“อภิสิทธิ์” เรียกทีมเศรษฐกิจรายงานตัวเลขไตรมาส 4/51 ที่บ้านพิษณุโลก ยอมรับสถานการณ์ ก.พ.-มี.ค.นี้ เผชิญวิกฤตหนัก แต่ยังเบากว่าอีกหลายประเทศ เตรียมใช้มาตรการชุดที่ 2 ปั๊มใส่ระบบ หวังสยบวิกฤตให้ได้ภายในไตรมาส 2 พร้อมวางเป้าให้พลิกเป็นบวก ในไตรมาสที่ 3 ยันการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ต้องให้มีการใช้จ่ายหมุ่นเวียนในระบบให้มากที่สุด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเจรจากรอบการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ พร้อมระบุว่า กระทรวงการคลังกำลังเร่งดำเนินการเรื่องนี้ ถ้าการค้าโลกหดตัวประมาณร้อยละ 30-40 ความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมีแน่นอน ต้องใช้แผน 2 ที่จะกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งตัวเลขของไทยที่ได้รับผลกระทบ ยังเบากว่าต่างประเทศ
เมื่อถามว่า วงเงินกู้จำนวน 7 หมื่นล้านบาท พอเพียงกับสิ่งที่รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอกรอบและรายละเอียด และดูโครงการที่จะใช้ในเรื่องนี้ ถ้าไปกู้เงินมามาก แต่ไม่มีโครงการที่ดีรองรับ ก็ไม่ควรทำเพราะเป็นการสิ้นเปลืองและก่อหนี้
เมื่อถามว่า การลงทุนในโครงการพื้นฐานเป็นมาตรการในระยะสั้นหรือระยะยาว นายกฯ กล่าวว่า มีหลากหลาย อาจจะมาช่วยเสริมสถาบันของรัฐ ในช่วงเช้าตนได้เรียกทีมเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเจ้าหน้าที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาพบที่บ้านพิษณุโลก เพื่อให้รายงานเกี่ยวกับตัวเลขไตรมาสที่ 4 ให้ละเอียดมากขึ้น รวมถึงมาตรการของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการใช้เงินจะเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า การประเมินล่าสุดเป็นไปตามที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่าสถานการณ์หนักขึ้น ตัวเลขในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2552 ของหลายประเทศหนักมาก แต่ในแง่เป้าหมายเชิงกรอบเวลายังเหมือนเดิม พยายามหยุดยั้งสถานการณ์วิกฤตด้านการเงินและเศรษฐกิจให้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 และกระตุ้นไตรมาสที่ 3 ให้อยู่ในแดนบวกมากขึ้นที่สุด ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อนโยบายของรัฐบาล แต่ยืนยันว่าจะมีการใช้จ่ายเงินในระบบให้มากที่สุด เป็นแนวทางที่น่าจะถูกต้องแล้ว หากรอไปมากกว่านี้ เศรษฐกิจทรุดตัวก็จะแก้ปัญหายาก
ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุด กนง.ได้ลดดอกเบี้ยลง 0.5% จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า คิดว่า เป็นทิศทางและสัญญานที่สอดรับกับการบริหารเศรษฐกิจ แต่ปัญหาใหญ่ของระบบการเงิน อยู่ที่การปล่อยสินเชื่อมากกว่า มาตรการของรัฐบาลที่จะให้ บสย.ไปค้ำประกันสินเชื่อคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถตกลงกับธนาคารต่างๆ ได้ คิดว่าปัญหาของธนาคารตอนนี้อยู่ที่การประเมินความเสี่ยง ดังนั้นโครงการรับประกันสินเชื่อจะเป็นตัวหลัก
เมื่อถามว่า มาตรการนี้คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือธนาคารพาณิชย์ แต่ผู้ที่ฝากประจำจะสูญเสียรายได้ นายกฯ กล่าวว่า คงต้องดูว่ามีการลดดอกเบี้ยไปทั้งสองขา ธนาคารต่างๆ ก็มีมาตรการเสริม เพื่อให้มีการปล่อยสินเชื่อ สิ่งที่กลัว คือ ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังดูแลเงินเฟ้อเพราะอาจจะติดลบ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามไม่ให้เป็นอย่างนั้น ส่วนการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพี ได้ให้ทางสภาพัฒน์ไปปรับแล้ว ในส่วนของแบงก์ชาติ ก็จะปรับอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้