กบง.ไฟเขียว ขยับเพดานจัดเก็บเงินส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากลิตรละ 4 บาท เพิ่มเป็นลิตรละ 7 บาท มีผลพรุ่งนี้ อ้างสกัดปริมาณการใช้ และให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมัน E20 พร้อมเห็นชอบให้รอนายกฯ เซ็นแยกโครงสร้างแอลพีจี ขณะที่ค้าน้ำมันตั้งโวย กบง.บิดเบือนกลไกตลาด จ้องเล่นงานเฉพาะผู้ขายเบนซิน 95 แต่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ค้าบางราย
วันนี้ (15 ธันวาคม 2551) นายวีระพล จิรประดิษฐ์กุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริการนโยบายพลังงาน (บอร์ด กบง.) เห็นชอบให้ปรับเพิ่มเงินเพดานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมเพดานไม่เกิน 4 บาท ขยับเพิ่มเป็น 7 บาทต่อลิตร เพื่อเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและส่งเสริมพลังงานทดแทน และในวันพรุ่งนี้จะมีการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บเงินกองทุนสำหรับน้ำมัน 2 ประเภท คือ จัดเก็บน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มจาก 4 บาท เป็น 7 บาทต่อลิตรทันที และปรับการจัดเก็บน้ำมันอี 20 จากเดิมจัดเก็บ 0.15 บาทต่อลิตร เป็นชดเชย 0.30 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ เนื่องจากค่าการตลาดของ อี20 ลดต่ำลงจนไม่สร้างแรงจูงใจในการจำหน่าย ขณะที่ค่าการตลาดเบนซิน 95 อยู่ในระดับสูงเกินไป โดยล่าสุด ค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 6.35 บาทต่อลิตร อี20 ค่าการตลาด 1.60 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 ค่าการตลาด 1.90 บาทต่อลิตร อี10 ค่าการตลาด 2.03 บาทต่อลิตร บี2 ค่าการตลาด 2.62 บาทต่อลิตร บี5 ค่าการตลาด 3.25 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ บอร์ด กบง.ยังเห็นชอบให้ตั้งอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยล่าสุดการจัดเก็บเงินกองทุนดังกล่าว ทำให้กองทุนมีรายรับสุทธิเพิ่มจากวันละ 101 ล้านบาท เป็น 103 ล้านบาท
นายวีระพล ยังระบุว่า ที่ประชุม กบง.ยังเห็นชอบตามกรอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะมีการประกาศกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามแนวทางการปรับโครงสร้างการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เป็น 2 ราคา ระหว่างภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรม โดยประกาศดังกล่าวจะต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามก่อน
อย่างไรก็ตาม หากกรณีที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างราคาดังกล่าว ก็สามารถใช้อำนาจสั่งให้ กพช.ประชุม และทบทวนมติดังกล่าวได้ โดยล่าสุด ราคาแอลพีจีในตลาดโลกอยู่ที่ 338 ดอลลาร์ต่อตัน ใกล้เคียงกับไทยที่กำหนดราคาหน้าโรงกลั่นที่ 320 ดอลลาร์ต่อตัน
นายวีระพล ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ยังมีการนำเข้าแอลพีจีเพื่อนำมาจำหน่ายให้ประชาชน โดยล่าสุด ปตท.แบกรับภาระเกือบ 8,000 ล้านบาท และตามแผนเดิมจะมีการนำเงินส่วนต่างราคาไปชดเชยการนำเข้าแก่ ปตท.
นอกจากนี้ กบง.ยังเห็นชอบอนุมัติเงิน 88.8 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้แท็กซี่ที่ใช้แอลพีจีมาติดตั้งเอ็นจีวี จำนวน 20,000 คัน ภายในเวลา 4 เดือน โดย ปตท.จะร่วมรับภาระประมาณ 761.6 ล้านบาท
ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันเบนซิน 95 ในประเทศ ซึ่งขณะนี้เหลือเพียง 3 ราย ได้แก่ เชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ ระบุว่า นโยบายดังกล่าว ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ค้าน้ำมัน เพราะการค้าน้ำมันควรดูค่าการตลาดโดยรวมตั้งแต่ต้นปี มากกว่าการพิจารณาค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง สำหรับขณะนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ค่าการตลาดที่ได้รับอยู่ที่ 1.40-1.50 บาทต่อลิตรเท่านั้น
“การจำหน่ายเบนซิน 95 ขณะนี้ถือว่า มีสัดส่วนน้อยมาก คือ เหลือรถที่ใช้เบนซิน 95 ไม่ถึง 80,000 คัน กับเรือสปีดโบ้ตตามเมืองท่องเที่ยว และการจำหน่ายเบนซิน 95 ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก เพราะมีผู้ใช้น้อย ต้องสต๊อกน้ำมันในถังใต้หัวจ่าย และใช้เวลา 4 สัปดาห์กว่าจะขายหมด เมื่อเทียบกับน้ำมันอื่นใช้เวลา 2-3 วันเท่านั้น”
แหล่งข่าวระบุว่า หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมพลังงานทดแทนจริง ก็น่าจะไปดูสัดส่วนของปั๊มน้ำมันที่ประกาศส่งเสริมพลังงานทดแทนแต่ละราย ว่า มีความจริงใจในการจำหน่ายมากน้อยเพียงใด ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ไม่ถือว่า ส่งเสริมพลังงานทดแทน เพราะทางเลือกผู้ค้าน้ำมันคือ การปรับราคาหรือการสร้างส่วนต่างราคาที่ไม่แตกต่างจากพลังงานทดแทน และท้ายสุด ก็จะมีผู้หันกลับไปใช้เบนซิน 95 เพิ่มขึ้น