อมั่นการบริโภค

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2552 คาดว่าจะหดตัว 6.5% เป็นอัตราการติดลบที่สูงขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2551 ที่เศรษฐกิจหดตัว 4.3% โดยระบุว่า เป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมส่งออก การจ้างงาน และรายได้ภาคครัวเรือน

ส่วนภาคการส่งออกไตรมาส 1 ปี 2552 หดตัวลง 19.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีผลต่อเนื่องไปถึงการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงถึง 18.9% และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 56.2% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี เฉลี่ยประมาณ 301,000 คน ขณะที่ผู้ว่างงานโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 796,800 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.1%

ด้านปัญหาการว่างงานและรายได้ที่ลดลงนี้ คาดว่า จะส่งผลให้การบริโภคของภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัว 2.7% จากที่ขยายตัว 2.2% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 นับเป็นอัตราติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเช่นกัน ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวสูง จากภาวะการผลิตที่หดตัวลงอย่างมาก เศรษฐกิจที่ซบเซาส่งผลให้ธุรกิจต่างชะลอโครงการลงทุน และการลงทุนของภาครัฐก็ยังไม่มีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ จึงคาดว่าการลงทุนโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 อาจจะหดตัวสูงถึง 14.1% สูงขึ้นจากที่หดตัว 3.3% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ซึ่งจะเป็นอัตราติดลบที่หนักที่สุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน

ส่วนปัจจัยหลักที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2552 มาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่มีเพิ่มขึ้นถึง 28.8% เป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายกลางปีเพิ่มเติมเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม 2552 ที่มีการเบิกโอนวงเงินส่วนหนึ่งของมาตรการแจกเช็คช่วยชาติ

อย่างไรก็ดี วงเงินส่วนใหญ่ของมาตรการดังกล่าวน่าจะมีการเบิกโอนเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ขณะที่การนำเงินจากเช็คที่ได้รับไปใช้จ่าย น่าจะทยอยหมุนเวียนสู่ระบบในลักษณะกระจายตัวในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ปี 2552

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดที่พลิกกลับมามีฐานะเกินดุลในระดับสูงถึง 9,100 ล้านดอลลาร์ จากผลของการนำเข้าที่ลดลงอย่างรุนแรงนั้น คาดว่า จะไม่ได้ส่งผลบวกมากนักต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ แต่ภาวะการผลิตในระบบเศรษฐกิจและการนำเข้าที่หดตัวลงอย่างมากเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าธุรกิจต่างใช้สต๊อกสินค้าเดิมที่เหลืออยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของจีดีพีปรับตัวลดลงอย่างมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 1 ปี 2552 เล็กน้อย แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในหลายด้านที่ทำให้เศรษฐกิจยังคงหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยคาดว่าจะติดลบอยู่ในกรอบ 5.6-7.0% ซึ่งกรณีกรอบบนภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและสัญญาณของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น อาจช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น และนำเงินที่ได้รับจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาใช้จ่ายแทนที่จะเก็บออมไว้ก่อน

ขณะที่กรณีกรอบล่างที่เศรษฐกิจอาจจะหดตัวสูงขึ้นกว่าในไตรมาสแรกนั้น อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่คาดว่าการส่งออกและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ยังหดตัวในอัตราสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานการส่งออกในช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวสูงมาก และการนำเข้าอาจหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากที่คาดว่าภาคธุรกิจน่าจะมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตมากขึ้นกว่าในไตรมาสแรก รวมทั้งราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้การเกินดุลการค้าลดลง และเมื่อรวมกับผลกระทบต่อดุลบริการจากรายได้การท่องเที่ยวที่หายไปหลังเหตุการณ์จลาจลจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภายในประเทศมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าในไตรมาสแรก ทั้งจากผลกระทบของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ ผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศจากสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวสูงกว่าที่คาด ผลกระทบของปัญหาการว่างงาน และสถานะการคลังของรัฐบาลมีข้อจำกัดมากขึ้น ซึ่งความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและปัญหาการว่างงาน อาจจะกดดันให้การบริโภคของภาคเอกชนยังหดตัวสูงขึ้นกว่าในไตรมาสแรก แม้มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ตาม

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บนปัจจัยพื้นฐานของความสงบเรียบร้อยทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น