xs
xsm
sm
md
lg

จับตาค่าโง่ “สต๊อกน้ำมัน” ดันราคาขาปลีกเดือน ก.พ.พุ่งสวนทางตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หวั่นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ อาจปรับพุ่งขึ้นสวนทางตลาดโลก ในเดือน ก.พ.นี้ หลังหมดมาตรการลดภาษี “กองทุนน้ำมันฯ” แฉ ผู้ค้ารายใหญ่ลงทุนเก็งตลาดผิดพลาด ซื้อน้ำมันเข้าสต๊อกในราคาแพงในช่วงที่น้ำมันโลกขาลง ทำให้ต้องแบกต้นทุนสูงในสต๊อกหลังแอ่น “พลังงาน” หวั่นจ่ายค่าโง่เอกชนลงทุนพลาดทำกองทุนน้ำมันถังแตก ยอมรับ เหลือเงินแค่ 3 พันล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าว ว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะย่ำแย่ลง โดยยอมรับว่า สถานะการณ์ตอนนี้ อาจมีปัญหากระทบเงินกองทุน เนื่องจากต้องนำเงินไปแบกรับภาระค่าก๊าซธรรมชาติ (แอลพีจี) ซึ่งอาจต้องจ่ายชดเชยให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพราะก่อนหน้านี้ ปตท.ได้ไปลงทุนในช่วงที่ราคาพลังงานพุ่งสูงสุด (เดือนกรกฎาคม 2551) ทำให้ต้องแบกต้นทุนกว่า 9 พันล้านบาท

ปัจจุบันฐานะของกองทุนน้ำมันฯ หากไม่รวมภาระหนี้ ปตท.จะมีเงินคงเหลือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าหักลบภาระหนี้ที่ต้องเข้าไปอุ้มค่าโง่ที่เกิดจากการลงทุนผิดพลาดของ ปตท.แล้ว คาดว่า มีเงินเหลืออยู่เพียง 4,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ระหว่างการประเมินแผนการบริหารจัดการ เพื่อรองรับแนวทางการตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หลังยกเลิกมาตรการลดภาษีน้ำมันไปแล้ว

หากรัฐบาลประกาศจะใช้เงินกองทุนน้ำมัน 3 พันล้านบาท ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเอาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงเกินไป ก็จะทำให้เงินกองทุนน้ำมันหมดลง และยังไม่มีแนวทางที่จะหาเพิ่มได้ เพราะตอนนี้ รัฐบาลต้องการลดภาระประชาชน และช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ

ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันในประเทศ ยังอยู่ในระดับสูง ไม่ตรงกับราคาตลาดโลก เพราะผู้ค้ารายใหญ่ มีการสั่งสตอกน้ำมันล่วงหน้าเฉลี่ย 3 เดือน ทำให้ต้องแบกต้นทุนที่สูง ส่งผลต่อราคาขายปลีกในประเทศ รัฐบาลจึงต้องให้กองทุนเข้าไปแบกรับภาระไม่ให้รุนแรงเกินไป และเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาขาปลีกสวนทางกับราคาน้ำมันโลก ซึ่งล่าสุด วันนี้ ได้ปรับลงต่ำกว่า 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นายศิวนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือ สบพ. กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการหาเงินมาใช้หนี้ ปตท.จะมีวิธีการอย่างไรที่เหมาะสม โดยจะนำประเด็นดังกล่าวมาหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ สบพ.

สำหรับการใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมัน หากประเมินจากสถานะกองทุนน้ำมันตอนนี้ยังไม่มีปัญหา โดยใช้วิธีการลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันของน้ำมันแต่ละชนิดแทน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบเมื่อต้องกลับไปเก็บภาษีตามเดิม ยกตัวอย่างเช่น หากต้องเก็บภาษีเพิ่ม 3 บาทต่อลิตร ก็จะลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตรา 2-3 บาทต่อลิตร ซึ่งเตรียมจะพิจารณาแนวโน้มราคาน้ำมันในวันที่ยกเลิกมาตรการภาษี

“ตอนนี้ คงต้องกลับมาประมวลสถานะกองทุนน้ำมันให้ชัดเจน สิ่งที่ต้องทำก่อน คือ การหาวิธีใช้หนี้ ปตท.ส่วนเรื่องการอุ้มราคาน้ำมัน หากอยู่ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากยังเพียงพอกับฐานะกองทุนน้ำมันที่มีอยู่”

ทั้งนี้ ตามประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯล่าสุดมีเงินสดในบัญชี 1.73 หมื่นล้านบาท และหนี้สินกองทุนอยู่ 4.48 พันล้านบาท แยกเป็นหนี้เงินชดเชยตรึงราคาน้ำมัน (เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม 2548) ประมาณ 227 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยก๊าซแอลพีจี 296 ล้านบาท หนี้ชดเชยดีเซล บี5 และแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 2.77 พันล้านบาท

หนี้ชดเชยการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 4 อยู่ที่ 522 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยราคาจากการปรับลดภาษีสรรพสามิต 258 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยอื่นๆ 195 ล้านบาท และงบบริหารโครงการอื่น 212 ล้านบาท ซึ่งหักลบรายรับและหนี้สิน ทำให้มีฐานะกองทุนน้ำมันฯสุทธิ 1.33 หมื่นล้านบาท โดยยังไม่ได้รวมหนี้ค้างชำระนำเข้าก๊าซแอลพีจี 7.61 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น