กมธ.ปปช.ชี้ชัด รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 1 ส่อเค้าการทุจริต พบเบื้องลึกโยงใย ช.การช่าง ฮั้วแก๊งไอ้โม่งนักการเมือง พร้อมแฉเงื่อนงำโครงการ ถูกชี้มูลความผิด แต่กลับมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด 22 เม.ย.บอร์ด รฟม.เร่งรีบเคาะราคาสูงเกินจริง 3 พัน ล.ย้ำชัด หากปล่อยทั้ง 3 สัญญา อาจมีการทุจริตสูงถึง 7 พัน ล.แนะรัฐบีบลดราคาเหลือ 1.1 หมื่นล้าน
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) พบว่ามีเจ้าหน้าที่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ดำเนินการที่ส่อทุจริตในสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างโครงการยกระดับส่วนตะวันออก
ล่าสุด คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าของ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในวงเงินเกือบ 15,000 ล้านบาท ทั้งที่ราคากลางที่บริษัทที่ปรึกษาประเมินไว้อยู่ที่ 11,166 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการประมูลครั้งแรกกลุ่ม CK ประมูลได้ในราคา 16,724 ล้านบาท เนื่องจากปีก่อนราคาน้ำมันสูงถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาเหล็กและวัสดุก่อสร้างต่างๆ ราคาสูงขึ้นด้วย แต่เมื่อราคาน้ำมันลดลงเหลือ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นปีนี้ ทางบอร์ด รฟม.จึงสามารถเจรจาให้ CK ลดราคาลงเพียงพันกว่าล้านบาทเท่านั้น คือ อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท ซึ่งยังสูงกว่าราคากลางกว่า 3 พันล้านบาท
“เท่ากับว่า บอร์ดใหญ่ได้อนุมัติราคาเกินถึง 3 พันล้านบาท ถ้ารวมทั้งโครงการ ซึ่งมี 3 สัญญา อาจจะส่อทุจริตไม่ต่ำว่า 7 พันล้านบาท โครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น ซึ่งโครงการนี้ถูกร้องและ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลแล้วว่ามีความผิด แต่กลับยังกล้าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”
กมธ.ได้นำเรื่องความผิดปกติดังกล่าวแจ้งให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบแล้ว ซึ่ง นายกรณ์ เห็นว่า ราคาในโครงการนี้ยังสูงเกินไป ดังนั้น ทางออก คือ จะต้องปรับลดราคาลงมาให้เท่ากับราคากลาง
นายชาญชัย กล่าวว่า แม้บอร์ดจะอนุมัติแล้วแต่ต้องเสนอให้ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามเพื่อส่งให้ธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) เซ็นอนุมัติเงินกู้ จากนั้นจึงส่งกลับมาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) โครงการถึงจะดำเนินต่อไปได้
ดังนั้น หาก นายโสภณ กับคณะรัฐมนตรีลงนามอนุมัติ จะทำให้ประเทศชาติเสียหายถึง 6-7 พันล้านบาท และทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้แน่นอน ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการวันที่ 30 เมษายน 2552 ที่ประชุมจะเชิญผู้เกี่ยวข้องในโครงการนี้เข้าชี้แจงด้วย