ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หนุนไอเดียพาณิชย์ ชี้ ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% ลงเหลือ 3% คุมเงินเฟ้อได้แน่
วันนี้ (29 ก.ค.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า จากการที่อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้พุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ ขณะที่อาจจะยังคงปรับตัวขึ้นไปอีกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ทำให้รัฐบาลไทยได้เร่งออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว โดยนอกจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ที่ประกาศไปในวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมาแล้ว
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ยังมีแนวคิดที่จะเสนอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล และต้องยอมรับว่า การดำเนินมาตรการทางภาษีจะส่งผลต่อราคาสินค้าในทันที
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ ร้อยละ 1.0 อาจจะลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงได้ประมาณร้อยละ 0.5-0.7 หากมีการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 3.0 จากปัจจุบันร้อยละ 7.0 ก็อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงประมาณร้อยละ 2.0-2.8 เมื่อเทียบกับกรณีอัตราภาษีเดิม และทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.5-7.5 จากเดิมที่คาดไว้ที่ประมาณร้อยละ 8.5-9.5 และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอาจต่ำกว่าร้อยละ 7.0
ด้าน นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ หากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีเกินร้อยละ 7 นั้น โดยการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 3 ถือเป็นแนวทางเลือกกรณีที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในภาวะร้ายแรง และเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งแนวทางนี้กระทรวงการคลังและรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หากจะลดควรเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อค่าครองชีพ ไม่ใช่ลดทั้งระบบ เพราะยิ่งสินค้าราคาแพง การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็อยู่ในอัตราสูง ประชาชนก็ต้องซื้อสินค้าแพง
แนวทางดังกล่าวเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดภาระและช่วยเหลือผู้บริโภค ที่สำคัญ การเสนอลดภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่ลดแบบถาวร อาจจะมีกรอบระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรือแล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร ดังนั้น ที่มีกระแสข่าวว่า กรมการค้าภายในจะเสนอลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเพียงแนวทางเลือกในช่วงสินค้าราคาแพง ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้ตัดสินใจ หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีไม่เกินร้อยละ 6 ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่หากเกินร้อยละ 7 ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค