xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อเดือนมี.ค.ติดลบ0.2% “พาณิชย์”ยันไม่มีสัญญาณเงินฝืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ลดลง 0.2% ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 แต่ยืนยันไม่เกิดภาวะเงินฝืด

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมี.ค.2552 อยู่ที่ระดับ 103.6 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2551 เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2552 เพิ่มขึ้น 0.5% และเมื่อเทียบเฉลี่ย 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปีนี้กับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 0.3% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมี..ค. ที่หักสินค้าอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณ อยู่ที่ระดับ 102.8 เทียบกับเดือนก.พ.2552 ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สูงขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2551 ส่วนเฉลี่ย 3 เดือนแรกปีนี้เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 1.7%

สาเหตุที่เงินเฟ้อลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นเพราะการลดลงของดัชนีหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 6.5% จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 23.2% ค่าโดยสารสาธารณะ 8.6% ค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา 5.0% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 9.3% จากการเพิ่มขึ้นของข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์ 21.2% ผลไม้สด 16% อาหารบริโภคนอกบ้าน 7.9% อาหารบริโภคในบ้าน 8% เป็นต้น

ส่วนสาเหตุที่เงินเฟ้อเทียบกับเดือน ก.พ.2552 สูงขึ้น 0.5% เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.4% จากการเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ 4.7% รวมถึงค่าใช้จ่ายและค่าบริการส่วนบุคคล (สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและดูแลบำรุงผิว ครีมนวดผม ใบมีดโกน และค่าแต่งผมสตรี) เพิ่ม 0.2% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 0.7% จากการสูงขึ้นของราคาผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋องเพิ่ม

นายศิริพลกล่าวว่า เงินเฟ้อติดลบถึง 3 เดือนติดต่อกัน คือ เดือนม.ค. ลบ 0.4% เดือนก.พ.ลบ 0.1% และเดือนมี.ค. 0.2% ยังไม่แสดงถึงภาวะเงินฝืด เพราะการเกิดเงินฝืดได้ เงินเฟ้อจะต้องลบอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนราคาสินค้าบางรายการแม้จะลดลง แต่มาจากต้นทุนน้ำมันที่ลดจาก 147 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 47 เหรียญสหรัฐ ไม่ได้มาจากกำลังการผลิตที่ลดลง นอกจากนี้ ยังต้องดูปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ค่าครองชีพ รายได้ประชาชน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีที่ 0-0.5% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“บอกไม่ได้ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาก และมีความผันผวนมาก แต่ยอมรับว่า การออกเช็คช่วยชาติ น่าจะเป็นประโยชน์ ช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่ม ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม” นายศิริพลกล่าว

นางวัชรี วิมุกตายน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ดัชนีหมวดอาหารเพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลของราคาสินค้าเกษตร ผักและผลไม้ แต่ราคาจะลดลงในไม่ช้า เพราะช่วงนี้อากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตออกมาน้อย แต่เมื่อเกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มราคาจะลดลงเองโดยอัตโนมัติ ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขยับขึ้นลงตามต้นทุนวัตถุดิบโลก แต่สินค้าบางรายการเช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟันที่แพงขึ้น เป็นผลจากก่อนหน้านี้กระทรวฯ ขอความร่วมมือไม่ให้ขึ้นราคา แต่ขณะนี้ครบระยะเวลาขอความร่วมมือ หรือหมดช่วงโปรโมชั่นแล้ว แต่ราคายังอยู่ในเพดานที่กระทรวงกำหนด และไม่ได้ขึ้นเกินต้นทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น