xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ คนไทยกระเป๋าแฟบหันซื้อของตลาดนัด-ตลาดสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.รายงานภาวการณ์จับจ่ายใช้สอย ช่วงวิกฤต ศก.พบ ปชช.มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เมินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต หันเข้าตลาดนัด-ตลาดสด สะท้อนกำลังซื้อหดตัว และนิยมของถูกมากขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานถึงภาวการณ์ใช้จ่าย และการใช้จ่ายของประชาชน โดยระบุว่า คนไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเศรษฐกิจข้าสู่การชะลอตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 โดยจากการติดตามยอดการค้าปลีกของคนไทย พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีล่าสุด ยอดการค้าปลีกผ่านร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการจัดโปรโมชั่นจำนวนมากในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่

ขณะที่ยอดการค้าปลีกในตลาดนัด ตลาดสด และแผงลอยกลับเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันถึงปีก่อน มากถึงร้อยละ 42.9 ทำให้สะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคว่า ไม่มั่นใจในใช้จ่าย หรือหันมาซื้อสินค้าราคาถูกมากขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง

ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขยอดค้าปลีกรวมทั้งปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่า ยอดขายปลีกของห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียงร้อยละ 6.1 ตรงกันข้ามกับยอดค้าปลีกตามตลาดนัด แผงลอย และตลาดสดที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

หากแยกเป็นยอดการค้าปลีกสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ ในไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 23.3 จากระยะเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับยอดการค้าส่งวัตถุดิบทางการเกษตร และสัตว์มีชีวิตที่ลดลง ร้อยละ 15.1 ขณะที่ยอดการขายปลีกสินค้าประเภทเครื่องหนัง สิ่งทอ รองเท้า และเครื่องหนัง ลดลงร้อยละ 8.9 ส่วนยอดขายเครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่ใช้ภายในครัวเรือนลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเครื่องสำอาง เครื่องประทินร่างกาย และประทินโฉม รวมทั้งเภสัชกรรม และเวชภัณฑ์ ยังคงมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1

รายงานของ ธปท.ยังระบุด้วยว่า ยอดขายปลีกที่ลดลงมากที่สุด คือ ยอดขายของร้านค้าที่ขายสินค้าใช้แล้ว หรือสินค้ามือสอง ซึ่งยอดขายในไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 50.3 จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 20.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนยอดสินค้าขายปลีกทางไปรษณีย์ ที่เคยเป็นที่นิยมมากในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา ในปี 2551 ยอดขายลดลงถึงร้อยละ 33.8 โดยในไตรมาสที่ 4 ยอดขายของผ่านทางไปรษณีย์ ลดลงร้อยละ 25.5

สำหรับแนวโน้มยอดการค้าปลีกและค่าส่งในไตรมาสแรกของปี 2552 นั้น ตัวเลขเบื้องต้นที่ออกมาในเดือนมกราคม พบว่า ดัชนีปริมาณการค้าปลีกรวม ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7 ส่วนดัชนีการค้าส่งรวมลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.5 ขณะที่ยอดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศในเดือนมกราคมลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.8 สะท้อนให้เห็นการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลงอีก อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่ออกมา จะช่วยให้ยอดค้าปลีก และค้าส่งในไตรมาสแรกของปีนี้ ไม่ต่ำกว่าไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น