ผู้เชี่ยวชาญด้าน ศก.ชี้ เงินเฟ้อเดือน มี.ค.ติดลบ 0.2% และไตรมาส 1 ติดลบ 0.3% เป็นสัญญาณบ่งชี้ภาวะ ศก.ถดถอย ชี้แนวโน้มปี 52 หากเงินเฟ้อติดลบเกิน 2 ไตรมาส อาจเกิดภาวะเงินฝืด “พาณิชย์” แจงเงินเฟ้อเดือน มี.ค.ติดลบ มีต้นเหตุจากราคาอาหารพุ่ง แต่ราคาน้ำมันลดลง ยันตอนนี้ ยังไม่ใช่สัญญาณเงินฝืด
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ โดยระบุถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2552 ติดลบ 0.2% และในไตรมาสที่ 1 ติดลบ 0.3% เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เศรษฐกิจไทยจะถดถอย
นายวรพล ยังคาดการณ์ว่า แนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้ มีแนวโน้มติดลบได้มากกวา 3% พร้อมระบุว่า หากตัวเลขเงินเฟ้อติดลบเกิน 2 ไตรมาส จะเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นได้ เนื่องจากราคาสินค้าตกลงอย่างต่อเนื่อง จนประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย
นอกจากนี้ นายวรพล ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลไม่ควรแจกเงินให้ประชาชนนำไปใช้จ่าย เพราะไม่ทำให้ผู้ประกอบการขยายการผลิตอีกทั้งอาจจะเกิดการออมเงินขึ้นได้
โดยวานนี้ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2552 เท่ากับ 103.6 ลดลง ลบ 0.2% เทียบกับเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม แต่เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้น 0.5% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม) ลดลงลบ 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงเหลือลบ 0.2% เป็นผลจากดัชนีหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 6.5% สินค้าที่ปรับลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงลด 23.2% ค่าโดยสารลด 8.6% ค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาลด 5.0% แต่หมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 9.3% สินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 21.2% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 4.9% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 3.9% ผักและผลไม้ 11.7% เครื่องประกอบอาหาร 6.2% อาหารสำเร็จรูป 7.9% และเครื่องดื่มไม่ใช่แอลกอฮอล์ 4.5%
ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.5% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.4% แยกเป็นราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเพิ่มขึ้น 4.7% รวมถึงค่าใช้จ่ายและค่าบริการส่วนบุคคลเพิ่ม 0.2% ขณะที่สินค้าลดลง ได้แก่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม วัสดุก่อสร้าง ปูน กระเบื้อง สุรา และแบตเตอรี่รถยนต์
นอกจากนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 0.7% มาจากราคาผักและผลไม้เพิ่ม 4.4% เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหายและมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ข้าวเพิ่ม 0.2% เนื้อสุกรเพิ่ม 1.7% ไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่ม 0.4% ปลาและสัตว์น้ำเพิ่ม 0.3% แยมและขนมหวานเพิ่ม 0.1% บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋องเพิ่ม 0.1% ส่วนสินค้าลดลงได้แก่ น้ำมันพืช ซอสพริก น้ำปลา และเครื่องดื่มช็อกโกแลต
นายศิริพล กล่าวว่า การที่เงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ติดลบ 0.4% เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ติดลบ 0.1% และเดือนมีนาคม 2552 ติดลบ 0.2% ยังไม่แสดงถึงภาวะเงินฝืด เพราะจะเป็นเงินฝืดจริง ก็ต่อเมื่อติดลบอย่างน้อย 6 เดือน แต่ขณะนี้เพิ่งติดลบ 3 เดือนเท่านั้น
สำหรับราคาสินค้าที่ลดลงมาจากต้นทุนน้ำมันที่ลดจาก 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือ 47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งปรับลดมากกว่า 100% นอกจากนี้ ยังต้องดูปัจจัยอื่นประกอบ เช่น อัตราการว่างงาน อัตราแลกเปลี่ยน มาประกอบด้วย กระทรวงจึงยังยืนยันคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีที่ 0-0.5% เหมือนเดิม ภายใต้สมมติฐานน้ำมันที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35-36 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนสาเหตุที่ดัชนีหมวดอาหารปรับเพิ่มมาจากการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลของราคาสินค้าเกษตร