นักวิชาการ มธ.แนะรัฐบาลใหม่ ดึงผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่รู้กลไกทางธุรกิจ เข้ามาช่วยงานด้านเศรษฐกิจ “นิด้า” แนะใช้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแบบก้าวหน้ามาช่วยบริหาร เพราะหากเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมที่เคยเห็นฝีมือกันแล้วปัญหาก็คงมีอยู่ และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ พร้อมเสนอลด “แวต” ลงเหลือ 3% นาน 1 ปี เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ดีกว่าการลดหย่อนภาษี
วันนี้ (15 ธันวาคม 2551) นายพิภพ อุดร นักวิชาการประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการจัดตั้งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ โดยระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแกนนำและพรรคร่วมอาจยังไม่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจพอ คงต้องดึงผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้มีผู้ที่เข้าใจในกลไกทางธุรกิจเข้ามาช่วยบริหาร
นายพิภพ กล่าวว่า สำหรับทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจจะต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะปัญหามีความรุนแรง โดยได้รับผลกระทบจากภายนอก ทั้งปัญหาด้านการท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยผู้ที่จะเข้ามาช่วยงานต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค การมีความรู้ด้านการตลาดเพื่อช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว การสร้างภาพลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวกับเข้ามา และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาสร้างแบรนด์เนมสินค้าของตัวเอง แทนการรับจ้างผลิต การเพิ่มดีไซน์สินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มแทนการขายสินค้าในราคาถูก การถือโอกาสปรับตัวในช่วงนี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งได้
นายวิพุธ อ่องสกุล นักวิชาการประจำคณะบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลควรนำคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแบบก้าวหน้ามาช่วยบริหาร เพราะจะมีแนวคิดเชิงก้าวหน้า เช่น ปัญหาเงินกู้ของรัฐบาลอาจเต็มเพดานก็อาจมีแนวคิดใหม่ ๆ มาปรับใช้ เพราะเศรษฐกิจเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เงินงบประมาณของรัฐเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะหากเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมที่เคยเห็นฝีมือกันแล้วปัญหาก็คงมีอยู่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ซึ่งการกู้เงินเพื่อนำมาก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคจะสร้างประโยชน์ในระยะยาวกว่าการช่วยเหลือระยะสั้น เนื่องจากจะก่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้เข้าสู่ระบบมากขึ้น
นอกจากนี้ นายวิพุธ ยังเสนอให้รัฐบาลปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อและเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มปรับขึ้น หรือลดลงจะมีผลต่อการใช้จ่าย ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่เห็นว่าการลดหย่อนภาษีประเภทอื่น เช่น การลดหย่อนให้ผู้มีเงินออมประเภทต่างๆ คนเหล่านี้ก็จะเก็บเงินไว้เหมือนเดิมโดยไม่นำเงินออกมาใช้จ่าย ส่วนการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจะตรงกลุ่มมากกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลอาจตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินให้ปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบมากขึ้น