xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กฯกำไรวูบกว่า 7 พัน ล.พิษเศรษฐกิจกระทบลูกค้าชะลอสั่งซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งวดปี 51 วูบ 7,279.60 ล้านบาท หรือลดลง 75.92% จากงวดเดียวกันของปี 50 ที่ทำไว้ 9,588.32 ล้านบาท ส่วนใหญ่กำไรทรุดเหตุเพราะความต้องการสินค้าลดต่ำลงมาก อันเกิดจากเศรษฐกิจที่ถดถอย ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ และขาดทุนค่าเงินหลังจากค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนสูง “เคซีอี” หนักสุดขาดทุนเกือบ 400 ล้าน ตามด้วย “ทีมพรีซิชั่น” ขณะ “มูราโมโต้” และ “เอสวีไอ” ยังแกร่งอวดกำไรต่อเนื่อง ผลจากราคาวัตถุดิบลด ดันให้กำไรขั้นต้นเพิ่มและอานิสงส์ค่าเงินเพิ่มสูงจากปีก่อน

METCO-SVI แกร่งอวดกำไรต่อเนื่อง

METCO หรือบริษัท มูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แจ้งกำไรงวดนี้ 186.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำไว้ 127.28 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 46.69 % แม้ผลจากรายได้บริษัทและบริษัทย่อยลดลง แต่อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่ม 12.51% และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่ม พร้อมรับผลดีจากกำไรค่าเงินเพิ่มสูงจากปีก่อน

SVI หรือ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) งวดนี้มีกำไร 647.11 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 384.01 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 68% เนื่องจากรายได้เพิ่มขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบลดลง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเพิ่มตาม ส่วนรายได้เพิ่มขึ้นตามมูลค่ายอดขายที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯและความต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในยุโรปยังคงมีสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่้มขึ้น เพราะบริษัทสำรองเผื่อเครื่องจักรล้าสมัยและสำรองเผื่อสินค้าล้าสมัยเพิ่ม

TEAMขาดทุนหนักสุด

TEAM หรือ บริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) งวดนี้กำไรสุทธิ 73.34 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ทำไว้ 338.58 ล้านบาท หรือลดลง 78.33% จากรายได้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนี้มีผลมากระทบมาจากภาวะการลดลงของความต้องการของตลาดเนื่องจากผลกระทบของสถานะการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย โดยตลาดในแถบสหรัฐซึ่งมีสัดส่วนยอดขายมากกว่า 65% ในปีก่อนได้รับผลกระทบอย่างมากจากการชะลอคำสั่งซื้อตามภาวะอ่อนตัวของความต้องการของตลาด และช่วงปี 2551 บริษัทได้เปลี่ยนนโยบายการสั่งซื้อของลูกค้าบางรายที่ถูกควบรวมกิจการ ตลอดจนมีการควบคุมสินค้าคงเหลืออย่างเคร่งครัดภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งทั้งนี้ถือเป็นการปรับฐานสัดส่วนในการเฉลี่ยความเสี่ยงในลูกค้าแต่ละราย โดยไม่ขึ้นกับลูกค้ารายใดรายหนึ่งประกอบกับต้นทุนคงที่ของโรงงานและค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นของแผนการขยายโรงงานใหม่ที่ปราจีนบุรี

DELTA หรือ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) งวดนี้กำไร 2,897 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนกำไร 3,155 ล้านบาท หรือลดลง 8.18 % ผลจากอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มค่อนข้างสูงจากการเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จินสูง

แม้บริษัทได้รับความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย แต่บริษัทยังสามารถดำรงยอดขายรวมไว้ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือมีมูลค่า 32,851 ล้านบาท หรือลดลง 3% จากปีก่อนที่มี 33,766 ล้านบาท แม้อัตราส่วนต้นทุนขายต่อยอดขายในปี 2551 ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายจากการขายและดำเนินงานขยับเพิ่มจากการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการขายของผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัปพลายสำหรับโทรคมนาคมและเพาเวอร์ซัปพลายที่ออกแบบเฉพาะและมีระดับเทคโนโลยีค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งสินค้าจำเป็นต้องมีกิจกรรมการขายและการตลาดค่อนข้างสูง

บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) (HANA) แจ้งผลงานงวดสิ้นปี 2551 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 1,909.55 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,449.16 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 37% เนื่องมาจากไตรมาส 3 ปี50 บริษัทฯ ได้รับเงินจากการขายบริษัท แอดแวนซ์ อินเตอร์คอนเนค เทคโนโลยี่จำกัด (AIT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม 504.6 ล้านบาท และได้บันทึกค่าเผื่อการลดมูลค่า เงินลงทุนดังกล่าวแล้ว

KCE หรือ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่างวดนี้ขาดทุน 399.17 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 257.42 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 255% ผลจากอัตรากำไรขั้นต้นลดลง เพราะะราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และต้นทุนไตรมาส 4 ปี 2551 เพิ่มเพราะใช้กำลังผลิตน้อยอีกทั้งตั้งสำรองค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าสินค้าตามราคาตลาด บวกกับยอดขาย 7,667 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อน ตามยอดขายในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยง 295 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 20 ล้านบาท

บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC แจ้ง งบการเงินงวดสิ้นปี 2551 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 51.52 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 52.38 ล้านบาท หรือกำไรลดลง 1.64%

CCET หรือ บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แจ้งงบการเงินงวดสิ้นปี 51 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,127.78 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ทำไว้ 2,900.59 ล้านบาท หรือลดลง 26.64% เนื่องจากต้นทุนเพิ่มจากราคาวัตถุดิบและการแข่งขันในธุรกิจผลิตสินค้าอีเล็คโทรนิคส์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจของโลกได้ชะลอตัว ทำให้บริษัทไม่อาจปรับราคาขายได้ อีกทั้งขาดทุนจากค่าเงินบาทอัตราแลกเปลี่ยน 245.65 ล้านบาทซึ่งเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐฯในปี 2551 และยังได้บันทึกค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนระยะยาวอื่นอีก 50 ล้านบาท

SPPT หรือ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แจ้งผลงานงวดนี้มีกำไรสุทธิ 62.2 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 90.4 ล้านบาท หรือลดลง 31.2 % เนื่องจากกำไรขั้นต้นลด จากค่าใช้จ่ายในการผลิตสูงขึ้น ต้นทุนผลิตสินค้าต่อหน่วยปรับเพิ่ม และผลจากรายได้จากการขายในครึ่งหลังของปีต่ำกว่าเป้าค่อนข้างมาก สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากปัญหา Sub-prime mortgage ในสหรัฐฯ ส่วนการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

บริษัท ดราโก้ พีซีบี จำกัด (มหาชน) (DRACO) แจ้งผลงานงวดปี 2551 กำไร 93.73 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 113.13 ล้านบาท หรือลดลง 17.15%
กำลังโหลดความคิดเห็น