ร.ฟ.ท.เล็งจ้าง บ.เยอรมนี เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 2 ปีแรก หลังแผนฟื้นฟูกิจการมีปัญหา โวยแผนร่วมทุนเอกชน PPP ติดขัด พ.ร.บ.ต้องใช้เวลานาน “ซาเล้ง” เตรียมหิ้วแผนชง ครม.อีกรอบ 12 พ.ค.นี้
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.จะว่าจ้างบริษัท Deutsche Bahn International (DBI) จากเยอรมนี เพื่อเดินรถโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ตลิงก์) ในช่วง 2 ปีแรกที่จะเริ่มเปิดให้บริการในปีนี้
นายยุทธนา ระบุว่า การดึงเอกชนต่างชาติเข้ามาดำเนินการ เนื่องจากแผนจัดตั้งบริษัทลูกมาบริหารการเดินรถยังติดขัดที่จะต้องรอให้รัฐบาลอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ฟ.ท.ก่อน ขณะที่แนวทางที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเสนอให้เปิดกว้างเอกชนเข้ามาร่วมในบริษัทลูกดังกล่าว ก็ยังติดขัดอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) ที่ต้องใช้เวลาอีกนาน ในขั้นนี้จึงยังเป็นไปได้ยาก
“ตอนนี้ ร.ฟ.ท.ยังไม่มีแผนร่วมทุนกับเอกชน ต้องคุยกับสหภาพแรงงานก่อน คิดว่าหากจะร่วมทุนก็ต้องใช้เวลาอีก 2 ปีกว่าๆ เพราะเข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งใช้เวลาพิจารณานาน 2 ปี เพราะฉะนั้นในชั้นนี้ เราต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เดินรถได้ น่าจะจบตรงนี้ที่รถไฟทำเอง”
ส่วนการว่าจ้างบริษัทเดินรถไฟฟ้าในประเทศ ได้แก่ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เข้ามาดำเนินการนั้น ผู้ว่าการ รฟท.เห็นว่า อาจจะไม่มีศักยภาพ หรือความเชี่ยวชาญพอ เมื่อเทียบกับ DBI ที่มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้ามาแล้วทั่วโลก
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.คาดว่า จะเปิดทดลองเดินรถครั้งแรก ในวันที่ 12 สิงหาคม 2552 และเชื่อว่า จะเปิดให้บริการอย่างทางการได้ ภายในเดือนธันวาคม 2552 นี้ โดยก่อนหน้านี้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง แนะนำให้ ร.ฟ.ท.ใช้วิธีร่วมทุนเอกชนรตั้งบริษัทเดินรถน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
ทั้งนี้ ผู้รับแหมาโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีกริม ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีกริม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด B.GRIMM MBM Hong Kong Ltd. บริษัท ซีเมนส์ จำกัด และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC นั้น คาดว่า จะส่งมอบงานได้ภายในเดือนสิงหาคม 2552 นี้ แต่ก็กังวลว่าผู้รับเหมาจะส่งมอบงานไม่ทัน เพราะผู้รับเหมาได้ต่ออายุการทำงานไปถึงเดือนธันวาคม 2552
นายยุทธนา กล่าวเสริมว่า สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ฟ.ท.นั้น คงต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสียก่อน ร.ฟ.ท.จึงจะดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆ ได้ โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอแผนฟื้นฟูฯ ร.ฟ.ท.เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 นี้ โดยตามแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะมีการแยกการบริหารโดยจัดตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทเดินรถที่ ร.ฟ.ท.ถือหุ้นเต็ม 100% และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงสัญญาเช่าพื้นที่กับเอกชน